ไม่พบผลการค้นหา
'เรืองไกร' ไล่ 'พิธา' ไปแก้ข้อกล่าวต่อศาล รธน. เลิกชิงเก้าอี้นายกฯ ไม่ใช่แถลงขอโอกาส - ยกเป็นผลงานตัวเอง - เตือน สส. อาจเสี่ยงถ้าโหวตให้ พิธา - ลั่นลุยตรวจสอบต่อถ้ามีชื่อแคนดิเดตชิงนายกฯ คนใหม่

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ผู้ร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบคุณสมบัติสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเด็นเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ มีมติสั่งให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หยุดปฎิบัติหน้าที่ สส. ว่า จากกรณีของ พิธา ตนยืนยันในคำร้องและข้อเท็จจริงมาโดยตลอด และเมื่อกกต. มีคำร้องไปศาลก็ต้องรับ ส่วนที่ศาลสั่งก็เป็นเรื่องของดุลพินิจ ซึ่งศาลเห็นข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับกกต.

เรืองไกร กล่าวว่า แต่ที่ยังไม่ทราบอีกเรื่องหนึ่งคือ ศาลจะต้องให้ พิธา ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เหมือนกับคดีที่มีการร้อง ซึ่งโดยหลักศาลให้ชี้แจงครั้งที่หนึ่งและสอง ดังนั้นเมื่อคดีนี้มาถึงวันนี้ ที่ประชุมทราบผลคำสั่งศาล พิธา ก็ต้องเดินออก อยู่ไม่ได้ 

เมื่อถามว่า หากเทียบกรณี พิธา ที่ศาลสั่งหยุดปฎิบัติหน้าที่กับกรณีของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในอดีต ต่างกันอย่างไร เรืองไกร กล่าวว่า กรณี ธนาธร นั้นเป็นบริษัทครอบครัว พยานหลักฐานยังอาจชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเพิ่มเติมได้ แต่กรณีของ พิธา เป็นกรณีบริษัทมหาชน ซึ่งจะใช้คำว่าไม่มีการประชุมจริงไม่ได้

เมื่อถามว่า กระบวนการการเสนอชื่อ พิธา เมื่อเทียบกับกรณีของ ธนาธร ยังทำได้หรือไม่ เรืองไกร กล่าวว่า การเสนอชื่อ พิธา ดำเนินการไปแล้วเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ตนท้วงว่าไม่ควรเสนอได้ เพราะให้อำนาจพิจารณาตาม ม.88,89 เป็นอำนาจของสภาที่ต้องพิจารณาว่า เมื่อมีการเสนอคำร้อง และกกต. มีมติเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ก็ควรจะเห็นแล้วว่าเขาเป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ และชี้ให้เห็นแล้วว่าไม่ควรนำมาเข้าสู่กระบวนการของสภาได้ 

เมื่อถามว่า ทำไมบรรทัดฐานตอน ธนาธร ถึงถูกใช้ได้ ในเมื่อก็ถูกหยุดปฎิบัติหน้าที่ในขณะถูกเสนอชื่อเช่นกัน เรืองไกร กล่าวว่า คราวนั้นเป็นการเกิดขึ้นทีหลัง แต่คราวนี้อยู่ระหว่างการโหวตนายกฯ

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ที่ เรืองไกร ระบุว่าหากวันนี้มีการเปิดให้โหวตชื่อ พิธา ในขณะที่มีคำสั่งศาล กรณี สส. ที่เลือก พิธา จะมีการนำชื่อไปยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. ใช่หรือไม่ เรืองไกร กล่าวว่า ก็เสี่ยงเพราะตามรัฐธรรมนูญ ม.234 เป็นอำนาจของ ป.ป.ช.คือ ตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรรมการองค์กรอิสระ ว่าจงใจ ปฏิบัติหรือทุจริตต่อหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติ รธน. หรือฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันนี้เป็นอำนาจ ป.ป.ช. 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี ศาลอาญาคดีทุจริต เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม รับคำร้องที่มีผู้ร้อง 7 กกต.จัดเลือกตั้งโดยทุจริต กลั่นแกล้งนายพิธา หาก กกต. มีความผิดจะทำอย่างไร เรืองไกร กล่าวว่า ไปอ่านพระราชบัญญัติประกอบและธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลฎีกานักการเมืองดูก่อน ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยเรื่องนี้ โดยผ่าน ป.ป.ช. เท่านั้น ส่วนศาลอื่นไม่มีอำนาจรับ

เมื่อถามว่า หากมีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเป็นชื่ออื่น เรืองไกร จะเข้าไปตรวจสอบอย่างละเอียดหรือไม่ เรืองไกร กล่าวว่า ตรวจ และความจริงวันนี้น่าจะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย 3 คน ส่วน พิธา ควรจะแสดงความรับผิดชอบ เมื่อโหวตไม่ได้แล้วก็ไปสู้คดี ไม่ใช่แถลงว่าขอโอกาสอีกครั้ง โหวตแล้วจะโหวตอีก เป็นเรื่องวุฒิภาวะของผู้นำประเทศ

เมื่อถามว่า ในครั้งนี้ถือเป็นผลงานของ เรืองไกร ได้ใช่หรือไม่ เรืองไกร กล่าวว่า คงไม่ใช่ผลงานของคนอื่น