ไม่พบผลการค้นหา
เลขาธิการสหประชาชาติเตือนว่าโลกจะเผชิญปัญหาความขัดแย้งหนักกว่าเดิมในปีนี้ ขณะที่รายงานดัชนีความเสี่ยงโลก (GRR) ชี้ว่าภัย 10 ประการจะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วง 10 ปีข้างหน้า

นายอันตอนิอู กูแตร์รีช เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) กล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวาระการดำรงตำแหน่งครบ 1 ปี เมื่อ 16 มกราคมที่ผ่านมา โดยระบุว่าเมื่อตอนที่ได้รับตำแหน่งปีแรก เขาเรียกร้องให้ปี 2017 เป็นปีแห่งสันติภาพ แต่เวลาผ่านไปหนึ่งปีจึงตระหนักว่า "สันติภาพนั้นยังห่างไกล" และสถานการณ์โลกมุ่งไปในทิศทางตรงข้าม

กูแตร์รีชเตือนว่าโลกจะเผชิญกับความขัดแย้งที่ร้าวลึกยิ่งขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะปัญหาเรื้อรังจากปีที่ผ่านมา เช่น การทดสอบนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือที่กระทบต่อความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลี เป็นความตึงเครียดที่สุดนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา, ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง, วิกฤตโรฮิงญาซึ่งคนกลุ่มหนึ่งกำลังถูกลบล้างเผ่าพันธุ์, กระแสชาตินิ���มที่เติบโตขึ้นในหลายประเทศแถบยุโรป, ปัญหาความขัดแย้งในยูเครน รวมถึงอีกหลายประเทศในแอฟริกา และปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้ภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้นทั่วโลก

ประเด็นทางสังคมที่น่ากังวลไม่แพ้กัน ได้แก่ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความไม่เท่าเทียมกันด้านการค้าระหว่างประเทศ การพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงความยั่งยืน และกระแสต่อต้านผู้อพยพลี้ภัย อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนและเป็นชนวนให้กลุ่มติดอาวุธเพิ่มความเคลื่อนไหวในการก่อการร้ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งประเด็นทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือที่เป็นเอกภาพจากประชาคมโลกเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา

shanghai-2303480_1920.jpg

"ภัย 10 ประการที่โลกจะเผชิญใน 10 ปีข้างหน้า"

องค์การการประชุมเศรษฐกิจโลก (WEF: World Economic Forum) เผยรายงานสรุป 'ดัชนีความเสี่ยงโลก' หรือ Global Risk Report ประจำปี 2018 เมื่อวานนี้ (17 มกราคม) ไล่เลี่ยกับที่เลขาธิการ UN กล่าวสุนทรพจน์ และดัชนี GRR เป็นการสำรวจข้อมูลตลอดปี 2017 ที่ผ่านมา พบว่ามีภัย 10 ประการอาจจะทวีความรุนแรงขึ้นในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า ได้แก่:

1.ภาวะขาดแคลนอาหาร

สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง พายุเฮอร์ริเคน หรือน้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อการเกษตรทั่วโลก อาจทำให้ผลผลิตตกต่ำลงเรื่อยๆ และสิ่งที่จะตามมาคือภาวะขาดแคลนอาหาร ราคาสินค้าพุ่งสูง และประชากรโลกต้องดิ้นรนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเพื่อหาเลี้ยงปากท้อง

2.อัลกอริทึมจะยึดเครือข่ายออนไลน์

แม้แวดวงวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจะเตือนเรื่องการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในการสร้างอาวุธสังหารที่สามารถประเมินผลได้เอง แต่ดัชนีความเสี่ยงโลกระบุว่า การคำนวณและประเมินผลโดยระบบอัลกอริทึมธรรมดาๆ จะเป็นภัยต่อสังคมมากกว่า เพราะถ้าไม่มีการควบคุมหรือกำหนดแนวทางชัดเจน การผลิตข้อมูลโดยอัลกอริทึมต่างๆ จะแพร่ขยายเหมือนวัชพืช จนอาจทำให้การสื่อสารหรือตรวจสอบข้อมูลออนไลน์ที่ชัดเจนแม่นยำทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นทำให้ระบบออนไลน์หยุดชะงักได้

3.รูปแบบการค้าในอดีตจะสิ้นสุดลง

ความเคลื่อนไหวทางสังคมที่ต่อต้านองค์การการค้าโลกและแนวคิดโลกาภิวัตน์ที่เคยให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อถึงกันทั่วโลก และการหันกลับไปหาแนวคิดชาตินิยม เช่น การลงประชามติแยกตัวจากสหภาพยุโรปของคนอังกฤษ (เบร็กซิท) นโยบายกีดกันทางการค้าและแนวคิด 'อเมริกาต้องมาก่อน' ของผู้นำสหรัฐฯ รวมถึงการสนับสนุนนโยบายกีดกันการค้าในหลายประเทศทั่วโลก จะทำให้รูปแบบการค้าที่เคยเป็นมาในอดีตหลายสิบปีเปลี่ยนแปลงไปได้ และองค์การระหว่างประเทศซึ่งทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการค้าในระดับประเทศจะอ่อนแอลงเพราะถูกมองข้ามหรือถูกลดบทบาท

ประชาธิปไตยทั่วโลกถดถอย

4.ประชาธิปไตยจะถูกจำกัดพื้นที่

ความขัดแย้งและความแตกต่างทางอุดมการณ์ทางการเมืองที่เป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก จะทำให้เกิดความแตกแยกหนักขึ้น และสถานการณ์ในหลายสังคมมีแนวโน้มจะเลยไปถึงจุดที่แต่ละฝ่ายไม่ต้องการประนีประนอมอีกต่อไป และคุณค่าด้านประชาธิปไตยที่สนับสนุนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกฝ่ายจะถูกมองข้าม เพราะปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงจะทำให้คนมุ่งสู่การใช้อำนาจนอกระบบหรือใช้อาวุธยุติปัญหาแทน

5.ปลาจะสูญพันธุ์

ความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์อาจทำให้การทำประมงหรือการจับสัตว์น้ำในน่านน้ำทะเลต่างๆ ลุล่วงได้โดยการใช้โดรนหรือเรือที่ไม่ต้องมีคนคอยควบคุม ทำให้การลักลอบจับสัตว์น้ำรอดพ้นจากการควบคุมหรือตรวจสอบของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งอาจทำให้เกิดการเพิ่มปริมาณการจับสัตว์น้ำ และนำไปสู่ความขัดแย้งในน่านน้ำระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย

6.วิกฤตเศรษฐกิจโลกรอบใหม่

ระบบธุรกิจและธุรกรรมการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปในหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้สถาบันกำกับดูแลด้านการเงินการธนาคารต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบหรือระบบการทำงาน แต่การควบคุมตรวจสอบอาจไม่เพียงพอระบบเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้น และอาจจะทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่ ซึ่งจะร้ายแรงกว่าที่เคยเป็นมา เพราะอาจจะทำให้ระบบต่างๆ หยุดชะงักพร้อมกันทั่วโลกได้เลย

7.ความเหลื่อมล้ำในสังคมจะสูงข้ึนเรื่อยๆ

การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพและยารักษาโรคมีความก้าวหน้ามากขึ้น แต่คนอาจเข้าถึงเทคโนโลยีหรือตัวยาใหม่ๆ ได้น้อยลง เพราะผู้วิจัยและผลิตปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะเป็นผู้กำหนดราคาหรือกลไกในการเข้าถึงภายในตลาดโลก คนที่มีกำลังทางเศรษฐกิจมากพอเท่านั้นที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีหรือยาดังกล่าว และกระแสการพัฒนาที่ไม่ครอบคลุมคนทุกกลุ่มในสังคมจะยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

8.สงครามไร้กฎเกณฑ์จะเกิดขึ้นในหลายพื้นที่

ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยกระดับเข้าสู่การใช้อาวุธต่อสู้หรือทำสงครามในหลายพื้นที่จะไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ใดๆ เพื่อปกป้องคุ้มครองพลเรือนที่อยู่ตรงกลางของความขัดแย้ง และการเข้าถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ จะทำได้ง่ายขึ้น ทำให้ไม่อาจควบคุมหรือป้องกันการใช้ความรุนแรงในการตอบโต้กลับได้ และจะทำให้เกิดสภาพไร้กฎเกณฑ์ขึ้นในสังคม แต่ละรัฐบาลทั่วโลกจึงต้องตระหนักและหาทางป้องกันหรือควบคุมการครอบครองหรือการเพิ่มขึ้นของอาวุธต่างๆ ภายในประเทศแต่เนิ่นๆ


สเปนยืนยันยึดอำนาจกาตาลูญญา 'ขอเวลาแค่ไม่นาน'

9.อัตลักษณ์ของชาติและบุคคลจะถูกลบเลือน

การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานหรือการเลื่อนไหลทางวัฒนธรรมในยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้คนในหลายสังคมเกิดคำถามหรือไม่แน่ใจในอัตลักษณ์ของชาติหรืออัตลักษณ์ปัจเจกบุคคลที่เคยรับรู้มาก่อนในอดีต และในหลายพื้นที่ อิทธิพลต่างชาติหรือวิธีคิดในโลกสมัยใหม่ มีผลต่อแนวคิดและการดำเนินชีวิตของคนในสังคมเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การเรียกร้องที่จะกำหนดอัตลักษณ์ของตัวเองใหม่ เช่น การขอแยกประเทศหรือการเรียกร้องอำนาจในการปกครองตนเอง ซึ่งการเคลื่อนไหวเหล่านี้จะเผชิญกับการต่อต้านหรือควบคุมจากฝ่ายรัฐ จึงจำเป็นต้องมีการพูดคุยและหาทางรับรองอัตลักษณ์ที่แตกต่างหลากหลายให้อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติ

10.อินเทอร์เน็ตจะล่มสลาย

การโจมตีทางไซเบอร์จะเพิ่มขึ้นจำนวนขึ้นเรื่อยๆ และการใช้อินเทอร์เน็ตในการสื่อสารหรือเคลื่อนไหวทางสังคมที่หวังผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจะตกเป็นเป้าหมายในการควบคุมของฝ่ายรัฐ โดยปัจจุบันรัฐบาลหลายประเทศก็มีแนวโน้มที่จะจำกัดหรือควบคุมกิจกรรมหรือการใช้งานในโลกอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว หากการแทรกแซงหรือการโจมตีจากแต่ละฝ่ายรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้เกิดการปฏิเสธระบบอินเทอร์เน็ตไปเลยอย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดทำดัชนีความเสี่ยงโลกระบุว่า รายงานฉบับนี้ไม่ใช้คำทำนายว่าภัยต่างๆ จะเกิดขึ้นอย่างถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ประเด็นทั้งหมดเป็นเรื่องที่แต่ละสังคมต้องตั้งคำถามว่าจะหาทางป้องกัน รับมือ หรือแก้ไขอย่างไรในกรณีที่สถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นจริงในอนาคต