ไม่พบผลการค้นหา
ในวันนี้ (14 ธ.ค.) แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้กล่าวย้ำเตือนพร้อมยืนยันถึงความสัมพันธ์ที่สหรัฐฯ มีกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนว่ายังคงแน่นแฟ้น ขณะเดินทางเยือนอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ พร้อมเตือนจีนให้หยุดการกระทำที่ก้าวร้าวลง

สัมพันธ์สหรัฐฯ-อาเซียนยังแนบแน่น

บลิงเคนย้ำเตือนถึงการทำงานร่วมการอย่างเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ และอาเซียนว่า จะดำเนินไปบนพื้นฐานของ “การปกป้องเรื่องกฎหลักการพื้นฐาน” พร้อมย้ำเตือนว่าประเทศในอาเซียนควรได้ “เลือกเส้นทางของตนเอง” ขณะการแถลงในมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย กลางกรุงจาการ์ตา

การกล่าวยืนยันความสัมพันธ์สหรัฐฯ ที่ยังแน่นแฟ้นกับอาเซียน เป็นการสานสัมพันธ์ให้กลับมาแนบแน่นระหว่างสหรัฐฯ กับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอีกครั้ง หลังนโยบายของสหรัฐฯ ภายใต้อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ มีความไม่แน่นอนและเหินห่าง จนอาจทำให้ชาติอาเซียนเริ่มใกล้ชิดกับจีนมากยิ่งขึ้น

เตือนจีน “หยุดก้าวร้าว”

นอกจากการตอกย้ำถึงความสัมพันธ์ที่ยังแนบแน่นระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียนแล้ว บลิงเคนยังได้เตือนจีนว่า “นี่คือเหตุผลว่าทำไมถึงมีความกังวล จากเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือไปจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจากแม่น้ำโขงไปถึงเกาะบนแปซิฟิก เกี่ยวกับการกระทำอันก้าวร้าวของปักกิ่ง” บลิงเคนย้ำถึงการเข้ามามีอิทธิพลของจีนเหนืออาเซียนและภูมิภาคแถบแปซิฟิก ซึ่งหมายรวมถึงกรณีความขัดแย้งทะเลจีนใต้

“การอ้างสิทธิเหนือทะเลหลวงว่าเป็นของตน การบิดเบือนตลาดเสรีผ่านการให้การสนับสนุนบริษัทของรัฐบาล การปฏิเสธการส่งออกหรือฉีกสัญญากับประเทศที่มีนโยบายไม่ตรงกันกับตัวเอง ทุกประเทศในภูมิภาคนี้ (อาเซียน) ต้องการให้พฤติกรรมดังกล่าวยุติลง เราก็เช่นกัน” บลิงเคนกล่าว

สหรัฐฯ ยันพร้อมพิทักษ์เสรีภาพอาเซียน

นอกจากการเตือนจีนแล้ว บลิงเคนได้ระบุรับรองเสรีภาพของชาติในอาเซียนว่า สหรัฐฯ “มีความอุตสาหะในการรับรองเสรีภาพในการเดินเรือบริเวณทะเลจีนใต้” และการกระทำของจีนกำลังส่งผลเสียต่อการค้าในภูมิภาคกว่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 100 ล้านล้านบาท) ในทุกๆ ปี พร้อมย้ำว่าการสนับสนุนเสรีภาพในการเดินเรือบริเวณทะเลจีนใต้ มิใช่การที่สหรัฐฯ ต้องการจะแข่งขันกับจีน แต่เป็นการคำนึงถึงชาติอื่นๆ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเป็นหลัก

ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ เป็นความขัดแย้งของจีนกับไต้หวัน รวมถึง 4 ชาติอาเซียนได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และบรูไนดารุสซาลาม ทั้งนี้ จีนถูกกล่าวหาว่ามีการใช้อุปกรณ์ทางการทหารเพื่อโจมตีเรือ ตลอดจนการติดตั้งหัวจรวดบนภาคพื้น รวมถึงการเพิกเฉยต่อคำตัดสินอนุญาโตตุลาการในกรณีความขัดแย้งทะเลจีนใต้เมื่อ ค.ศ.2016

สงครามเย็นบทใหม่ของสหรัฐฯ-จีน ในอาเซียน?

การเดินทางเยือนอาเซียนของบลิงเคนในครั้งนี้ เกิดขึ้นเพียงไม่ถึงสัปดาห์หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศการบอยคอตทางการทูตต่อการเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ของจีน เนื่องจากเหตุผลทางด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะประเด็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอุยกูร์

ในขณะที่การหารือล่าสุดผ่านทางระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ระหว่าง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน มีความพยายามในการจัดการกับความเห็นที่ไม่ลงรอยกันระหว่างทั้งสองชาติ โดยจีนเตือนสหรัฐฯ ต่อการเข้ามาส่วนเกี่ยวข้องกับความตึงเครียดระหว่างช่องแคบไต้หวัน อย่างไรก็ดี ชาติสมาชิกอาเซียนจำเป็นจะต้องรักษาสมดุลทางอำนาจและการทูต บนประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนอย่างระมัดระวัง

บลิงเคนเตรียมเยือนไทย

การสานสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียนในครั้งนี้ จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 13-16 ธันวาคม โดยหลังจากการเยือนอินโดนีเซียแล้วนั้น กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้การยืนยันว่า บลิงเคนจะเดินทางเยือนมาเลเซียและไทย ในการเดินทางเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเป็นทางการในครั้งนี้

ประเด็นที่บลิงเคนจะเข้าพูดคุยกับไทย จะอยู่บนเรื่องของการปกป้องสุขภาพของผู้คนในภูมิภาคอาเซียน จากการที่สหรัฐฯ กับไทย อาจจะกำลังมีความสัมพันธ์ในเรื่องการปกป้องประชาชนจากโควิด-19 ในภูมิภาคอาเซียนที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น รวมถึงการพูดคุยในประเด็นวัคซีนโควิด-19 อีกด้วย

ที่มา:

https://www.theguardian.com/us-news/2021/dec/14/antony-blinken-warns-china-to-stop-aggressive-actions-in-asia-pacific

https://www.aljazeera.com/news/2021/12/13/top-us-diplomat-blinken-begins-southeast-asia-tour-in-indonesia

https://www.bangkokpost.com/thailand/pr/2231751/anthony-blinken-visits-thailand-to-discuss-thailand-as-a-regional-centre-of-health-protection