นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กถึงเรื่องแปลกในประเทศไทยที่หลายเรื่องถ้าคนบางกลุ่มทำ อย่างไรก็ไม่ผิดยกตัวอย่าง 5 เรื่องที่ฝืนและขัดความรู้สึกคนที่เฝ้าดู ตั้งแต่การเลือกตั้งจนถึงการเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้ารับหน้าที่ของรัฐบาล
เริ่มจากเรื่องแรก รัฐธรรมนูญปัจจุบันได้บัญญัติการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อไว้ชัดเจนแต่ก็ใช้การคำนวนด้วยวิธีพิเศษผ่านการตีความด้วยอภินิหารทางกฎหมาย ผลที่ออกมา คือ ส.ส.จากพรรคเล็กที่มีคะแนนต่ำกว่าคะแนนพึงประเมิน พาเหรดกันเข้าสภาเพื่อเป็นเสียงยกมือให้ "ผู้มีอำนาจเดิม" ได้กลับเข้าสู่อำนาจใหม่อีกครั้ง
เรื่องที่ 2 การตั้งกรรมการสรรหา สว.ที่ไม่เป็นกลาง คัดเลือก "ตัวเองและพี่น้องผองเพื่อน" เข้าไปเป็น สว.เพื่อยกมือเลือก "นายกฯ คนเดิม" กลับเข้ามาสู่อำนาจใหม่อีกครั้ง ทำอะไรตามอำเภอใจอย่างไม่รู้สึกใดๆ
เรื่องที่ 3 รัฐธรรมมนูญระบุให้ผู้ที่เป็น "เจ้าหน้าที่รัฐ" ขาดคุณสมบัติของผู้ที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ซึ่ง "คนบางคน" ยังเป็นที่กังขาและเป็นที่ถกเถียงว่าขาดคุณสมบัติข้อนี้หรือไม่ แม้ขณะนี้เรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาล แต่ยังกลับมาสู่อำนาจใหม่อีกครั้งได้แบบเนียนๆ "ไม่รู้ร้อนรู้หนาว" กับข้อกล่าวหาใดๆ
เรื่องที่ 4 รัฐธรรมนูญกำหนดให้การนำเสนอนโยบายต้องระบุที่มาของ "งบประมาณ" แต่นโยบายที่เพิ่งแถลงไม่มีรายละเอียดดังกล่าว ทำสิ่งที่ตรงข้ามกับที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนด อย่างไม่รู้สึกเดือดร้อน
และเรื่องสุดท้าย สำคัญที่สุด คือ รัฐบาลกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ครบข้อความตามที่บัญญัติ ไว้ในรัฐธรรมนูญเรื่องใหญ่ขนาดนี้ "ฝ่ายผู้มีอำนาจ" ตอบประชาชนด้วยคำพูดสั้นๆ ว่า "มันจบและผ่านไปแล้ว"
หลักนิติธรรม หลักนิติรัฐ ของประเทศจะดำรงอยู่ได้อย่างไรหาก"ผู้มีอำนาจและผู้นำรัฐบาล" ฝ่าฝืนและขัดขืนต่อรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศเสียเองอย่างเนืองนิจหรือ ยังคิดว่า "รัฐบาลของตน" เป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่มีอำนาจอยู่เหนือ 3 อำนาจของประเทศ แบบ 5 ปี ที่ผ่านมา อย่างที่นายกฯ กล่าวอ้างในการประชุมสภาฯที่ผ่านมา