ไม่พบผลการค้นหา
สื่อต่างประเทศชี้ ไทยห้ามจัดเสวนาเรื่องการนำตัวนายพลเมียนมาขึ้นศาลอาญาโลกกรณีโรฮิงญา สะท้อนภาพสื่อไม่เสรี ขณะที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศออกแถลงการณ์ระบุ ไทยมีปฏิกิริยารุนแรงเกินไป และนับเป็นการห้ามจัดงานครั้งที่ 6 นับตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา

สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ออกแถลงการณ์ชี้แจงหลังเกิดกรณีตำรวจจาก สน.ลุมพินี นำกำลังไปยัง FCCT ช่วงเย็นวานนี้ (10 ก.ย.) พร้อมสั่งให้ FCCT ยกเลิกจัดงานเสวนาเกี่ยวกับการนำตัวนายพลเมียนมาเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC)

เนื้อหาในแถลงการณ์ของ FCCT ระบุว่า กิจกรรมดังกล่าวจะพูดถึงรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะทำงานอิสระของสหประชาชาติว่าด้วยการหาความจริงกรณีชาวโรฮิงญาในเมียนมา ซึ่งมีการรวบรวมข้อมูลและประเมินผลอย่างละเอียด พร้อมเสนอให้ดำเนินคดีนายพลเมียนมาในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ 

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยกลับระบุว่า "การจัดกิจกรรมกรณีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรืออาจจะมีบุคคลที่ไม่หวังดีอาจฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้เกิดความวุ่นวาย ซึ่งเป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่งกับสถานการณ์ในปัจจุบันนี้"

ทาง FCCT ยืนยันว่าจากประสบการณ์ 62 ปีที่มีการจัดงานเสวนาและแสดงความคิดเห็นที่ FCCT รวมถึงการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศเมียนมาอีกหลายครั้ง ไม่เคยมีกิจกรรมใดที่นำไปสู่ความปั่นป่วนหรือการก่อความไม่สงบ แต่กลับเป็นหนทางสร้างความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นภายในประเทศดังกล่าวมากยิ่งขึ้นด้วยซ้ำ 

สมาชิกของ FCCT ซึ่งเป็นสื่อมวลชนจำนวนมากมีความเห็นว่า ปฏิกิริยาของทางการไทยนั้นรุนแรงเกินไป ทั้งยังไม่เป็นผลดีกับสถานการณ์สื่อในประเทศไทย ซึ่งถูกมองว่าไม่มีเสรีภาพ ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะครั้งหนึ่งไทยเคยได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีเสรีภาพสื่อมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการสั่งยกเลิกกิจกรรมของ FCCT เมื่อวานนี้ ถือเป็นครั้งที่ 6 ในรอบกว่า 4 ปี นับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อปี 2557


มินอ่องหล่ายน์พบธารไชยยันต์

(พล.อ.อาวุโสมินอ่องหล่ายน์ ผบ.สส.แห่งเมียนมา เข้าพบ พล.อ.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผบ.สส.ของไทย และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อเดือน ก.พ. 2561 - ภาพจากเฟซบุ๊ก senior general min aung hlaing)

มินอ่องหล่ายน์พบเปรม

นอกจากนี้ สื่อต่างประเทศหลายสำนัก ทั้งเอพี/วอชิงตันโพสต์ เบอร์นามา/สเตรทไทม์ส วีโอเอ และ ฟ็อกซ์นิวส์ รายงานว่าการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับเมียนมาในประเทศไทยถูกระงับด้วยคำสั่งของทางการไทย โดยเบอร์นามา/สเตรทไทม์สรายงานด้วยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกองทัพเมียนมาและไทยนั้นเป็นไปด้วยดี

ขณะที่นายคิงส์ลีย์ แอ็บบอตต์ ที่ปรึกษาอาวุโสของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) หนึ่งในผู้ที่มีชื่อร่วมงานเสวนาซึ่งถูกยกเลิกไป ระบุว่า ประเด็นโรฮิงญาและเมียนมา ถือเป็นเรื่องใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในฐานะที่ไทยเป็นทั้งสมาชิกอาเซียนและประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา น่าจะมีบทบาทนำในการกล่าวถึงปัญหานี้

"การตัดสินใจของทางการไทยที่สั่งยกเลิกกิจกรรมนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความผิดหวังครั้งใหญ่ แต่ยังเป็นการสูญเสียโอกาสที่จะหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาค เพื่อหาแนวทางที่น่าเชื่อถือและเป็นไปได้ในการจัดการเรื่องดังกล่าวด้วย"

นอกเหนือจากนายแอ็บบ็อตต์ ยังมีผู้ที่จะต้องเข้าร่วมเสวนาคนอื่นๆ อีก โดยรวมถึง ทุนคิน ประธานองค์กรโรฮิงญาพม่าในอังกฤษ และนายกอบศักดิ์ ชุติกุล อดีตทูตและ ส.ส. ที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการคณะที่ปรึกษานานาชาติว่าด้วยโรฮิงญาในเมียนมา ซึ่งแต่งตั้งโดยนางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา แต่ทั้งสองรายไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อถึงกรณีที่เกิดขึ้น

ภาพปกจากเฟซบุ๊ก FCCT

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: