ไม่พบผลการค้นหา
อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชี้กรณียื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยปมเสนอชื่อ 'พิธา' เป็นญัตติหรือไม่ ไม่อยู่ในอำนาจศาล แนะหากมีการเล่นแง่ในสภาของเสียงข้างมาก สามารถทำเรื่องตรวจสอบจริยธรรมได้

จากกรณี 'ผู้ตรวจการแผ่นดิน' มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยคำร้องของ 2 นักวิชาการ ประกอบไปด้วย พรชัย เทพปัญญา นักวิชาการอิสระ และ บุญส่ง ชเลธร อาจารย์คณะนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กรณีเสนอชื่อ 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการเสนอ ‘ญัตติ’ ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญและสามารถเสนอซ้ำได้หรือไม่

ล่าสุด ‘จรัญ ภักดีธนากุล’ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand โดยชี้ว่าในกรณีดังกล่าวตามหลักของกฎหมายมีประเด็นที่น่าสนใจคือคือ จุดแรกประเด็นกรณีนี้ไม่เหมือนกับประเด็นเมื่อวันที่ 19-20 ก.ค. ซึ่งเป็นประเด็นที่ว่ารัฐสภาควรจะปฏิบัติตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตราใดมาตราหนึ่งหรือตามข้อบังคับของรัฐสภา 

แต่กรณีนี้คือศาลรัฐธรรมนูญมีเขตอำนาจเหนือคดีนี้หรือไม่ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินมีสิทธิที่จะส่งเรื่องมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 และมาตรา 48 แต่หลังจากที่ดูอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว พบว่าไม่มีอำนาจเหนือคดีนี้ ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะมีการรับคำร้องจากผู้ตรวจการแล้วยกหรือไม่รับวินิจฉัยเลยก็ได้ 

เหมือนที่เคยปฏบัติมาในบางกรณี หากเห็นว่าไม่มีโอกาสที่จะรับไว้พิจารณาในอำนาจ ซึ่งในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 บัญญัติเงื่อนไขข้อที่ 1 ระบุว่าเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอมาต้องเป็นเรื่องที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยตรง ต้องถูกกระทำจากหน่วยงานของรัฐหรือผู้ใช้อำนาจรัฐ ซึ่งในระบบกฎหมายของไทย เป็นที่ยุติว่าศาลหรือรัฐสภาไม่ใช่หน่วยงานรัฐในระดับปกครอง เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน

“มันเกินระดับของศาลใดศาลหนึ่ง รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญจะเข้าไป แทรกแซงตรวจสอบการกระทำของรัฐสภา ซึ่งเป็นกิจการภายในตามข้อบังคับมาตรา 47 ข้อที่ 2 และมาตรา 48 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 บัญญัติว่าถ้าการกระทำนั้นอ้างว่าใช้กฎหมายบทบัญญัติกฎหมายใด ก็ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยบทบัญญัตินั้นว่าขัดแย้งกับรัฐธรรมได้ 

แต่คำว่าบทบัญญัตินั้นต้องเป็นในระดับกฎหมายในพระราชบัญญัติ ยกเว้นพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามรัฐธรรมนูญโดยตรงเท่านั้น กฎหมายที่ต่ำไปกว่าพระราชบัญญัติ ไม่อยู่ในอำนาจที่การตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าจะเป็นการตรวจสอบจริงๆก็ต้องเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลปกครอง แต่ศาลปกครองก็ไม่มีอำนาจที่จะไปตรวจสอบการกระทำในระดับนโยบายของรัฐหรือระดับการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐสภา”

เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เมื่อไม่ใช่บทบัญญัติของกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีเขตอำนาจรับวินิจฉัยให้ได้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 48 และมาตร 46 วรรคสุดท้าย เมื่อปรากฎให้เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจในคดีนี้ คำร้องนี้จึงไม่เข้าลักษณะคำร้องที่เป็นสาระในคดี ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่จะไม่รับตั้งแต่ต้นได้เลย 

ผู้ดำเนินรายการถามต่อว่าถ้าเกิดประเด็นบังคับใช้ข้อบังคับรัฐสภาโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญใครจะทำหน้าที่วินิจฉัย ‘จรัญ’ ตอบว่าถ้าใช้ข้อบังคับที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยหลักแล้วไม่มีศาลใดจะเข้าไปตรวจสอบรัฐสภาได้ เพราะเป็นการกระทำในระดับการใช้อำนาจหน้าที่ในระดับอำนาจอธิปไตยของประชาชน เว้นแต่จะมีรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ แต่ในกรณีนี้ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตราใดเลยที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญไปตรวจสอบข้อบังคับของรัฐภา 

ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 149 ระบุไว้ชัดว่ายกเว้นให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ ร่างข้อบังคับของรัฐสภาก่อนที่จะไปประกาศใช้ได้ ไม่ใช่เพื่อครอบงำรัฐสภา แต่เป็นตัวช่วยกลั่นกรองให้กับรัฐสภาเท่านั้น เมื่อรัฐสภาประกาศใช้ข้อบังคับแล้วไม่มีกฎหมายใดๆเลย ที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลอื่นๆ ไปตรวจสอบกิจการภายในรัฐสภา

ในส่วนคำถามที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญถ้าจะวินิจฉัย สามารถทำได้เฉพาะตัวบุคคนในองค์กร แต่ไม่สามารถใช้อำนาจบังคับองค์กรไม่ได้ใช่หรือไม่ ‘อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ’ เน้นย้ำว่านี่คือหลักสำคัญ เว้นแต่จะมีรัฐธรรมนูญยกเว้นไว้เป็นกาลเฉพาะ เพราะฉะนั้นจึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจชั่วคราว สั่งรัฐสภาระงับการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน โดยอ้างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 71 นั้น ศาลรัฐธรรมนูญทำไม่ได้

“ดังนั้นจะไปสั่งห้ามคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่ชั่วคราวไม่ได้ ห้ามรัฐสภาทำหน้าที่ไม่ได้ ห้ามศาลใดศาลหนึ่งทำหน้าที่ทางคดีไม่ได้”

ต่อข้อสงสัยกรณีสั่งให้ สส.หรือ สว.หยุดปฏิบัติหน้าที่ ‘จรัญ’ ชี้ว่าอาจเป็นได้หากมีการทำผิดรัฐธรรมนูญ และจำเป็นที่จะทำให้คำวินิตฉัยสุดท้ายบรรลุผล

ผู้ดำเนินรายการถามอีกว่า หากกรณีเสียงข้างมากในรัฐสภาทำตัวเป็นมาเฟีย ตีความข้อบังคับตามใจชอบ โดยมีเป้าหมายทางการเมือง จะมีกระบวนการถ่วงดุลตรวจสอบหรือไม่ ‘จรัญ’ ตอบว่ามีกลไกทางรัฐศาสตร์ที่เรียกว่า check and balance คือฝ่ายที่มีเสียงข้างน้อยหรือแพ้ในมติข้อบังคับ อาจจะตั้งเรื่องว่าผิดจริยธรรมหรือกระทำโดยสุจริตหรือไม่ เพื่อนำไปสู่การตรวจสอบจริยธรรม โดยมีช่องทางรัฐธรรมนูญที่ยกเว้นไว้ว่า ให้ศาลสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ แต่ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญแต่เป็นศาลฎีกา