ไม่พบผลการค้นหา
ปภ.ประสาน 49 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยจากภาวะฝนตกสะสมและคลื่นลมแรง ช่วงวันที่ 13 - 16 ส.ค. 2561 จัดเจ้าหน้าที่ติดตามใกล้ชิดต่อเนื่อง 24 ชม.

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาวะอากาศ ปริมาณฝนสะสม สถานการณ์น้ำท่า และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ พบว่าหลายพื้นที่ยังคงมีฝนตกหนักต่อเนื่อง และสถานการณ์น้ำท่าในหลายจังหวัดอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังและเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดว่าพายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน จะเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศเวียดนามในช่วงวันที่ 13 – 14 สิงหาคม 2561 ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 13 – 16 สิงหาคม 2561 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกเพิ่มมากขึ้น ปริมาณฝนสะสมอาจส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ริมแม่น้ำ พื้นที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ที่มีสถานการณ์น้ำท่วมมขังอยู่เดิม และปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ในเกณฑ์มาก อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่ม รวมทั้งคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน คลื่นสูง 2 – 4 เมตร อ่าวไทยตอนบน คลื่นสูง 2 – 3 เมตร 

จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัย 39 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร ตาก นครสวรรค์ และอุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ชัยภูมิ อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ 

จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง 10 จังหวัด แยกเป็น ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล 


133925.jpg

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยยังได้ประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำและแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว พร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย

อีกทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดเรือทุกประเภท ให้เดินเรือด้วยความระมัดระวังพร้อมตรวจสอบสภาพเรือให้มีความปลอดภัย และอุปกรณ์ชูชีพให้เพียงพอ ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือและระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัย โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :