นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักษาชาติ ในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. พร้อมแนบสำเนาเอกสารจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขอให้ตรวจสอบผู้สมัคร ส.ส.ที่ขาดคุณสมบัติ เพราะเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ อันเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3)
นายเรืองไกร กล่าวว่า จากการที่ กกต.แจ้งข้อกล่าวหานายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กรณีถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย เพื่อไม่ให้เลือกปฏิบัติ กกต. ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมของผู้สมัคร ส.ส.รายอื่นด้วย ซึ่งประกอบไปด้วย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ถือหุ้นบริษัทชิโน ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด จำนวน 37,500 หุ้น
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ถือหุ้นบริษัท ศรีธารา แลนด์ จำกัดจำนวน 750,000 หุ้น และถือหุ้นบริษัท พิมลทรัพย์ จำกัด จำนวน 80,000 หุ้น รวมถึงการถือหุ้นบริษัท แปซิฟิค เอ็กซ์คลูซีฟ ซิตี้คลับ จำกัด จำนวน 35,000 หุ้น
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ผู้สมัคร ส.ส.เขต 27 กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ถือหุ้นบริษัท แปซิฟิค เอ็กซ์คลูซีฟ ซิตี้คลับ จำกัด จำนวน 35,000 หุ้น
และนายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง เลขาธิการพรรครวมพลังประชาชาติไทย ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 5 ถือหุ้นบริษัท แปซิฟิค เอ็กซ์คลูซีฟ ซิตี้คลับ จำกัด จำนวน 10,000 หุ้น
นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า กกต. ต้องตรวจสอบคุณสมบัติของทั้ง 4 คนให้เสร็จสิ้นก่อนประกาศผลเลือกตั้ง ซึ่งการขาดคุณสมบัติดังกล่าวอาจมีผลทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม นำไปสู่การยุบพรรคที่เกี่ยวข้องตามมาหรือไม่ ซึ่งการร้องเรียนเรื่องนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อคะแนนเสียงของแต่ละพรรค ดังนั้นจึงขอให้ กกต.ระงับการคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อเอาไว้ก่อนจนกว่าจะตรวจสอบเสร็จสิ้น
นายเรืองไกร ย้ำว่า คนออกกฎหมายควรต้องรับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ซึ่งกติกานี้ไม่ควรเขียนขึ้นมา เหมือนกับกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. เคยออกกฎหมายห้ามนั่งท้ายรถกระบะ ซึ่งสุดท้ายไม่สามารถบังคับใช้ได้
กรณีข้อห้ามการถือหุ้นสื่อนี้ ทุกพรรคการเมืองจะเกิดปัญหาตามมา กลายเป็นโดมิโน เกินครึ่งจักรวาลอย่างแน่นอน ซึ่งรวมไปถึงคณะรัฐมนตรี สมาชิก สนช. กรรมการองค์กรอิสระ และผู้สมัคร ส.ว.ที่จะมีปัญหาตามมาเช่นกัน ส่งผลให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีปัญหา ทำให้ประเทศชาติเดินหน้าไม่ได้ จึงจำเป็นต้องเร่งตัดไฟแต่ต้นลม ซึ่งการแก้ปัญหามาตรา 98(3) ที่เป็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ไม่มีใครมีอำนาจหน้าที่ อาจต้องใช้ที่ประชุมของพรรคการเมืองทุกพรรค หรือไม่อาจใช้ฝ่ายตุลาการให้มีความเห็นในการแก้ปัญหานี้
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะต้องแก้กติกานี้ก่อน การเลือกตั้งใหม่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทั้งนี้ไม่ควรใช้และดึงดันแต่หลักนิติศาสตร์จนประเทศเดินไปไม่ได้ ต้องใช้หลักรัฐศาสตร์เข้ามาร่วมด้วย