ไม่พบผลการค้นหา
ประธานทีดีอาร์แจง 4 เหตุผล ค้าน กสทช. ขยายเวลาผ่อนชำระค่าใบอนุญาต 4G แก่บริษัทลูกเอไอเอส - ทรู ชี้ไม่สอดคล้องนโยบายนายกฯ ขาดข้อมูลทางวิชาการรองรับ ส่งผลกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน ส่วนกรณีรัฐหาทางแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการ ‘ทีวีดิจิทัล’ มีเหตุผลต้องหาทางออก

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า กรณีที่ กสทช. เสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ใช้อำนาจมาตรา 44 ขยายเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่น 900 เมกะเฮิรซ์ออกไปอีก 5 งวด จากเดิมจะสิ้นสุดในปี 2563 นี้ให้กับ 2 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN บริษัทลูกของเอไอเอส และบริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ TUC ในเครือของทรู 

นายสมเกียรติยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยที่ กสทช. จะเสนอให้ช่วยเหลือ 2 บริษัทดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าไม่สอดคล้องกับนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ที่ระบุว่า การช่วยเหลือจะต้องไม่กระทบกับการทำธุรกิจ และเอกชนต้องเข้าใจความเสี่ยงปกติที่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ เห็นว่า การเสนอความช่วยเหลือดังกล่าวของ กสทช. จะทำให้ผิดหลักนโยบาย เนื่องจาก ประการแรก ที่ผ่านมาผลการดำเนินงานของทั้ง 2 บริษัทยังมีผลประกอบการที่ดี โดยปี 2560 เอไอเอสมีกำไรถึง 30,000 ล้านบาท ขณะที่ทรูมีกำไร 2,300 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังพบว่า ทรูมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 18.8 เมื่อปี 2568 มาเป็นร้อยละ 26 ในไตรมาส 2/2560 

ดังนั้น จึงเห็นว่า ไม่สมเหตุสมผลหากจะเข้าไปช่วยเหลือ เนื่องจากธุรกิจทั้ง 2 บริษัทยังดำเนินกิจการได้ดี สอดคล้องกับมุมมองของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ที่ออกมาระบุว่า ฐานะทางการเงินของทั้ง 2 บริษัทยังแข็งแกร่ง 

ประการที่สอง การขยายเวลาจ่ายค่าใบอนุญาตแก่ 2 ผู้ประกอบการโทรคมนาคมดังกล่าง จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งหากเข้าไปช่วยเหลือในขณะที่ผู้ประกอบการยังดำเนินธุรกิจได้นั้น จะทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจต่อกฎระเบียบ หรือ นโยบาย กติกาที่ออกมา ว่าสามารถปรับเปลี่ยนเงื่อนไขได้ เป็นการทำลายความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยโดยรวม และกสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแล ทั้งที่ผู้ประกอบการทราบเงื่อนไขนี้ตั้งแต่ต้นแล้ว และอาจทำให้เกิดข้อครหาว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการบางรายได้

ประการที่สาม เอกชนทั่วไปทราบดีว่าการดำเนินธุรกิจโดยปกติมีความเสี่ยง ซึ่งเอกชนจะต้องยอมรับความเสี่ยงว่าการทำธุรกิจใดใดไม่ได้การันตีว่าผลประกอบการจะต้องออกมาดีเสมอไป และการประมูลคลื่นดังกล่าว เป็นการประมูลโดยสมัครใจของผู้ประกอบการเอง ซึ่งรับรู้เงื่อนไขการผ่อนจ่ายอยู่แล้ว 

“พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า ทุกอย่างจะต้องไม่ทำให้รัฐและประชาชนเสียหาย ดังนั้น ข้อเสนอของ กสทช.ที่บอกว่า หากขยายเวลาการชำระจะเก็บค่าดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 นั้น ถือว่า ไม่สมควร เพราะโดยเงื่อนไขแล้ว หากชำระล่าช้า เอกชนจะมีภาระดอกเบี้ยต้องจ่ายร้อยละ 15% หรือ ประมาณ 30,000 ล้านบาท อยู่แล้ว ซึ่งในหลักการผู้ประกอบการสามารถกู้เงิน หรือ ออกตราสารหนี้ รวมถึงการเพิ่มทุนมาจ่ายให้ตรงตามงวดได้ ซึ่งคิดเป็นต้นทุนเฉลี่ยเพียงร้อยละ 9 เท่านั้น ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยที่ กสทช.ระบุว่าร้อยละ 1.5 นั้น จะทำให้รัฐสูญรายได้ที่จะได้จากดอกเบี้ยถึง 30,000 ล้านบาท ซึ่งอาจถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน และอัตราดอกเบี้ยที่กสทช.ยกมา เป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยที่คิดในเชิงพาณิชย์ ข้อนี้จึงไม่สมเหตุสมผล” นายสมเกียรติ กล่าว 

ประการที่สี่ การที่ กสทช.ยกข้ออ้างมาระบุว่า หากไม่ขยายเวลา อาจกระทบกับการประมูลคลื่น 1,800 เมกะเฮิรซ์ในระยะข้างหน้า ซึ่งอาจทำให้รัฐสูญรายได้นั้น มองว่า ถือเป็นการยกข้ออ้างที่ไม่สมเหตุผล เนื่องจาก ประเทศไทยมีผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหญ่ 3 ราย และ 2 ใน 3 มีคลื่นความถี่ที่เยอะและเกือบครอบคลุมแล้ว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นจะต้องมาประมูลเพิ่มเติมในคลื่นดังกล่าว ดังนั้น การจะทำให้เกิดผู้เล่นหลายราย จะต้องปรับเงื่อนไขให้เหมาะสม เช่น การปรับลดราคาตั้งต้นให้เหมาะสมกับการประมูล ไม่ใช่นำราคาอ้างอิงเดิมมาเป็นราคาตั้งต้นในการประมูลครั้งใหม่ 

นายสมเกียรติ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนกรณีที่หยิบยกการช่วยเหลือกับกรณีของทีวีดิจิทัลนั้น มองว่า สำหรับกรณีทีวีดิจิทัลนั้น สมเหตุผลที่จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือ เนื่องจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลประสบปัญหาจริง และการดำเนินการของ กสทช.ไม่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไข แต่การช่วยเหลือนั้นจะต้องแบ่งแยกให้ชัดเจนและเหมาะสม โดยการช่วยเหลือนั้น จะต้องดูตามความเสียหายที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายสมเกียรติได้รับเชิญจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อประชุมหารือหาแนวทางแก้ปัญหาแก่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ในเย็นวันนี้ (4 เม.ย.) แต่การนัดหมายได้เลื่อนออกไป โดยยังไม่มีกำหนดเวลาครั้งใหม่

วิษณุ ไม่รับปากถกทางออก 'ทีวีดิจิทัล' แล้วเสร็จภายในเดือนนี้

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการนัดสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และผู้ที่เกี่ยวข้องมาหารือเรื่องการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลร่วมกับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ว่า ทราบว่าฝ่ายต่างๆ ไม่สะดวก เลยต้องเลื่อนออกไป ซึ่งจะเลื่อนไปจนกว่าเขาจะแจ้งกลับมาว่าว่างเมื่อไร ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้แจ้งกลับมา และไม่ได้เป็นที่ทีดีอาร์ไออย่างเดียว แต่เป็นหลายฝ่ายที่ไม่ว่าง

ผู้สื่อข่าวถามว่านายกฯ เร่งให้นายวิษณุ แก้ปัญหานี้เพราะอยากให้จบภายในเดือนนี้ นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะนี้ยังนัดกันไม่ได้ ซึ่งตนแจ้งไปแล้วว่าถ้าไม่ว่างก็ไม่เป็นไร 

 “ถ้าวันนี้ไม่ว่างก็เป็นพรุ่งนี้เช้า แต่ถ้าพรุ่งนี้เช้าอีกฝ่ายหนึ่งว่าง อีกฝ่ายไม่ว่างก็ไม่ได้อยู่ดี ก็ต้องรอพร้อมหน้ากัน จากนี้เจ้าหน้าที่ก็จะประสานเพื่อนัดมาพูดคุยกันอีกครั้ง”  

เมื่อถามว่าจะทันที่นายกฯ ต้องการให้จบภายในเดือน เม.ย.หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบท่านอาจจะต้องการแบบนั้นก็ได้ แต่ไม่เคยพูดกับตนแบบนั้น อย่างไรก็ตามถึงอย่างไรต้องพิจารณาอย่างเร็วที่สุดอยู่แล้ว