ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง เป็นประธานในพิธีเปิดเครื่องขุดเจาะโครงการก่อสร้างอุโมงค์ Outgoing ชิดลม อุโมงค์เชื่อมต่อระบบจ่ายไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

เมื่อวานนี้ (5 กันยายน 2561) นายเทพศักดิ์ ฐิตะรักษา ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เป็นประธานในพิธีเปิดเครื่องขุดเจาะโครงการก่อสร้างอุโมงค์ Outgoing ชิดลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.6 เมตร ซึ่งเป็นอุโมงค์เชื่อมต่อระบบจ่ายไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีความเพียงพอ มั่นคง และช่วยปรับทัศนียภาพของกรุงเทพมหานครให้สวยงาม มีความปลอดภัยและพร้อมสู่การเป็นมหานครแห่งอาเซียน "Smart Metro" ณ สำนักงานการไฟฟ้านครหลวง เพลินจิต

S__20480221.jpg

นายเทพศักดิ์ ฐิตะรักษา ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นโครงการสำคัญในการวางแผนงานระบบไฟฟ้าอนาคต เนื่องจากเป็นการก่อสร้างอุโมงค์เพื่อเชื่อมต่อไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพิ่มเส้นทางการจ่ายไฟฟ้าด้วยระบบสายไฟฟ้าแรงสูงใต้ดินให้ครอบคลุมพื้นที่ในเขตเมืองมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างในส่วนต่อขยายจากอุโมงค์ไฟฟ้าใต้ดินเดิมของ กฟน. ที่ปัจจุบันเชื่อมต่อการจ่ายระบบไฟฟ้าระหว่างสถานีต้นทางบางกะปิถึงสถานีต้นทางชิดลม ขนาดแรงดัน 230 กิโลโวลต์ (kV) 

S__20480231.jpg

โดยครั้งนี้จะดำเนินการก่อสร้างเพิ่มเติมจากถนนชิดลม ถึง ถนนสารสิน (ตลอดแนวถนน) และถนนเพลินจิต (จากสี่แยกชิดลม ถึงสี่แยกเพลินจิต) โดยมีลักษณะเป็นอุโมงค์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.6 เมตร อยู่ลึกประมาณ 40 เมตร มีความยาวของอุโมงค์โดยประมาณ 1,800 เมตร ซึ่งจะถือเป็นอุโมงค์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จากขนาดเดิมที่ กฟน. ใช้ในเส้นทางบางกะปิ - ชิดลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.6 เมตร โดยการก่อสร้างครั้งนี้ใช้วิธีการก่อสร้างอุโมงค์แบบ Shielded Tunneling ด้วยเครื่องขุดเจาะขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.6 เมตร และ 3.6 เมตร ซึ่งเป็นรูปแบบที่สามารถขุดอุโมงค์พร้อมกับการติดตั้งผนังอุโมงค์ได้ในคราวเดียวกัน และยังสามารถกำหนดทิศทางการเจาะเป็นเส้นโค้งได้ 

S__20480224.jpg

ในด้านความปลอดภัยของระบบภายในอุโมงค์ไฟฟ้านี้ยังมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่างๆ เช่น ระบบป้องกันความปลอดภัยในกรณีเกิดอุทกภัยด้วยระบบระบายน้ำ (Drainage pump system) และการก่อสร้างทางลงอุโมงค์ในระยะพ้นน้ำ (Freeboard) ในขนาดความสูง 1.20 เมตร รวมถึงติดตั้งระบบแจ้งเตือนอัคคีภัย และระบบระบายอากาศเพื่อป้องกันเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งการดำเนินการก่อสร้างทั้งหมดใช้งบประมาณกว่า 878 ล้านบาท มีระยะเวลาการก่อสร้าง 1,080 วัน (พ.ศ. 2560 - 2563)

S__20480220.jpg

สำหรับประโยชน์จากการดำเนินการโครงการเพิ่มเส้นทางการจ่ายไฟฟ้าด้วยระบบสายไฟฟ้าแรงสูงครั้งนี้จะช่วยรองรับความต้องการการใช้ไฟฟ้าในย่านธุรกิจสำคัญใจกลางเมืองที่มี การขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งช่วยสร้างความมั่นคงให้กับระบบจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟน. ลดความเสี่ยงทางกายภาพที่อาจเกิดขึ้นกับสายไฟฟ้าแรงสูงบนพื้นดิน เช่น อุบัติเหตุ ตลอดจนลดผลกระทบจากพายุฝน หรือลมพายุในฤดูกาลต่างๆ นอกจากนี้ ยังรองรับ การเชื่อมต่อสายไฟฟ้าแรงสูงกับโครงการเปลี่ยนสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนการเชื่อมต่อกับท่อร้อยสายที่ กฟน. ก่อสร้างร่วมกับเส้นทางรถไฟฟ้าในถนนเพลินจิต ถือเป็นการดำเนินการที่เชื่อมโยงครอบคลุมแบบบูรณาการทำให้เกิดประโยชน์และมีความคุ้มค่าในการลงทุนมากยิ่งขึ้น

S__20480227.jpg

ทั้งนี้ สำหรับโครงการอุโมงค์สายไฟฟ้าใต้ดินแรงดันสูง 230 กิโลโวลต์ ของ กฟน. ที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมมีจำนวน 4 แห่ง โดยแบ่งเป็นโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ คือ อุโมงค์สถานีต้นทางบางกะปิถึงสถานีต้นทางชิดลมระยะทาง 7 กิโลเมตร และอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าลาดพร้าว-วิภาวดี ส่วนโครงการที่ดำเนินการอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง คือ โครงการบริเวณคลองพระโขนง และโครงการอุโมงค์ Outgoing สถานีต้นทางชิดลม

S__20480228.jpg

อย่างไรก็ตาม ในแต่ละโครงการที่ กฟน. ดำเนินก่อสร้างสายไฟฟ้าใต้ดิน ได้มีการวางแผนบริหารจัดการจราจรร่วมกับหน่วยงานที่เป็นเจ้าของพื้นที่ เช่น กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อบริหารจัดการการปิดพื้นที่เพื่อเร่งรัดการทำงานให้เสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อจะได้บริหารจัดการการจราจรให้สอดคล้องและส่งผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด ซึ่ง กฟน. ได้มีการจัดทำแผนงานประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนรับทราบความคืบหน้าของการดำเนินโครงการตลอดระยะเวลาดำเนินการ โดยจะมีการลงพื้นที่เพื่อให้ข้อมูลของแผนงานกับประชาชนในพื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้างหรือใกล้เคียงให้ได้รับทราบก่อนดำเนินการก่อสร้าง โดยหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง MEA Call Center โทร 1130 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog