วันนี้ (1 ส.ค. 62) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) แถลงผลการดำเนินงานครบรอบ 61 ปี เน้นนำเทคโนโลยีปรับใช้กับการทำงาน เพื่อสร้างมหานครอัจฉริยะ 'สมาร์ท เมโทร กริด' (Smart Metro Grid) นำสายไฟฟ้าลงใต้ดินเพิ่มในปีนี้ 215 วงจรกิโลเมตร ขยายอุโมงค์สายส่งไฟฟ้า 23,000 โวลต์ จากชิดลมไปสวนลุมพินี ส่งเสริมพลังงานทางเลือกทั้งเชื้อเพลิงขยะ และพลังงานแสงอาทิตย์ ส่งเสริมการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้่า ผ่านการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟรีเพิ่มตามจุดต่างๆ ในพื้นที่บริการ และพัฒนาสถานีชาร์จไฟเร็ว (Quick Charge) ตลอดจนการปรับองค์กร และเพิ่มสถานีย่อยการไฟฟ้าเพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้น โดยเชื่อมโยงเครือข่ายเป็นหนึ่งเดียว สามารถทำงานจากระยะไกล และเก็บข้อมูลได้
"อุตสาหกรรมอื่นๆ มักมององค์กรของเราว่าเหมือนยักษ์หลับ แต่วันนี้การเปลี่ยนแปลงโลกดิจิทัลทำให้ระบบไฟฟ้าถูกปรับใช้ประโยชน์ เราจึงปรับวิสัยทัศน์สู่แนวคิดพลังงาน เพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร พยายามสร้างระบบไฟฟ้าอัจฉริยะขึ้นมา" กีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าว
กีรพัฒน์แจกแจงภารกิจสำคัญของ กฟน. ในปีนี้ ได้แก่ การเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่เศรษฐกิจ 215 วงจรกิโลเมตร ได้แก่ ถนนพิษณุโลก ถนนนครสวรรค์ (แยกนางเลิ้ง ถึง แยกเทวกรรม) ถนนเพชรบุรี (แยกยมราช ถึง แยกอุรุพงษ์) ถนนนานา (ช่วงถนนสุขุมวิท ถึง คลองแสนแสบ) ถนนสาธุประดิษฐ์ ถนนสว่างอารมณ์ และโครงการถนนวิทยุ ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 46.6 กิโลเมตร อีกราว 60 กิโลเมตรกำลังก่อสร้างอยู่ และอีกราว 100 เมตร กำลังอยู่ในระหว่างการประกวดราคา ซึ่งน่าจะลงนามสัญญาครบทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้
การขยายการก่อสร้างอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับการใต้ไฟฟ้าอย่างเพียงพอในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญใจกลางเมือง ระยะทางจากถนนชิดลม ถึงถนนสารสิน (ตลอดแนวถนน) และถนนเพลินจิต (จากสี่แยกชิดลม ถึงสี่แยกเพลินจิต) โดยมีลักษณะเป็นอุโมงค์ยักษ์ขนาดใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลาง 3.6 เมตร อยู่ลึกประมาณ 40 เมตร มีความยาวของอุโมงค์โดยประมาณ 1,800 เมตร ซึ่งจะถือเป็นอุโมงค์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีความเพียงพอ มั่นคง และช่วยปรับทัศนียภาพของกรุงเทพมหานครให้สวยงาม มีความปลอดภัย
พร้อมกันนี้ กฟน. ส่งเสริมพลังงานทางเลือก ในแง่ของเชื้อเพลิงขยะ และพลังงานแสงอาทิตย์ โดยจัดทำโครงการ 'โซลาร์เซลล์ภาคประชาชน' จัดสรรพลังงานแสงอาทิตย์ 30 เมกกะวัตต์ เพื่อให้ประชาชนที่สนใจยื่นเรื่องติดตั้งกับ กฟน. ได้ โดยปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการติดตั้งใช้งานพลังงานแสงอาทิตย์ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ 3 เมกกะวัตต์
ตลอดจนการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ผ่านการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าตามสถานีของการไฟฟ้านครหลวง โดยให้บริการชาร์จไฟฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถค้นหาสถานีชาร์จไฟฟ้า ตลอดจนตรวจสอบหัวจ่ายไฟที่ยังว่าง และจองคิวชาร์จไฟ ได้ผ่านทางแอปพลิเคชั่น MEA EV Application
"ปัจจุบันทาง กฟน. กำลังพัฒนาสถานีชาร์จความเร็วสูง จากปกติชาร์จ 5-6 ชั่วโมง เรากำลังพัฒนาให้ชาร์จเร็วขึ้น ในช่วงต้นปีหน้ากรุงเทพฯ อาจเผชิญหน้าฝุ่น PM2.5 อีกครั้ง ดังนั้นรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นทางออกในการแก้ไขมลพิษได้" ผู้ว่าการ กฟน. กล่าว
ปัจจุบันมีผู้ใช้ไฟฟ้าภายในการบริการของ กฟน. อยู่ 3,863,621 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค. 2562) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.75 และคาดว่าปีนี้น่าจะมีความต้องการใช้่ไฟฟ้าตลอดปีเพิ่มขึ้น 3.02 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อน
กีรพัฒน์ชี้ว่า ในครึ่งปีแรกปี 2562 ทาง กฟน. สามารถขายไฟฟ้าได้มากขึ้น 5-6 เปอร์เซ็นต์กว่ายอดประมาณการณ์ โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อนปีนี้ ยอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งจากภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดย กฟน. มีกำไรจากผลประกอบการ ม.ค.-มิ.ย. กว่า 5,000 ล้านบาท