นายสมชาย แสวงการ เลขานุการกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช. (วิป สนช.) กล่าวว่า เหตุผลที่สนช.ไม่ยื่นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่าจะมีผลกระทบต่อโรดแมปเลือกตั้ง ส่วนประเด็นการช่วยคนพิการในการลงคะแนนเลือกตั้ง ถือเป็นการอำนวยความสะดวกเพื่อช่วยเหลือคนพิการ ผู้สูงอายุ ประเด็นเหล่านี้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญแน่นอน หากภายหลังมีผู้ไปยื่นตีความและศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า ขัดรัฐธรรมนูญ จะมีผลกระทบกับการเสียสิทธิของบุคคลแค่บางกลุ่มเท่านั้น ไม่ใช่สาระสำคัญที่ทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวตกไปทั้งฉบับ แค่หากหลายฝ่ายยังคงห่วงการไม่ยื่นตีความร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.อยู่นั้น ขอให้พรรคการเมืองทุกพรรคทำเป็นสัตยาบันร่วมกันมาว่า จะยินยอมให้เลื่อนโรดแม็ปเลือกตั้งออกไป 3เดือน ซึ่ง สนช.จะดำเนินการส่งร่างกฎหมายลูกให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความทันที
ด้าน นายกิตติ วะสีนนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 1ใน 30 สมาชิก สนช.ที่เข้าชื่อยื่น ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ระบุว่า ตัวเองเป็นหนึ่งสมาชิก สนช.ที่งดออกเสียงร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะเห็นว่ามีบางประเด็นที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เกรงว่าอาจเกิดปัญหาถ้ามีผู้ไปยื่นตีความภายหลังจากที่ร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว อาจทำให้โรดแมปสะดุดได้ จึงคุยกับเพื่อนๆ สนช.ว่าควรเคลียร์ข้อสงสัยให้ชัดเจนดีกว่า แม้ สนช.จะลงมติให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อคนระดับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ทักท้วงมา ยิ่งเน้นให้เห็นถึงข้อห่วงใยในอนาคตถ้ามีผู้ไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงได้รวบรวมรายชื่อสนช.ส่งตีความให้เกิดความชัดเจน ยืนยันไม่ได้มีเจตนายื้อโรดแม็ปเลือกตั้ง เพราะดูแล้วศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1-2 เดือน ทันโรดแมปแน่นอน
สำหรับประเด็นที่จะส่งให้ตีความมี 3 เรื่องคือ 1.การลดกลุ่มอาชีพผู้สมัคร ส.ว.จาก 20 กลุ่มเหลือ10 กลุ่ม 2.การเปลี่ยนวิธีเลือกไขว้ ส.ว.เป็นการเลือกตรงจากกลุ่มอาชีพเดียวกัน และ 3.การแบ่ง ส.ว.เป็น2ประเภทคือ สมัครอิสระ และตัวแทนองค์กรว่า ประเด็นเหล่านี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
นายกิตติ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่นายมีชัยต้องการให้ สนช.ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความด้วยนั้น สนช.เห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องยื่น เพราะประเด็นที่กรธ.ทักท้วงไม่ใช่สาระสำคัญของกฎหมาย