วันนี้ (14 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมอาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะผู้บริหาร ครั้งที่ 8/2565 ว่า วันนี้ที่ประชุมได้หารืองบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ของกทม. ทั้งหมดอยู่ที่ 7.9 หมื่นล้านบาท โดยจะเห็นว่างบหลายส่วนเป็นโครงการที่ได้ตั้งเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนโครงการที่อยู่ภายใต้นโยบาย 214 ข้อของตนยังนำเข้าไม่ได้ เพราะต้องบรรจุเข้าสู่แผนปฏิบัติราชการ กทม. ก่อนจะนำไปแบ่งงบประมาณได้ ซึ่งจะเร่งทำในช่วงนี้ อาจจะมีการสั่งการเพิ่มเติมในวาระที่ 2 และ 3 ช่วงที่มีการปรับงบประมาณต่อไป
โดยได้ตั้งข้อสังเกตว่า กทม. เองก็มีงบผูกพันที่ต้องดำเนินการจ่ายค่อนข้างมาก อาทิ ในปีงบประมาณ 2566 กทม.มีโครงการผูกพันระยะยาวอยู่ 126 โครงการคิดเป็นวงเงิน 14,722 ล้านบาท ทำให้งบลงทุนใหม่ในปี 2566 จะเหลืออยู่เพียง 1,695 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะลงทุนทำระบบควบคุมการจราจรที่เป็นความร่วมมือกันกับทางตำรวจ ส่วนโครงการที่ค้างอยู่ทั้งการจัดซื้อจัดจ้างและก่อสร้าง ของผู้รับเหมาจะต้องไปดูสัญญา และต้องเร่งให้ดำเนินการต่อตามกรอบเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา
นอกจากนี้ ยังต้องดูเรื่องการจัดเก็บภาษี เพราะปีที่ผ่านมารัฐให้เก็บเพียงแค่ร้อยละ 10 แต่ปีนี้จะเป็นปีแรกที่เก็บได้เต็มที่ ซึ่งจะทำข้อเสนอไปยังรัฐบาลเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีของกรุงเทพฯ เพราะการผ่อนผันภาษีในช่วงโควิดทำให้การทำงานลำบาก
ส่วนการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 17 มิ.ย. นี้จะนำข้อเสนอของ กทม.เรื่องเงื่อนไขการถอดหน้ากากในที่สาธารณะ สถานที่โล่งแจ้ง ที่มีการเว้นระยะห่างของประชาชนได้ 1 เมตร ยกเว้นอยู่ในที่ที่มีคนหมู่มากเข้าสู่ที่ประชุม
ชัชชาติ ยังกล่าวอีกว่า ในวันนี้ที่ประชุม กทม.ได้รับรายงานจากโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กทม. ว่ามีผู้ป่วยจากการเสพกัญชาเกินขนาด 2 ราย ที่ โรงพยาบาลตากสิน เป็นชาย อายุ 17 ปี และ 25 ปี มีอาการใจสั่น และอีก 1 ราย เป็นชาย อายุ 16 ปี ที่โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ เป็นชาย อายุ 51 ปี มีอาการแน่นหน้าอกหลังเสพกัญชาจนหัวใจล้มเหลวเสียชีวิต ส่วนรายละเอียดรอให้สำนักการแพทย์รายงาน ซึ่งผู้ป่วยทั้งหมดมีอาการหลังจากประกาศปลดล็อคกัญชาในวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กทม. ได้มีแนวคิดร่างประกาศ เริ่มต้นให้โรงเรียนในสังกัด กทม. เป็นเขตปลอดกัญชา เพราะมองว่าเด็กยังไม่สมควรที่จะได้รับสารกัญชาเข้าไปในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นในขนม หรือการปรุงอาหาร ซึ่งต้องเริ่มจากการเฝ้าระวังและให้ความรู้ครูและนักเรียนก่อน ส่วนสถานที่ราชการอื่นในสังกัด กทม.จะควบคุมด้วยหรือไม่นั้นต้องรอการหารือ พร้อมย้ำว่ากรุงเทพมหานครไม่ได้มีแนวคิดที่สวนทางกับกระทรวงสาธารณสุข แต่คำนึงถึงมิติที่ละเอียดอ่อนเพราะคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก