ไม่พบผลการค้นหา
ขณะที่ไทยกำลังมีประเด็น 'ทหารเกณฑ์เลี้ยงไก่' ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ก็เถียงกันเรื่อง 'รับใช้ชาติ' เพราะนักฟุตบอลอนาคตไกล ลูกครึ่งไทย-อังกฤษที่ได้สัญชาติสิงคโปร์ อาจจะพลาดโอกาสเตะให้ทีมฟูแลมของอังกฤษเพราะ 'ติดเกณฑ์ทหาร'

เบนจามิน เจมส์ เดวิส หรือ 'เบน เดวิส' ลูกครึ่งไทย-อังกฤษวัย 17 ปี ซึ่งได้รับสัญชาติสิงคโปร์ และเป็นนักฟุตบอลทีมชาติของสิงคโปร์ ชุด U-19 ถูกปฏิเสธคำร้องขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร โดยกระทรวงมหาดไทยของสิงคโปร์ (MinDef) ให้เหตุผลว่า เดวิสไม่สามารถระบุวันเวลาที่ชัดเจนได้ว่า หากได้รับการผ่อนผันแล้วจะกลับมาเข้ารับการเกณฑ์ทหารเมื่อใด บ่งชี้ให้เห็นว่า เขาไม่มีเจตนาจะกลับมารับใช้ชาติ และให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าส่วนตัวมากกว่าการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ

แถลงการณ์ของกระทรวง MinDef ระบุด้วยว่า ครอบครัวของเดวิสยื่นคำร้องขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร และได้รับแจ้งว่ากระทรวงฯ ไม่รับคำร้องของเขาตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมา แต่เดวิสยังเดินหน้าเซ็นสัญญา 2 ปีกับสโมสรฟูแลมของอังกฤษในวันที่ 29 มิ.ย.

ขณะที่สเตรทไทม์ส สื่อสิงคโปร์ รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ ฮาร์วีย์ เดวิส บิดาของเบน เดวิส ชาวอังกฤษที่ได้สัญชาติสิงคโปร์เช่นกัน ระบุว่าเขาไม่สามารถระบุวันเวลาที่ชัดเจนที่ลูกชายจะกลับมาเกณฑ์ทหารได้ เพราะต้องรอดูว่าจะมีการต่อสัญญากับสโมสรฟูแลมหรือไม่ แต่ไม่เคยมีความคิดให้ลูกชายปฏิเสธการเกณฑ์ทหาร อีกทั้งลูกชายคนโต ซึ่งเป็นพี่ชายของเบนก็เกณฑ์ทหารไปแล้ว

ในกรณีของเบน ทางครอบครัวเพียงแต่อยากจะขอให้เขากลับมารับใช้ชาติในเวลาที่เหมาะสม โดยอยากขอผ่อนผันจนถึงเดือน พ.ค. 2563 เพื่อให้หมดสัญญากับสโมสรฟูแลมเสียก่อน พร้อมระบุว่า การเกณฑ์ทหารสำหรับเบนจะเป็นการสูญเสียโอกาสครั้งใหญ่ในชีวิตของเขา และถ้าจำเป็นจริงๆ ก็อาจจะให้ลูกชายสละสัญชาติสิงคโปร์ แต่ไม่มีใครอยากให้เรื่องเช่นนั้นเกิดขึ้น 

รับใช้ชาติไม่จำเป็นต้องเกณฑ์ทหารอย่างเดียว?

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เบน เดวิส เป็นนักฟุตบอลจากประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนแรกที่ได้รับเลือกให้เซ็นสัญญากับสโมสรฟุตบอลอังกฤษในชั้นพรีเมียร์ลีก ทั้งยังเป็นเยาวชนอนาคตไกลที่ติดอันดับ 169 นักฟุตบอลที่น่าสนใจทั่วโลก จากการรวบรวมสถิติของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า)

จากกรณีดังกล่าว ทำให้ชาวสิงคโปร์อย่างน้อย 3,643 คนลงชื่อในแคมเปญออนไลน์ เรียกร้องให้รัฐบาลสิงคโปร์ผ่อนผันการเกณฑ์ทหารให้แก่เบน เดวิส โดยระบุว่าการเปิดโอกาสให้เดวิส ซึ่งเป็นประชากรสิงคโปร์ ได้ไปร่วมเตะในสโมสรระดับโลก เป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติเช่นกัน ทั้งยังจะช่วยให้ผู้ที่มีความสามารถอย่างเบนได้รับประสบการณ์ที่มีประโยชน์ในเวทีต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม กระทรวง MinDef ของสิงคโปร์ยืนยันว่า การรับใช้ชาติหรือการสร้างชื่อเสียงแก่ประเทศชาติ ควรเป็นไปในนามของ 'ทีมชาติสิงคโปร์' เพราะที่ผ่านมามีนักกีฬาทีมชาติสิงคโปร์ 3 ราย ได้รับการผ่อนผันเกณฑ์ทหาร รวมถึงโจเซฟ สกูลลิง นักกีฬาว่ายน้ำที่คว้าเหรียญทองแรกให้แก่สิงคโปร์จากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่นครรีโอเดจาเนโรของบราซิลเมื่อปี 2559 แต่กรณีของเดวิสไม่เข้าข่ายนั้น เพราะเป็นการแสวงหาโอกาสในนามของสโมสรฟุตบอลต่างชาติ 

ทั้งนี้ พลเมืองสิงคโปร์ที่ไม่ได้เข้ารับเกณฑ์ทหารตามกรอบเวลาที่รัฐบาลกำหนด ถือว่ามีความผิด มีบทลงโทษสูงสุด คือ จำคุก 3 ปี และปรับเงิน 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์

ประเทศไหนบ้างที่ยังมีการเกณฑ์ทหาร?

ในหลายประเทศ ภาระหน้าที่ 'รับใช้ชาติ' ของประชากรเพศชาย ยังผูกติดอยู่กับการเข้าร่วมกองทัพ ปฏิบัติหน้าที่ด้านความมั่นคง โดยข้อมูลของ World Atlas ระบุว่าขณะนี้มี 26 ทั่วโลกที่ยังมีการเกณฑ์ทหาร ได้แก่ อาร์เมเนีย ออสเตรีย เบลารุส อาเซอร์ไบจัน เบอร์มิวดา บราซิล เมียนมา ไซปรัส เดนมาร์ก อียิปต์ ฟินแลนด์ กรีซ อิหร่าน อิสราเอล เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ เม็กซิโก นอร์เวย์ รัสเซีย สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ จีน ตุรกี ยูเครน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และ 'ไทย'  

อย่างไรก็ตาม หลายประเทศก็มีความเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนระบบเกณฑ์ทหารเป็นการสมัครรับใช้ชาติด้วยตัวเอง แม้แต่เกาหลีใต้ ซึ่งยังไม่ได้ประกาศยุติสงครามกับเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการ ก็ยังมีการเสนอให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกระบบเกณฑ์ทหารเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นผลจากที่ผู้นำเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือได้เจรจาเพื่อหาแนวทางยุติความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีร่วมกันเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา

อีกสาเหตุหนึ่งที่ประชาชนเกาหลีใต้บางส่วนเรียกร้องให้ยกเลิกระบบบังคับเกณฑ์ทหาร เพราะเคยมีเหตุละเมิดสิทธิและทำร้ายร่างกายพลทหารเกินกว่าเหตุจนถึงขั้นเสียชีวิตมาแล้วหลายรายช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ส่วนอีกประเทศที่มีการรณรงค์ให้ยกเลิกระบบเกณฑ์ทหารเมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา คือ ประเทศหมู่เกาะเบอร์มิวดา แต่ก็มีผู้คัดค้านว่า การยกเลิกเกณฑ์ทหารจะทำให้ประชากรเพศชายที่ฐานะยากจนขาดโอกาสที่จะยกระดับทางการศึกษาและอาชีพการงาน

แต่ไม่มีรายงานบ่งชี้ว่า ประเทศต่างๆ ที่มีการเกณฑ์ทหารเหล่านี้มีธรรมเนียม 'ขอยืมตัวพลทหาร' ไปปฏิบัติหน้าที่รับใช้ในบ้านพักนายทหารระดับสูงเหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยหรือไม่

ที่มา: BBC/ ERR/ Korea Herald/ Strait Times/ Reuters/ World Atlas

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: