ไม่พบผลการค้นหา
'เรืองไกร' ส่งหลักฐานเพิ่มเติมปม 'พิธา' ถือหุ้นไอทีวี พร้อมแนบแบบหนังสือยินยอมสมัคร ส.ส. - เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ บี้ กกต. พิจารณาเข้าข่าย ม.132 ขาดคุณสมบัติ แต่ยังสมัครรับเลือกตั้ง

วันที่ 15 มิ.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ส่งพยานหลักฐานเพิ่มเติมกรณี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถือหุ้นไอทีวี ผ่านทางไปรษณีย์มายัง กกต. ผ่านระบบจัดส่งด่วนภายในประเทศ (EMS) เพื่อให้ประกอบการตรวจสอบกรณีแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนเรื่องดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 

พร้อมแนบสำเนาโพสต์เฟซบุ๊กพรรคก้าวไกลในหัวข้อ “คนโกงวงแตก ก้าวไกลชำแหละเพิ่ม ขบวนการปลุกผี ITV” ที่ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยมีเนื้อหาที่ต้องการให้ผู้บริหารไอทีวี และอินทัช เร่งชี้แจงกรณีคลิปเสียงการบันทึกการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) และมีเนื้อหาที่กล่าวถึง เรืองไกร ว่า ภายหลังมีการจัดทำรายงานบันทึกการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ได้มี ‘เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ’ นำเอกสารดังกล่าวไปเป็นหลักฐานยื่นต่อ กกต. ในวันที่ 10 พ.ค. 

โดย เรืองไกร ระบุว่า ข้อความบางส่วนในโพสต์เฟซบุ๊กที่กล่าวถึงตนนั้น มีความคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับความจริง และไม่มีพยานหลักฐานใดมากล่าวอ้าง อีกทั้งการยื่นคำร้องต่อ กกต. ที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่ทำโดยลำพังทั้งสิ้น ไม่ได้กระทำการร่วมกับผู้อื่นผู้ใดเลย 

อีกทั้งข้อความบางส่วนในโพสต์เฟซบุ๊กที่ระบุว่า “ส่วนที่ กกต. จะดำเนินการตามมาตรา 151 ต่อพิธานั้น พรรคก้าวไกลมั่นใจว่า ข้อกล่าวหานี้ไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอ” ซึ่ง เรืองไกร ระบุว่า การดำเนินการของ กกต. ตามมาตรา 151 หมายความรวมถึงการกระทำตามหนังสือยินยอมให้เสนอชื่อสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (ส.ส. 4/20) และตามหนังสือยินยอมให้เสนอชื่อให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี (ส.ส. 4/30) ซึ่ง พิธา จะต้องลงนามรับรองไว้แล้ว 

เรืองไกร ยังย้ำอีกว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ที่บัญญัติไว้ว่า บุคคลผู้มีลักษณะเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ เป็นบุคคลต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. รวมถึงยังมีบทบัญญัติมาตราอื่นๆ ที่นำมาตรา 98 (3) มาเป็นลักษณะต้องห้ามของคณะรัฐมนตรี วุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ 

เรืองไกร กล่าวอีกว่า แม้ว่าประเด็นตามมาตรา 98 (3) จะไม่มีการบัญญัติเรื่อง “จำนวนการถือหุ้น” หรือการกระทำใดๆ ไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม อันเป็นการขัดขวาง หรือแทรกแซงการใช้สิทธิเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนโดยมิชอบ แต่สามารถเทียบเคียงกับ มาตรา 184 วรรค 1 (4) และมาตรา 187 วรรค 1 ที่ระบุว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่กระทำการใดๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการขัดขวาง หรือแทรกแซงการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนโดยมิชอบ และมาตรา 187 ระบุว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือไม่คงไว้ ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไปตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ และต้องไม่เป็นลูกจ้างของบุคคลใด

ทั้งนี้ เรืองไกร ได้ทิ้งท้ายว่า จากหลักฐานที่ได้ยื่นมาทั้งหมด รวมถึงแบบ ส.ส.4/20 และแบบ ส.ส.4/30 เข้าข่ายความตามมาตรา 132 ของ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ที่ระบุ กรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่า ผู้สมัครใดกระทำเหตุที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต หรือเที่ยงธรรม ซึ่งหมายความว่า รู้ว่าตนเองขาดคุณสมบัติแต่ยังลงเลือกตั้ง รวมถึงยังมีการรับรองให้ผู้สมัครคนอื่นๆ ของพรรค ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย

S__5914823.jpg