ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มเครือข่ายประชาชนพิทักษ์ประโยชน์สาธารณะ แต่งชุดดำแสดงเชิงสัญลักษณ์ จี้ กสทช. ล้มดีลทรู-ดีแทค หวั่นผลประโยชน์ของประชาชนถูกลิดรอนจากการผูกขาดโดยกลุ่มทุน

ที่สำนักงานคณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นกรณีการควบรวมธุรกิจ ระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ควบรวมบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC โดยมีผู้เข้าร่วมจากทั้งภาคประชาชนและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อย่างไรก็ตามกำหนดการระบุว่าจะมีตัวแทนทรูและดีแทคเข้าร่วม แต่เมื่อถึงเวลานัดหมายผู้ประกอบการไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมให้ความเห็นแต่อย่างใด

LINE_ALBUM_220526_15.jpg

ด้าน 'ศรัณย์ ผโลประการ' หัวหน้าฝ่ายงานบริหารธุรกิจฟิกซ์ บรอดแบนด์ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค โดยเห็นว่าดีลควบรวมทางธุรกิจคือการลดทางเลือกผู้บริโภค ในการเลือกสัญญานเครือข่ายที่ตอบโจทย์ของแต่ละพื้นที่อาศัย ดังนั้นอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่เจริญก้าวหน้าได้ ล้วนเกิดจากการแข่งขัน หากลดจำนวนคู่แข่งทางธุรกิจ อาจจะสุ่มเสี่ยงให้เกิดการพัฒนาคลื่นความถี่ในประเทศไทยถดถอยลงไป

ด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ให้เห็นว่าตลาดโทรศัพท์มือถือไทยกระจุกตัวสูงมากซึ่งเป็นผลพวงจากการผูกขาดธุกิจ ซึ่งการควบรวมไม่สามารถปล่อยผ่านให้เกิดขึ้นโดยเสรีได้ 

โดย สมเกียรติ เสนอว่าทางออกที่ดีที่สุดคือการไม่ให้เกิดการควบรวมทางธุรกิจ หากมีมติให้ควบรวมต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขให้คืนคลื่นเอามาจัดสรรใหม่ พร้อมกันนี้ต้องเข้มงวดเพื่อป้องกันการกระจุกตัวที่มีความสุ่มสี่ยงสูงอยู่แล้ว หากเกิดการควบรวมจะทำให้ตลาดมือถือไทยกระจุกตัวสูงขึ้นกว่าประเทศสหรัฐอเมริกา 

ขณะที่ 'ตัวแทนสภาองค์กรของผู้บริโภค' ชี้ว่าการควบรวมครั้งนี้ขัดต่อกฎหมาย 4 ฉบับ โดยเฉพาะประเด็นการผูกขาดตัดทางเลือกผู้บริโภค มีอำนาจเหนือการตลาด ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือค่าบริการสูงขึ้น 7-10% 

"สภาองค์กรของผู้บริโภคหวังว่า กสทช. ไม่เห็นชอบดีลการควบรวมครั้งนี้ และขอให้มีการลดต้นทุน เพราะระเบียบของ กสทช. สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ และจะมีคลื่นสัญญานที่มีคุณภาพเพื่อผู้บริโภคใช้งาน" 

LINE_ALBUM_220526_10.jpg

ด้านตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคสงขลา เผยว่าที่ผ่านมาไม่มีข้อมูลเลยว่าการควบรวมนั้นประชาชนได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 การใช้คลื่นสัญญานโดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มักจะเจอปัญหาสัญญานขาดหาย จากปัญหาดังกล่าวหากมีการลดทางเลือกผู้บริโภค จะส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง จึงหวังว่า กสทช.จะพิจารณาโดยคำนึงผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง

ในช่วงท้าย 'ผู้ค้าซิมมือถือ' ให้ความเห็นว่าหากดีลควบรวมสำเร็จ จะทำให้ผู้ค้ารายย่อยตายไปจากท้องตลาด เนื่องจากถูกผูกขาดการจัดจำหน่ายไว้ที่ร้านสะดวกซื้อ ทำให้ถูกตัดตอนการกระจายรายได้

ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการประชุม กลุ่มเครือข่ายประชาชนพิทักษ์ประโยชน์สาธารณะ ได้รวมตัวแต่งชุดดำแสดงเชิงสัญลักษณ์ พร้อมนำป้ายข้อความคัดค้านการควบรวมทรู-ดีแทค พร้อมด้วยอ่านแถลงการณ์ยื่นจดหมายต่อ ต่อคณะกรรมการ กสทช. โดยมีเนื้อหาใจความว่า ขอให้ กสทช.ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติกฎหมาย และปลดแอกจากอำนาจที่ครอบงำทั้งปวง เนื่องจากหากดีลสำเร็จผู้บริโภคมีแนวโน้มจะถูกเอาเปรียบ จากค่าบริการที่สูงขึ้น

LINE_ALBUM_220526_0.jpg


เหล่านี้ที่เกิดขึ้นทำให้ภาคประชาชน มีความกังวลว่าหาก กสทช.ยังปล่อยให้การควบรวมดำเนินการต่อไปได้ โดยไม่มีการคัดค้านใดๆ ผลประโยชน์ของประชาชนต้องถูกลิดรอนจากการผูกขาดโดยกลุ่มทุน 

จึงเรียกร้องให้ กสทช.ลุกขึ้นมาทำหน้าที่กำกับดูแลให้สมบทบาทขององค์กร ปราศจากการครอบงำของกลุ่มทุนใดๆ หากผลประโยชน์สาธารณะถูดลิดรอนไป เชื่อว่า กสทช.จะถูกตราหน้าว่า สร้างผลงานชิ้นโบว์ดำให้กับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศอย่างแน่นอน