ไม่พบผลการค้นหา
“เหมือนเจ้าหน้าที่เอาตรามาแปะ ถึงศาลยกฟ้องคดีแต่รัฐก็สวมเสื้อให้ผมเป็นผู้ก่อการร้ายไปแล้ว”

อีกฟากฝั่งไม่ใกลจาก ‘ร้านน้ำชา’ มุงจากที่สามารถพบเห็นตามหมู่บ้านในพื้นที่สามจังหวัด ข้างกันคือลานประลอง ‘นกกรงหัวจุก’ ที่กำลังโบยบินอยู่ในกรงขัง และ ‘แพะ’ เดินเพ่นพ่านตามท้องถนน ชายต่างวัยกำลังจับกลุ่มกัน ควันโขมงยาเส้นมวนใบจากลอยคลุ้ง เคล้าบรรยากาศแปลกตาของคนต่างถิ่น 

‘อาลี’ (นามสมมติ) พาลัดเลาะด้วยรถเครื่องมุ่งสู่ใต้หลังคาบ้านชั้นเดียว หน้าบ้านมีถังน้ำแข็งแช่ปูปลาจากระบบนิเวศท้องถิ่นส่งกลิ่นยียวน บ้านหลังนี้แวดล้อมไปด้วยผู้คนสวมใส่เครื่องแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางศาสนาอิสลาม เสียงทักทายกันเป็นภาษามลายู หญิงสูงวัยคลุมฮีญาบ ออกมาชำเลืองยิ้มเศร้าผ่านประตูรูปทรงสวย 

“เช้าออกเล....บางวันก็ไปหาดักปูตามป่าโกงกาง” วิถีเรียบง่ายของชาวมุสลิมในหมู่บ้านตันหยงเปาว์ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ดินแดนแห่ง ‘ราชาปลาเค็ม’ ใครเล่ารู้ว่า นับตั้งแต่ปี 2547 จากเหตุการณ์ความไม่สงบ ผืนป่า ‘สีเขียว’ ที่อุดมด้วยสัตว์นานาพันธุ์ วันหนึ่งจะกลายเป็นพื้นที่ ‘สีแดง’ 

ที่ฝ่ายความมั่นคงเฝ้าจับตามาตลอด 19 ปี จากคำบอกเล่าคนในชุมชน พวกเขาต้องเผชิญการปิดล้อมกว่าร้อยครั้ง โดยมีเหตุการณ์ครั้งใหญ่คือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงร่วม 4,000 นาย ทั้งทางบก-เรือ-อากาศ ตรวจค้นในหมู่บ้านตั้งแต่เช้ามืด มีคนวัยชราเสียชีวิต 2 ราย เพราะช็อคกับเหตุการณ์

“อยากให้คนอื่นเขารู้ว่าคนบ้านเราถูกกระทำอย่างไรบ้าง แต่เราก็ไม่มีโอกาสที่จะไปบอกไปคุยอะไร มีแค่คนในสามจังหวัดที่รู้สึกเหมือนกัน บางคนแย่กว่าเราเยอะ บางทีไม่ได้ทำอะไรก็โดน จากที่ผมสัมผัสในเรือนจำมา” อาลี เริ่มประโยคกับคนแปลกหน้า

3 ปี ที่ถูกจองจำในโลกหลังกำแพงจากโทษจำคุก 34 ปี หนึ่งฉากชีวิตที่ ‘อาลี’ ไม่ได้กำหนด บาดแผลอันร้าวราน ภายใต้ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัด ทำให้เขาถูกพรากอิสรภาพ เลวร้ายที่สุดคือไม่ทันเห็นหน้า ‘พ่อ’ ก่อนออกจากเรือนจำ ในฐานะ ‘ผู้บริสุทธิ์’


ปูพรมปิดล้อมตันหยงเปาว์

10 ก.พ. 2559 ‘ยุทธการตันหยงเปาว์’ ภายใต้การสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ใช้กฎอัยการศึกปูพรมทางบก-เรือ-อากาศ กว่า 300 นาย เข้าปิดล้อมตรวจค้นหมู่บ้านและเกาะไม้ป่าโกงกาง ฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่าหมู่บ้านแห่งนี้คือแหล่งซ่องสุมกำลังของบุคคลที่มีหมายจับในคดีความมั่นคงรายสำคัญ 5 ราย และยังเป็นฐานทัพประกอบระเบิดเพื่อก่อความไม่สงบ 

Screenshot 2566-04-05 at 17.30.42.jpg

รายงานข่าวผลตรวจค้นของฝ่ายความมั่นคง พบกระท่อมจำนวน 3 หลัง ซึ่งหลังที่ 1 เป็นลักษณะสถานที่ประกอบระเบิดและมียุทโธปกรณ์จำนวนมาก หลังที่ 2 เป็นสถานที่ประกอบอาหาร พบอาวุธปืนและน้ำมันเบนซินจำนวนหนึ่ง หลังที่ 3 เป็นเรือนนอนและสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา และอุปกรณ์ยังชีพในป่า สามารถจับกุมบุคคลที่มีหมายจับคดีความมั่นคง 1 ราย

จากยุทธการตันหยงเปาว์ เจ้าหน้าที่สามารถเก็บหลักฐานได้กว่า 500 ชิ้น จำแนกผ่าน ‘ดีเอ็นเอ’ ยืนยันตัวบุคคลได้ 24 ราย หนึ่งในนั้นคือ ‘อาลี’ ที่มีดีเอ็นดีติดอยู่ในผ้าที่ถูกใช้ประกอบพิธีละหมาดในกระท่อมหลังที่ 4 ซึ่งอยู่ห่างจากกระท่อม 3 หลัง ที่ฝ่ายความมั่นคงอ้างว่าเป็นฐานทัพ ราว 500 เมตร

ไปคุยที่ค่ายทหารหน่อย

อาลีเล่าว่าปกติเขาทำอาชีพขายอาหารทะเลกับแม่ ที่ตลาดใน อ.หนองจิก หลังเสร็จสิ้นภารกิจประจำวัน วันนั้นเขาและแม่เดินทางกลับเข้าหมู่บ้าน พบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจำนวนมาก เต็มพื้นที่สะพานทางเข้าตันหยงเปาว์ อาลีและแม่ถูกสั่งให้หยุดรถและสอบถาม เหมือนภาพชินชาในภาวะที่ไม่ปกติของสามจังหวัด 

Screenshot 2566-04-05 at 17.28.11.jpg

“พอถึงหน้าสะพานทหารก็ให้หยุด ถามว่ามาจากไหน ผมก็บอกว่ามาจากตลาด ตอนนั้นที่สะพานมีทหาร มีเรือ มีเฮลิคอปเตอร์ แล้วผมก็เอารถมาจอดหน้าบ้านตามปกติ เพื่อทำธุระส่วนตัว ประมาณ 16.00 น. ก็ได้ยินข่าวว่าวัยรุ่นในหมู่บ้าน ถูกทหารจับไปหนึ่งคน แม่คนที่ถูกจับได้ไปบอก อบต. เพื่อให้เช็คว่าจริงไหม อบต.ก็เช็คกับทหาร ทหารบอกว่าจริง แต่ถูกจับตรงไหนไม่รู้ พอเขาแน่ใจว่าถูกจับแล้ว ก็เลยขอให้ผมช่วยขับรถเพื่อไปเยี่ยม ผมก็ไปพร้อมกับครอบครัวเขา มีเมีย พ่อแม่ แล้วก็ อบต.”

เขาและครอบครัวคนที่ถูกจับกุม เดินทางไปที่ ฉก.24 ปัตตานี จนพบตัววัยรุ่นคนดังกล่าว ระหว่างนั้นมีทหารเข้ามาสอบถามเขาว่ามาที่นี่ทำไม แล้วรู้จักคนที่ถูกจับไหม เขาตอบว่ารู้จักเพราะเป็นคนที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน เมื่อเข้าเยี่ยมเสร็จก็เดินทางกลับหมู่บ้าน เขาไม่รู้เลยว่าหลังจากนั้นเขาจะกลายเป็นคนที่ฝ่ายความมั่นคงต้องการตัว 

“ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์มีเจ้าหน้าที่ 4 นาย มาที่บ้าน เข้ามาเชิญตัวบอกว่าไปคุยที่ค่ายหน่อย ผมบอกว่าไปไม่ได้เพราะว่าผมอยู่กับแม่ต้องไปตลาด ถ้าไปแล้วใครจะพาแม่ไป ตอนนั้นพ่อก็ป่วย ผมบอกเจ้าหน้าที่ให้บอกหัวหน้าเขาว่ามาคุยที่บ้านได้ไหม ถ้าจะคุยกันธรรมดา คุยกันที่บ้านก็ได้ ทหารบอกไม่ได้ ไปแปบเดียว ผมเลยโทรหาผู้ใหญ่บ้าน ตอนนั้นก็คุยกับผู้ใหญ่บ้านว่าถ้าไปแล้วจะได้กลับไหม แกบอกไปแปบเดียวก็กลับแล้ว ก็เลยไป เพราะเราก็บริสุทธิ์ใจ ไปก็ไป” เขาเล่าจุดเริ่มต้นของการสูญสิ้นอิสรภาพ 

อาลีต้องเข้าสู่กระบวนกักตัว 7 วัน ภายใต้กฎอัยการศึกที่ถูกใช้ในพื้นที่มานานร่วม 20 ปี ตั้งแต่ 5 ม.ค. 2547 - ปัจจุบัน โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้จะถูกประกาศใช้ในภาวะสงคราม รวมถึงกรณีรุกรานจากภายนอกหรือภายใน โดยทหารมีอำนาจบังคับเหนือกว่าพลเรือน สามารถตรวจค้นหรือยึด โดยไม่ต้องมีหมายจับจากศาล และไม่ต้องแจ้งเหตุในการกักตัว

“ไปถึงทหารเข้ามาล้อมเลย แล้วเขาถามว่าเคยไปที่ถูกปิดล้อมไหม ผมก็ถามว่าที่ไหน พอบอกในป่าโกงกาง ผมก็ตอบว่าไม่เคยไปในป่า แต่ทหารยืนยันว่ามีดีเอ็นเอผมที่กระท่อม มึงอย่าทำเป็นไม่รู้เรื่อง เพราะดีเอ็นเอมันพิสูจน์ได้ 1,000 % พอบอกแบบนี้ ผมรู้แล้วว่าผมกลับไม่ได้แล้ว มันก็ยุ่งไงเพราะพ่อก็ป่วย แม่ก็ไม่ไหวที่จะไปตลาดคนเดียว”

ขบวนรถเจ้าหน้าที่สนธิกำลังฝ่ายความมั่นคง 20 คัน พร้อมกำลังพลเต็มอัตรา เคลื่อนขบวนสู่ตันหยงเปาว์ อาลีถูกสวมเสื้อเกราะ นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นบ้านตัวเอง ท่ามกลางสายตาของชาวบ้านที่ออกมามุงดู ทำให้เขารู้สึกว่ากำลังเป็นคนร้าย ที่ถูกคุมตัวมาหาของกลาง หลังค้นบ้านไม่เจอสิ่งผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจกฎอัยการศึกนำตัวอาลี ส่งเข้าหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 หรือค่ายวังพญา  

“วันที่ 7 ตำรวจก็เข้ามาเอาตัวผม ไปส่งที่โรงเรียนตำรวจภูธรภาค 9 ผมต้องไปอยู่ที่นั่น 1 เดือน ก็ถูกถามตลอดว่าจะรับสารภาพไหม เพราะมีดีเอ็นเอของผมในที่เกิดเหตุ ผมยืนยันว่าผมไม่ได้ไป ผมไม่เคยไปด้วย แล้วดีเอ็นเอคืออะไรผมก็ไม่รู้ ผมก็ขอดูหลักฐานว่ามันเกี่ยวกับผมยังไง เขาก็บอกว่าไม่ต้องดูหรอกหลักฐานมันชัดแล้ว ก็ถูกซักถามประมาณ 4 วัน นอกนั้นขังอย่างเดียว จนครบกำหนด 30 วัน ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน”


จำคุก 34 ปี ฐานก่อการร้าย

ตำรวจส่งตัวอาลีไปศาลเพื่อขออำนาจฝากขัง และเขาต้องเข้าเรือนจำปัตตานีทันที เนื่องจากถูกคัดค้านการประกันตัว หลังครบกำหนดฝากขัง 3 เดือน เขายื่นประกันตัวอีกครั้ง โดยมีทนายความศูนย์ทนายมุสลิมเป็นผู้ดูแลคดี ก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ในเวลานั้นเขากลับมาทำหน้าที่เป็นเสาหลักของครอบครัวและสู้คดีด้วยความเชื่อมั่นว่าตัวเองบริสุทธิ์ 

DNA-03.jpeg

แต่อิสรภาพที่ได้คืนมาก็เลือนหายไป พร้อมคำสั่งโทษจำคุก 34 ปี ในฐานะจำเลยที่ 2 ข้อหาความผิดก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร และ พ.ร.บ.อาวุธปืนวัตถุระเบิด สะสมกำลังพลอาวุธยุทธภัณฑ์ มีวิทยุสื่อสารโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต 

“พอสู้คดีไปศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 34 ปี ต้องกลับเข้าเรือนจำปัตตานี ผมใช้ชีวิตโดยมีโซ่ตรวนอยู่ตลอดเวลา ประมาณ 1 เดือน เจ้าหน้าที่ทำเรื่องส่งตัวไปที่เรือนจำกลางสงขลา จำแนกผมไปที่แดน 2 ซึ่งเป็นแดนความมั่นคง อยู่ในนั้นประมาณ 3 ปี ทนายก็ช่วยสู้คดีต่อ แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษา จำคุกเพิ่ม 3 ปี รวมทั้งหมดต้องจำคุก 37 ปี สุดท้ายศาลฎีกายกฟ้อง เพราะดีเอ็นเอของผมอยู่กระท่อมที่ 4 ไม่มีสิ่งของที่ผิดกฎหมาย มีแต่ผ้าละหมาด ซึ่งดีเอ็นเอผมดันไปติดที่ผ้าละหมาด แล้วมันปนเปื้อนดีเอ็นเอหลายคนด้วย”

22 ก.ค. 2562 ศาลจังหวัดปัตตานีอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำที่ อ.๑๘๕๙/๕๙ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๗๔๐/๖๐ พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 3 จำคุก 34 ปี แต่พิพากษายกฟ้อง จำเลยที่ 2 (อาลี) หลังศาลพิเคราะห์ว่าผลดีเอ็นเอที่พบในผ้าผืนยาว คงรับฟังได้ว่าจำเลยเคยสัมผัสกับผ้าผืนดังกล่าว แต่ผ้าดังกล่าวอาจไม่ใช่ของใช้ส่วนตัวของจำเลยที่ใช้เป็นปกติและอาจมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดนำไปไว้ที่เพิงพักหรือมีสาเหตุหนึ่งสาเหตุใด ที่ทำให้ผ้าดังกล่าวไปอยู่ที่เพิงพักโดยไม่ทราบก็ได้ และโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย


มันก็คือเกม นายสั่งก็ต้องทำ

เขาก้มหน้าครุ่นคิดถึงความอยุติธรรม ย้อนนึกคำพูดของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ที่ใช้ชีวิตของอาลีเป็นเกมตามคำสั่งของผู้มีอำนาจ เมื่อครั้งการถูกซักถามในค่ายทหาร แม้รู้เต็มอกว่าเขาไม่ได้มีความผิดอะไร ตามข้อกล่าวหา 

“ตอนที่ผมอยู่ที่ ฉก. ผมขอเขาเข้าห้องน้ำ มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเดินตามหลัง เขาบอกว่าให้ทำใจ มันก็คือเกมนั่นแหละ ผมรู้ว่าคุณไม่มีอะไร แต่นายสั่งผมก็ต้องทำ นี่คือสิ่งที่เขาบอกผม แล้วมีอีกหนึ่งคนที่เป็นเจ้าหน้าที่ในค่ายอิงคยุทธ ตอนนั้นผมประกันตัวอยู่ข้างนอก แล้วผมก็ไปซื้อปลาที่ตลาด วันนั้นที่เรือนจำปัตตานีเกิดจลาจล ผมก็เลยจอดดู พอดีมีเจ้าหน้าที่เขาเคยรู้จักผมตอนโดนจับ ผมเลยถามว่าทำไมถึงต้องเป็นผม ทั้งที่หลักฐานก็ไม่มี แกบอกว่าคดีมึงไม่มีอะไรหรอก ศาลยกฟ้องแน่เหมือนเขารู้”


ผมไม่ทันได้เจอหน้าพ่อ

แม้ในเวลานี้เขาคือผู้บริสุทธิ์ แต่ผลกระทบที่ติดตัวเขาเหมือนแผลเป็นที่ไม่สามารถลบได้ สารพัดสิ่งที่ตามมามันทำให้เขาเจ็บปวดจากการกระทำของภาครัฐ ต้องสูญเสียผู้ให้กำเนิดระหว่างถูกคุมขัง แม้แต่ใบหน้าครั้งสุดท้ายเขายังไม่มีโอกาสเห็น 

DNA-02.jpeg

“อย่างแรกชาวบ้านมองผมว่าเป็นคนร้าย และการเยียวยาจากเจ้าหน้าที่ 400 บาทต่อวัน ถามว่าคุ้มไหม ไม่คุ้ม เขาเยียวยาผมคนเดียว แต่ถามว่าแม่ผม ลูก ภรรยา ใครจะเยียวยา อย่างที่มันไม่คุ้มเลยคือ ผมไม่ทันได้เจอหน้าพ่อ ตอนผมอยู่ในเรือนจำพ่อก็เสียแล้ว” อาลีนิ่งมองเพดานกลบความเศร้า 

เขาบอกอีกว่าหลังออกจากเรือนจำการทำมาหากินเป็นไปด้วยความลำบาก เหมือนเจ้าหน้าที่เอาตรามาแปะให้เขาเป็นผู้ร่วมก่อการไปแล้ว ทำให้เขาตัดสินใจจะออกจากพื้นที่ เพื่อไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย เพราะทนแรงต้านจากการกดดันเจ้าหน้าที่ไม่ไหว เนื่องจากเจ้าหน้าที่มักจะมาหาเขาที่บ้านอยู่เสมอ แม้เขาจะเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว

“พอออกจากเรือนจำ ผมจะไม่อยู่แล้วเพราะว่ามันมาบ่อย เราต้านไม่ไหวจากแรงกดดันของเจ้าหน้าที่ เลยอยากไปทำงานที่มาเลเซีย เพราะแถวนี้เขานิยมไปทำงานมาเลเซีย พอไปทำพาสสปอร์ตก็ทำไม่ได้ เขาบอกว่ามีคดีทำไม่ได้ ต้องไปกรุงเทพฯ เพื่อไปเคลียร์ มันแปลกที่ว่ามีอะไรเหนือกว่าคำสั่งศาลอีก เพราะศาลฎีกาตัดสินยกฟ้องไปแล้ว ทำให้นึกถึงอัยการท่านหนึ่งตอนที่ผมสู้คดี ท่านบอกว่าถ้าศาลยกฟ้องให้เปลี่ยนชื่อซะ” อาลีชี้ให้เห็นอีกรอยแผลเป็นจากคดีความ

เหล่านี้ที่เกิดขึ้นในมุมมองของเขาคือการอ้างกฎหมายพิเศษของเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดชาวบ้านในการตรวจดีเอ็นเอหรือการปิดล้อมหมู่บ้านโดยไม่ต้องรับผิดชอบผลที่ตามมา 

“ถ้ายกเลิกกฎอัยการศึกได้จะดีมากๆเลย เวลามาปิดล้อมสงสารชาวบ้านมันทำให้เขาลำบาก ตีสองตีสามเขานอนกัน บางทีเขาไม่ได้นอนเพราะมีเจ้าหน้าที่มาปิดล้อม” เขาทิ้งท้ายฝากถึงฝ่ายความมั่นคง


จำยอมโดยข่มขู่

นุรฮายาตี สาเมาะ หรือ กะตี องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) เผยข้อมูลในพื้นที่สีแดงแห่งนี้ มีหลายคนถูกจับกุม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชายมุสลิมบางคนโดน 3-4 ข้อหา บางคนโดนข้อหาดีเอ็นเอ และถูกจับกุมโดยพลการ อีกทั้งยังมีบางรายถูกซ้อมทรมาน หากไม่ยินยอมก็จะถูกข่มขู่ว่าจะนำตัวเข้าค่ายทหาร

“ที่ผ่านมามันเกิดประเด็นการเก็บดีเอ็นเอในพื้นที่โดยไม่ได้ยินยอม มันมีหลายเคสที่เจ้าหน้าที่ถามว่าจะให้ดีเอ็นเอไหม ถ้าไม่ให้เดี๋ยวจะพาไปที่ ฉก.”

“บางคนถูกเก็บดีเอ็นเอซ้ำๆ 7-8 ครั้ง เขามีคำถามในใจแหละว่า แล้วที่ฉันให้ไปมันอยู่ที่ไหนแล้วทำไมไม่เอาไปใช้ พอหน่วยนี้มาก็เก็บ อีกหน่วยมาก็เก็บอีก เพราะมันมีหลายหน่วยไงในพื้นที่ โดยแต่ละหน่วยเขาก็อ้างว่ามีอำนาจพิเศษ แล้วส่วนใหญ่ก็ต้องยินยอมเพราะถูกข่มขู่ ชาวบ้านก็ต้องให้ไปเพราะไม่อยากไปที่ค่ายทหาร” 

DNA-04.jpeg

‘อัสมาดี บือเฮง’ อดีตเลขาธิการ PerMAS ชี้ว่าตามหลักการกฎหมายแล้วชาวบ้านปฏิเสธการตรวจดีเอ็นเอได้ แต่สิ่งที่ปรากฎในพื้นที่สามจังหวัด โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการ จะสื่อสารกับชาวบ้านว่าถ้าคุณบริสุทธิ์ใจทำไมถึงไม่ยอมให้เก็บ ซึ่งเขามองว่าคือทำลายหลักการ และสันนิษฐานว่าประชาชนไม่บริสุทธ์ไว้ก่อนอยู่แล้ว 

“มันมีการเก็บดีเอ็นเอลูกเล็กๆ เก็บดีเอ็นเอผู้หญิง ไปล้อมบ้านผู้ต้องหา พอไม่เจอตัว ก็เก็บดีเอ็นเอคนในครอบครัว ซึ่งคนที่นี่เขายืนยันว่าเป็นการละเมิดสิทธิ คือจริงๆต้องสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ก่อน แต่การกระทำแบบนี้มันเท่ากับเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าพวกเราเป็นคนไม่ดี คือจริงๆคุณต้องสันนิษฐานว่าเราบริสุทธิ์ แล้วหาหลักฐานว่าเราผิดตรงไหน ไม่ใช่มายืนยันว่าเราผิด”

อดีตเลขาธิการ PerMAS ชวนคนนอกพื้นที่ตั้งคำถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาชนในสามจังหวัด คือวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดหรือไม่ บ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่อ้างกฎอัยการศึก โดยมีอำนาจอยู่ในมือเจ้าหน้าที่ ทำให้ระดับปฏิบัติการพร้อมที่จะไม่รับผิดชอบต่อการกระทำทุกกรณี เป็นภาพสะท้อนว่ามันคือความไม่ชอบธรรมในใช้อำนาจรักษาความมั่นคงหรือไม่ 

DNA-05.jpeg

จากการรวบรวมของวอยซ์ออนไลน์ จากสถิติมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ในปี 2561-2564 มีผู้ร้องเรียนถูกบังคับดีเอ็นเอ โดยเจ้าหน้าที่รัฐ  129 เรื่อง แบ่งเป็น ยะลา 76 เรื่อง ปัตตานี 44 เรื่อง นราธิวาส 9 เรื่อง

ซึ่งนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ในปี 2547-ปัจจุบัน มีเหตุการณ์ความมั่นคง 10,376 ครั้ง และมีผู้สูญเสียชีวิต 4,160 ราย บาดเจ็บ 11,169 ราย ขณะที่งบประมาณแก้ปัญหา 19 ปี รวม 492,451.43 ล้านบาท


พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog