ไม่พบผลการค้นหา
สดร.เผยคืนวันที่ 3 ธ.ค. นี้ ดวงจันทร์เต็มดวงปรากฏในตำแหน่งใกล้โลก จะมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย หรือเรียกว่า 'ซูเปอร์ฟูลมูน' โดยสามารถดูด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยคืนวันที่ 3 ธันวาคม 2560 ดวงจันทร์เต็มดวงปรากฏในตำแหน่งใกล้โลกที่ระยะห่าง 357,973 กิโลเมตร จะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย หรือมักเรียกว่า 'ซูเปอร์ฟูลมูน' (Super Full Moon) ดูได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ ทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:00 น. เป็นต้นไป พร้อมเชิญชวนผู้สนใจเฝ้ารอชมความสวยงามของดวงจันทร์ในคืนดังกล่าว หนุนโรงเรียนในโครงการกระจายโอกาสเรียนรู้ดาราศาสตร์ 77 จังหวัดฯ ที่รับมอบกล้องจาก สดร. จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แก่นักเรียนและชุมชน “ส่องดวงจันทร์ดวงโต” แบบเต็มตาผ่านกล้องโทรทรรศน์

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ในคืนวันที่ 3 ธันวาคม 2560 ดวงจันทร์เต็มดวงจะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลกที่ระยะห่างประมาณ 357,973 กิโลเมตร คืนดังกล่าวจะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย นอกจากนี้ยังมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าขณะอยู่ไกลโลกมากที่สุดประมาณ 14% และมีความสว่างมากกว่าประมาณ 30% หรือเรียกว่า 'ซูเปอร์ฟูลมูน' (Super Full Moon) สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก หลังดวงอาทิตย์ตก ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:00 น. เป็นต้นไป 

ตามปกติดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี 1 รอบใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ดังนั้นในแต่ละเดือนจะมีตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดเรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะทางเฉลี่ย 356,400 กิโลเมตรและตำแหน่งที่ไกลโลกที่สุดเรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 406,700 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงที่โตกว่าปกติเล็กน้อยในคืนที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้โลก นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ และแม้ว่าดวงจันทร์จะมีตำแหน่งโคจรเข้าใกล้โลกทุกเดือน แต่ดวงจันทร์ไม่ได้ปรากฏเต็มดวงทุกครั้ง 

แม้ว่าในครั้งนี้จะเป็นดวงจันทร์เต็มดวงที่ใหญ่ที่สุดในปี 2560 แต่ในวันที่ 2 มกราคม 2561 อีกหนึ่งเดือนนับจากนี้ ดวงจันทร์เต็มดวงจะอยู่ใกล้โลกกว่านี้ที่ระยะห่างประมาณ 356,595 กิโลเมตร ทำให้มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าครั้งนี้อีกเล็กน้อย วันดังกล่าวจะเป็นซูเปอร์ฟูลมูนที่ใหญ่ที่สุดในปี 2561 ดร.ศรัณย์กล่าว

การที่เรามองเห็นดวงจันทร์ขณะอยู่บริเวณใกล้ขอบฟ้าแล้วรู้สึกว่ามีขนาดปรากฏใหญ่กว่าตำแหน่งอื่น ๆ บนท้องฟ้า แท้จริงแล้วเป็นเพียงภาพลวงตาที่เรียกว่า Moon Illusion เนื่องจากบริเวณขอบฟ้ามีวัตถุให้เปรียบเทียบขนาด เช่น ภูเขา ต้นไม้ อาคาร เป็นต้น แต่บริเวณกลางท้องฟ้าไม่มีวัตถุใดมาเปรียบเทียบขนาด ทำให้ความรู้สึกในการมองดวงจันทร์บริเวณกลางฟ้าดูมีขนาดเล็กกว่าปกติ 

ขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมชมความสวยงามของดวงจันทร์ในคืนดังกล่าว โดยเฉพาะโรงเรียนในโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ 77 จังหวัด เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า ที่รับมอบกล้องโทรทรรศน์จาก สดร. รวมถึงโรงเรียนอื่น ๆ ที่สนใจใช้โอกาสนี้จัดกิจกรรมเรียนรู้นอกห้องเรียน เชิญชวนนักเรียนและชุมชนรอบข้างร่วมสังเกตการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก ส่องจันทร์ดวงโตแบบเต็มตาผ่านกล้องโทรทรรศน์ ในคืนดังกล่าว ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ได้เป็นอย่างดี ดร.ศรัณย์กล่าวปิดท้าย

7055469113347.jpg

ภาพเปรียบเทียบขนาดปรากฏและความสว่างของดวงจันทร์เต็มดวง ขณะอยู่ไกลโลกมากที่สุด (ซ้าย) กับ ใกล้โลกมากที่สุด (ขวา) ดวงจันทร์เต็มดวงขณะอยู่ใกล้โลกมากที่สุดจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าขณะอยู่ไกลโลกมากที่สุดประมาณ 14% และมีความสว่างมากกว่าประมาณ 30%

947190.jpg

ภาพแสดงตำแหน่งดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุด (Perigee) และ ตำแหน่งดวงจันทร์ไกลโลกที่สุด (Apogee)