ไม่พบผลการค้นหา
‘พริษฐ์‘ ห่วง เลือกตั้ง สว. ไม่โปร่งใส จับตากลางเดือนเมษาฯ คลอดกำหนดคุณสมบัติ-ระเบียบ-ค่าใช้จ่าย

วันที่ 28 มี.ค. ที่อาคารรัฐสภา พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร (สส.) เปิดเผยภายหลังเชิญตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าชี้แจงถึงกรณีการจัดเลือกตั้ง สว. โดยมี กิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการ กกต. เข้าร่วมด้วย

พริษฐ์ ระบุว่า กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ให้ความสำคัญกับการเลือก สว.ชุดใหม่ในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งได้เชิญ กกต. มาให้ข้อมูล ได้แก่ ข้อมูลเชิงหลักการ ตั้งข้อสังเกตอำนาจ และที่มาของ สว.ชุดใหม่ที่อาจไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยสากลที่ควรจะเป็น สว.ชุดใหม่จะมีอำนาจในการยับยั้งรัฐธรรมนูญ พิจารณารับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ กระบวนการได้มาอาจจะไม่ได้ยึดโยงจากประชาชน 

นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลในภาคปฏิบัติที่ทำอย่างไรให้กระบวนการคัดเลือก สว.มีประสิทธิภาพและโปร่งใสมากที่สุด เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากที่สุด โดยเราพยายามรวบรวมคำถาม และประเด็นที่ประชาชนสงสัย และยังไม่ได้รับความชัดเจนมาถาม กกต. ประเด็นแรก เป็นคำถามเกี่ยวกับการรับสมัคร ประชาชนได้สะท้อนว่าการรับสมัคร มีความไม่ชัดเจน แม้จะมีการแบ่งกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม แต่การนิยามยังไม่ชัดเจนมากนัก 

รวมไปถึงคำถามเกี่ยวกับการตีความเรื่องการถือหุ้นสื่อ และคุณสมบัติของผู้รับรับรอง ได้รับการชี้แจงว่าก่อนกลางเดือนเมษายนนี้ จะออกประกาศ กกต.เกี่ยวกับรายละเอียดคุณสมบัติของกลุ่มอาชีพอีกครั้ง

ต่อมาคือ การตรวจสอบคุณสมบัติ หากในระดับอำเภอมีการปฏิเสธผู้สมัคร สามารถยื่นคำโต้แย้งได้ เราตั้งข้อสังเกตหากผู้สมัครสูงหลักแสนคน ข้อโต้แย้งอาจจะเยอะ จึงเสนอให้ทำแผนรองรับให้ชัดเจนก่อนมีการคัดเลือกระดับอำเภอ

ตลอดจนการแนะนำตัวหรือรณรงค์ของผู้สมัครสอบถาม กกต.ถึงขอบเขตหน้าที่ที่ผู้สมัครจะทำได้ นอกเหนือเอกสารและแนะนำตัว 5 บรรทัดในใบสมัคร โดย กกต.จะออกระเบียบเกี่ยวกับการแนะนำตัวภายในกลางเดือน เม.ย.เช่นกัน กกต.ยืนยันว่าจะจัดทำแพลตฟอร์มเผยแพร่ข้อมูลผู้สมัคร และเอกเอกสารแนะนำตัวทุกอำเภอ ทุกกลุ่มอาชีพให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้

สำหรับประเด็นต่อมาคือ เรื่องของวันคัดเลือก เนื่องจากบัตรเลือกตั้งที่ออกแบบมาเสี่ยงทุจริตหรือฮั้ว แนวทางป้องกันพฤติกรรมเช่นนี้ กกต.จะอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์อิสระ และสื่อมวลชนเข้าไปสังเกตการณ์การนับคะแนนด้วย

พริษฐ์ กล่าวอีกว่า การรับรองผล ปัจจุบันตามระเบียบคัดเลือก สว. กกต.ไม่ได้กำหนดระยะเวลาชัดเจนเพียงแต่ให้ กกต.รับรองผล หากการเลือกตั้งดังกล่าวสุจริตและเที่ยงธรรม จึงตั้งคำถามว่าหากมีข้อร้องเรียนเยอะ และมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการประกาศรับรองผลอาจเกิดความล่าช้าได้ ทำให้ สว.ชุด 250 คน มีอำนาจรักษาการต่อไป และมีอำนาจเทียบเท่ากับ สว.ชุดใหม่

แม้กระบวนการดังกล่าวเป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อน แต่เราคิดว่าภายใต้กติกาที่จำกัดอยู่ สิ่งที่เราทำได้มากที่สุดคือ การเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงเสนอแนะให้ กกต.เร่งทำงานประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้กับพี่น้องประชาชน และผู้ลงสมัครรับคัดเลือกเป็น สว.เข้าถึงข้อมูลอย่างครบถ้วนมากที่สุด 

ทำให้กระบวนการเลือกตั้งโปร่งใสมีประสิทธิภาพ ขณะที่เรื่องความเป็นอิสระ ตามเจตนาของกฎหมายชัดเจนว่าไม่ต้องการให้พรรคการเมืองเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการคัดเลือก ใครจะสมัครต้องไม่ใช่สมาชิกพรรคการเมือง

พริษฐ์ ยอมรับว่า มีความกังวลเกี่ยวกับการฮั้ว เนื่องจากมีช่องที่ทำให้ผู้สมัครฮั้วกันได้ผ่านเอกสารแนะนำตัว และการลงคะแนนเสียงในบัตรเลือกตั้ง เนื่องจากการเลือกตั้งรอบแรกเป็นการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ อาจมีการว่าจ้างให้เลือกกันเอง 

ปัจจุบันยังขาดอยู่ 2 ระเบียบกับ 1 ประกาศที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง สว. ประกอบด้วย ระเบียบเกี่ยวกับการแนะนำตัวของผู้สมัคร ระเบียบเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของหน่วยงานรัฐ และประกาศเกี่ยวกับรายละเอียดคุณสมบัติหรือนิยามของ 20 กลุ่มอาชีพ ซึ่งเราได้ให้คำแนะนำว่าต้องเร่งออกประกาศและระเบียบให้เร็วที่สุด