นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงาน THAILAND 2018 จุดเปลี่ยนและความท้าทาย จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ระบุว่า ปี 2018 เป็นปีแห่งความพลิกผัน ไม่ว่าจะมองเมืองไทยหรือต่างประเทศ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ นิตยสารนิกเคอิกของญี่ปุ่น ระบุว่า ปี 2018 จะเป็น Turning Point หรือจุดเปลี่ยน แต่สำหรับผมมันจะเป็นปีแห่งโอกาสสำหรับคนไทยให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง เพราะกระแสในเวลานี้ เมื่อเรามองจากข้างนอกเข้ามาข้างใน เช่น จากการประชุมเอเปค และอาเซียน ซัมมิท ในช่วงที่ผ่านมา มีการประชุมอาเซียน+1 เช่น อาเซียน-อเมริกา, อาเซียน-แคนาดา ซึ่งยักษ์ใหญ่เหล่านี้พยายามเข้าไปมีบทบาท มีส่วนเกี่ยวข้องกับภูมิภาคนี้ เพื่อสร้างความผูกพันเป็นพันธมิตรแห่งอนาคตร่วมกัน
ขณะที่ จีนมีเป้าหมายสร้างความยิ่งใหญ่ ประกาศแนวร่วมอินโดจีน-แปซิฟิก สร้างยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหม หรือ One Belt One Road ส่วนญี่ปุ่นดึงสหรัฐอเมริกา อาเซียน มาเป็นแนวร่วม ยุทธศาสตร์เหล่านี้ มีอาเซียนอยู่ตรงกลาง และไม่มียุคสมัยใดที่อาเซียนจะได้รับความสนใจขนาดนี้
อาเซียนพร้อมแค่ไหน รับมือจุดเปลี่ยน
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อาเซียนมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 6-7 และประเทศมหาอำนาจทั้งหลายรู้ดีว่า อาเซียนคือจุดยุทธศาสตร์สำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและความมั่นคง และประเทศไทยอยู่ตรงกลางของยุทธศาสตร์เหล่านี้ ซึ่งจะยิ่งเป็นประโยชน์มากขึ้น ขณะที่ระดับการพัฒนาของประเทศไทยก็ห่างจากเพื่อนบ้าน ในเวลาที่จีนมอง CLMVT (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม, ไทย) ในยุทธศาสตร์ล้านช้าง และญี่ปุ่นมอง CLMVT ในยุทธศาสตร์อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือ GMS ซึ่งที่ผ่านมา ภูมิภาคนี้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า ดังนั้น ปี 2018 หรือ 2561 เป็นปีที่ไทยจะมีโอกาสสูงมาก ถ้าประเทศไทยรู้จักดูแลตัวเอง เพราะเมื่อโอกาสเปิด จังหวะเวลาเหมาะสม ประเทศไทยจะสามารถสร้างฐานเพื่ออนาคตได้ทันที
"ข้อแรก ตัวเราต้องแข็งแรงก่อน ถ้าเรายังอ่อนแอ เขา (นักลงทุน) จะมองอินโดนีเซีย เวียดนามแน่นอน และเราต้องมีพลังผนึกเป็นหนึ่งเดียว รวมทั้งต้องเขยื้อนตัวเราให้เร็ว ต้อง Move Fast ดักทางแห่งอนาคตให้ได้ ถ้าเราไม่ดีดตัวเองให้เร็ว เราจะจมปลัก" นายสมคิดกล่าว
3 ปัจจัยสมคิด ดันเศรษฐกิจ ปี'61 สดใส
นายสมคิด กล่าวถึง 3 ปัจจัยที่จะเป็นตัวผลักให้เศรษฐกิจไทยก้าวหน้า ข้อแรก คือ ต้องแข็งแรง จากเมื่อ 3 ปีก่อน ประเทศไทยได้รับสมญานามว่า Sick Man of Asia หรือคนป่วยแห่งเอเชีย และประสบภาวะ Failed State หรือรัฐล้มเหลว แต่วันนี้ ประเทศไทยมีความสงบ เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจที่ประชาชนทำมาหากินกันได้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ขยายตัวจากร้อย 0.8 ต่างจากตอนนี้ที่ทุกค่ายทุกสำนักปรับจีดีพีขึ้นมาขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.8 และการจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือของประเทศไทยก็ปรับเพิ่มขึ้นทุกตัว
"ตอนนี้ร่างกายเราแข็งแรงขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ดีหมด และเราก็รู้ว่าชาวไร่ชาวนาลำบาก รากหญ้ายังลำบาก ต่างจากปี 2540 ที่ชาวไร่ชาวนาดี แต่คนชั้นกลางแย่ และตอนนี้ทุกคนต่างรู้ว่า ราคาสินค้าเกษตรเวลาตกหมด มันเป็นปัญหาจากโกลบอล ซัพพลาย (ปริมาณผลผลิตในระดับโลก และปัญหาเศรษฐกิจรากหญ้าวันนี้ ไม่ใช่เพิ่งเกิด มันเกิดมาตั้งแต่เรามีประชาธิปไตยแล้ว เพราะมีคนไทยเพียง 30 ล้านคน เท่านั้นที่มีส่วนร่วมในการผลิต ดังนั้นในปี 2561 ผมจึงต้องการคนข้างล่างมีเงินหนุน มีงานทำ ซึ่งได้หารือกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย ที่จะเกลี่ยงบท้องถิ่น 2 แสนล้านบาท ไปให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นดูแล ให้ อบต.นำเงินนี้ไปสร้างแหล่งท่องเที่ยว ผลิตสินค้าในชุมชน สร้างสาธารณประโยชน์ ดูแลคนแก่คนเฒ่า ซึ่งขออย่างเดียวคือชุมชนต้องคิดโครงการขึ้นมาด้วยตัวเอง เพราะถ้าเราจะเป็นประชาธิปไตย ท้องถิ่นคือหัวใจ"นายสมคิดกล่าว
เดินหน้าเฟส 2 โครงการต่อยอดบัตรคนจน
พร้อมยกตัวอย่างกรณีการทำบัตรคนจน ว่านับเป็นตัวอย่างของนวัตกรรม เพราะที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่เคยมีข้อมูลว่า ใครคือคนจน คนจนอยู่ตรงไหน แต่การลงทะเบียนคนจน ทำให้เรารู้ ซึ่งหลังจากนี้ ได้สั่งการให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำการบ้านต่อ เพื่อต่อยอดบัตรคนจน
ล่าสุด ได้สั่งการให้ ธ.ก.ส. หาวิธีสร้างรายได้เสริมแก่เกษตรกร ช่วยเกษตรกรปลูกพืชผลที่มีตลาดรองรับ โดย ธ.ก.ส. เป็นคนชี้เป้าว่า พื้นที่ใดควรปลูกอะไร เพราะ ธ.ก.ส มีข้อมูล โดยโครงการนี้จะเป็นการผลิตแบบไม่บังคับ และเกษตรกรไม่ต้องรับความเสี่ยงใดๆ เพราะจะมีทีมด้านการตลาดมารับ และขายในโมเดิร์นเทรด ขายในร้านธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งต่อไปจะต้องมีสินค้าที่ผลิตโดยท้องถิ่นขายกันเองมากขึ้น ซึ่งการจัดการตรงนี้จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง กับ กระทรวงพาณิชย์ และดึง อบต. อบจ. เข้ามาเป็นพันธมิตร เพื่อให้เม็ดเงินลงไปที่ท้องถิ่นให้เกิดการผลิต การจ้างงานในท้องถิ่น
ปลุกชุมชนเปิดตลาด e-commerce
อีกด้านหนึ่ง ในปี 2561 จะต้องการเห็นตลาดออนไลน์ หรือ e-commerce ของชุมชน ให้สินค้าชุมชนมีขายบนออนไลน์ ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์ต้องมาเข้ามาดำเนินการ
"ถ้าใครไม่ทำ ผมจะให้ลาซาด้ามาทำ เรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์ต้องทำ เพราะถ้าเราทำได้ เราจะช่วยให้คนฐานรากพ้นจากความยากจน จากปัจจุบันประเทศไทย มีคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 2,500 บาทต่อเดือน หรือต่ำกว่าเส้นความยากจนถึง 4 ล้านคน" นายสมคิดกล่าว
ขณะที่ ธนาคารออมสินจะต้องเข้ามามีบทบาทปล่อยสินเชื่อหมุนเวียนให้คนจนด้วยดอกเบี้ยที่ถูก เพราะธนาคารออมสินเป็นธนาคารรัฐที่มีบทบาทช่วยคนฐากราก เขาต้องเป็นความหวังให้คนจนได้ยืนด้วยขาตัวเอง ทำให้คนจนมีอาชีพ เพราะสิ่งที่เห็นอย่าง "ช้อปช่วยชาติ" สินค้าที่ขายได้ดี เกิดจากการช้อปออนไลน์ ไม่ได้เกิดขึ้นที่ห้างสรรพสินค้า คำถามคือ แล้วต่อไปพนักงานขายในห้างฯ จะเอาเขาไปไว้ที่ไหน และถ้าระบบโรงงานทั้งประเทศเข้าสู่ระบบดิจิตอล คนในโรงงานจะไปที่ไหน จะเอาคนที่อยู่ในภาคบริการไปทำอะไร
ดังนั้น ต่อไปประเทศไทยต้องทำให้คนเหล่านี้มีงานทำในท้องถิ่น ต้องสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นมีการจ้างงาน ต้องทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชน ให้มีการผลิต การท่องเที่ยว ค้าขายออนไลน์ในท้องถิ่นให้ได้ เพราะคนไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรและภาคโรงงาน ถ้าไม่ทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง คนไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ ปั���หาสังคมจะเกิดได้
"ปีหน้าเรารู้ว่า เราเข้มแข็งขึ้น แต่เราต้องปิดช่องว่างเหล่านี้ ทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อให้ทุกอย่างขยับขึ้นมา ดังนั้นกรุณาอย่าโจมตี อย่าด่าทอ ผมยินดีรับฟังเสมอ เราไม่ได้ต้องการทำอะไรที่ฉาบฉวย อย่างจำนำข้าว ยากเหรอ ไม่ได้ยากประกันรายได้ ยากเหรอ ไม่ได้ยากเลย และเรื่องเหล่านี้ไม่มีใครโง่กว่าใคร ฉลาดกว่าใคร ดังนั้นต้องมาช่วยกันทำ" นายสมคิดกล่าว
ขยับให้ไว เดินหน้าลุย EEC-เศรษฐกิจดิจิตอล
ปัจจัยตัวที่สองที่ต้องทำคือ การขยับให้ไว เข้าสู่ดิจิตอล และการลงทุนในพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งนายสมคิด ตั้งเป้าหมายว่า ภายในไตรมาส 2 ปี 2561 โครงการลงทุนขนาดใหญ่ 2-3 ในอีอีซี จะต้องมีการประมูลเกิดขึ้น และต่อไปไม่ว่า รัฐบาลไหนจะมา โครงการเหล่านี้ก็จะดำเนินการต่อได้ รวมถึงโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน ต้องเกิดขึ้นทุกหมู่บ้านไม่เกินปลายปี 2561 โดยต้องเข้าไปถึงโรงเรียนและหน่วยงานสาธารณสุข
หลังจากภาครัฐ ได้ทำเรื่องระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) และพร้อมเพย์ ซึ่งนับเป็นการปฏิวัติ และทำให้นับจากนี้ การใช้จ่ายของรัฐบาลจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์หมด รวมถึงการค้าขายของภาคเอกชนก็จะเป็นการทำผ่านออนไลน์ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องใช้ฐานจากการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์
และปัจจัยที่ 3 คือ การผนึกกำลัง คนไทยต้องหยุดด่ากัน หยุดเอาชนะกัน ขอให้ปีหน้า เป็นปีสามัคคีกัน
รายงานโดย อังศุมาลิน บุรุษ