ไม่พบผลการค้นหา
ผู้หลงใหลในกีฬากลางแจ้งสายเดินป่าปีนเขา อาจรู้จักชื่อบริษัทแบรนด์เสื้อผ้ากีฬากลางแจ้งอย่าง ‘พาตาโกเนีย’ หรือ ‘Patagonia’ จากสหรัฐฯ เป็นอย่างดี ทั้งนี้ มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทพาตาโกเนีย เตรียมที่จะยกบริษัทของตนให้กับองค์การการกุศล เพื่อการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก

อีวอน ชูนาร์ด มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทพาตาโกเนีย แบรนด์เสื้อกีฬากลางแจ้งดังระบุว่า ภายใต้โครงสร้างการเป็นเจ้าของใหม่ กำไรใดๆ ที่ไม่ได้นำไปใช้เพื่อการลงทุนใหม่เพื่อดำเนินธุรกิจต่อ จะถูกนำไปมอบให้แก่องค์กรด้านการกุศล เพื่อใช้ตอบรับกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก

เงินทั้งหมดที่ชูนาร์ดหมายถึง คิดเป็นมูลค่ารวมกันกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี (ประมาณ 3.67 ล้านล้านบาท) ซึ่งอ้างอิงมาจากสภาพคล่องของบริษัท ที่เปิดธุรกิจขายเสื้อผ้าปีนเขาและกีฬากลางแจ้งอื่นๆ ทั่วทั่ง 10 ประเทศทั่วโลก

พาตาโกเนียก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2513 โดยบริษัทมีรายได้ประมาณ 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท) ในปีนี้ ในขณะที่ทรัพย์สินโดยรวมของชูนาร์ดคาดว่าจะมีอยู่ที่ประมาณ 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 4.4 หมื่นล้านบาท)

“แม้มันจะมีความใหญ่โต แต่ทรัพยากรของโลกไม่ได้ไม่มีที่สิ้นสุด และเห็นได้ชัดว่าเราได้ข้ามเกินขีดจำกัดของมันแล้ว” ชูนาร์ดกล่าวถึงการตัดสินใจของเขาที่จะเลิกเป็นเจ้าของพาตาโกเนีย “แทนที่จะดึงคุณค่าจากธรรมชาติและแปลงมันมาเป็นความมั่งคั่ง เรากำลังใช้ความมั่งคั่งที่พาตาโกเนียสร้างขึ้นเพื่อปกป้องแหล่งที่มาของสินค้า”

ปัจจุบันนี้ พาตาโกเนีย ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในแคลิฟอร์เนียบริจาค 1% ของผลกำไรประจำปี ให้กับนักเคลื่อนไหวระดับรากหญ้า และมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามแนวทางความยั่งยืน แต่ในจดหมายเปิดผนึกถึงลูกค้า ชูนาร์ดแสดงความลังเลว่า เขาต้องการจะทำอะไรมากกว่าแค่การบริจาคเงินจากกำไรเพียงแค่ 1% ของบริษัทไปในแต่ละปี ชูนาร์ดเคยกล่าวอีกว่า เขาเคยคิดที่จะขายพาตาโกเนียทิ้ง และบริจาคเงินเพื่อการกุศลหรือนำบริษัทไปมอบให้เป็นสาธารณประโยชน์

อย่างไรก็ดี ชูนาร์ดระบุว่าทางเลือกทั้งสองจะเป็นการสละอำนาจในการควบคุมธุรกิจไป “แม้บริษัทมหาชนที่มีเจตนาที่ดี ก็ต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาล ในการสร้างผลกำไรระยะสั้น แลกกับการมีชีวิตชีวาและความรับผิดชอบในระยะยาว” ทั้งนี้ ครอบครัวชูนาร์ดจะย้ายหน่วยงาน 2 แห่งของตนไปยัง Patagonia Purpose Trust ซึ่งจะถูกบริหารโดยครอบครัว โดยจะยังมีการถือหุ้นจำนวน 2% ของหุ้นทั้งหมด

ชูนาร์ดจะนำเงินไปทำการกุศลกับทาง Holdfast Collective ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลของสหรัฐฯ “ที่อุทิศตนเพื่อต่อสู้กับวิกฤตสิ่งแวดล้อม” ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของหุ้นทั้งหมดประมาณ 98% ของบริษัท ที่ไม่สิทธิลงคะแนนเสียง “ในแต่ละปี เงินที่เราทำหลังจากลงทุนซ้ำในธุรกิจ จะถูกแจกจ่ายเป็นเงินปันผลเพื่อช่วยต่อสู้กับวิกฤต” โชนาร์ดกกล่าว

ชูนาร์ดไม่ใช่ผู้ประกอบการรายแรก ที่มอบความมั่งคั่งของตนเองให้แก่องค์กรการกุศล เพราะปีที่แล้ว แมทธิว โมล์ดิง หัวหน้าของ Hut Group ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าความงามและโภชนาการออนไลน์ ตัดสินใจบริจาคเงิน 100 ล้านปอนด์ (ประมาณ 4.2 พันล้านบาท) ให้กับมูลนิธิการกุศล หลังจากกลายมาเป็นมหาเศรษฐีเมื่อบริษัทของเขาถูกจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยโมล์ดิงกล่าวถึงความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นมาของตัวเองว่าเา “ไม่สามารถทำความเข้าใจกับตัวเลขได้” และกำลังพยายามสร้างความแตกต่างให้กับสังคม

ในขณะเดียวกัน บิลล์ เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์ ได้ออกมาให้คำมั่นว่าในปีนี้เขาจะ “สละ” อันดับรายชื่อบุคคลร่ำรวยต้นๆ ของโลกลง โดยเขาได้บริจาคเงินจำนวน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 7.34 แสนล้านบาท) ให้กับกองทุนการกุศลของเขา โดยเกตส์ซึ่งคาดว่ามีสินทรัพย์รวมกันกว่า 1.18 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 4.3 ล้านล้านบาท) ได้เขาเคยให้คำมั่นว่าจะมอบความมั่งคั่งส่วนตัวแก่การกุศลในปี 2553 แต่รายได้สุทธิของเขากลับเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวตั้งแต่นั้นมา


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/business-62906853?fbclid=IwAR0qEye3BLScsb6LalKXiiogxrBvircCT4rxrPIhhUPMsT49ScMZCedr-WA