ไม่พบผลการค้นหา
ข้อเสนอเรื่องการปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากรของคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากร ที่มี 'กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์' ประธานอนุกรรมการ สร้างแรงสั่นสะเทือนตั้งแต่กลางซอยอารีย์ (กรมสรรพากร) ไปจนถึงริมคลองประปา ถนนพระราม 6 (กระทรวงการคลัง) เพราะหลังจากมีการแถลงข่าวไป ก็มีบรรดาเพจชื่อดังต่าง ๆ ช่วยกันกระพือข่าว ในทำนองว่า ข้อเสนอจะนำไปสู่การ 'ปฏิบัติจริง' และจะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 อย่างแน่นอน

แต่เมื่อลองไล่เรียงดูข้อเสนอ จะเห็นว่า อนุกรรมการฯ ชุดนี้ มีการเสนอว่า จะ 'ขยายฐานภาษี' ให้ประชาชนคนไทยทุกคนมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นับตั้งแต่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป (ไม่ว่ามีรายได้เท่าไหร่ก็ต้องยื่น จากเดิมรายได้ไม่เกิน 120,000 บาทต่อปี ไม่ยื่นก็ได้)

พร้อมเสนอให้มีการปรับปรุง 'ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา' โดยจำแนกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 

  • เงินได้จากน้ำพักน้ำแรง ประกอบด้วย เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) (2) (6) แห่งประมวลรัษฎากร 
  • เงินได้จากทรัพย์สินและการลงทุน ประกอบด้วย เงินปันผลและดอกเบี้ย 
  • เงินได้จากธุรกิจและอื่น ๆ พร้อมกับเสนอให้หักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น จากปัจจุบันที่หักได้ไม่เกิน 100,000 บาท

ที่สำคัญ ยังเห็นว่า ควรมีการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงจากปัจจุบันสูงสุดร้อยละ 35 ให้อยู่ระดับร้อยละ 25 เพื่อให้มีระดับใกล้เคียงกับภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เสียอยู่ร้อยละ 20 ขณะเดียวกันก็ให้ขยายช่วงเงินได้แต่ละอัตราให้กว้างขึ้น เพื่อช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยที่ยังไม่พร้อมจะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล

เท่านั้นไม่พอ อนุกรรมการฯ ยังเสนอให้ปรับปรุง 'ภาษีนิติบุคคล' ให้มีอัตราภาษี รวมภาระภาษีต่างๆ แล้วไม่เกินร้อยละ 25 โดยมองว่าปัจจุบัน ภาษีนิติบุคคลร้อยละ 20 เมื่อรวมกับภาษีเงินปันผลอีกประมาณร้อยละ 10 คำนวณออกมาแล้ว ทำให้มีภาระภาษีรวมกันที่ประมาณร้อยละ 28 โดยกลุ่มบริษัทเดียวกัน อนุกรรมการฯ ก็เห็นว่า ควรมีสิทธิคำนวณกำไรเสียภาษีรวมแบบกลุ่ม เพื่อเป็นการป้องกันการถ่ายโอนราคา เพื่อเสียภาษีให้น้อยลง 

นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ควรกำหนดอัตราภาษี ณ ที่จ่าย เพียงอัตราเดียวสำหรับเงินได้ทุกประเภท และปรับวงเงินขั้นต่ำ ที่จะต้องหักภาษี เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระของผู้จ่ายเงินได้ 

ชงขยายวงเงินรายได้ขั้นต่ำผู้จด VAT เป็น 10 ล้านบาทขึ้นไป แทน 1.8 ล้านบาท

ส่วน 'ภาษีมูลค่าเพิ่ม' หรือ VAT นั้น ทางอนุกรรมการฯ เสนอว่า ควรขยับเพิ่มวงเงินรายได้ขั้นต่ำของผู้ที่ต้องจดทะเบียนภาษี VAT เป็นเมื่อมีรายได้เกิน 10 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป จากเดิมกำหนดไว้ที่ 1.8 ล้านบาทต่อปี เพื่อแก้ปัญหาการหลีกเลี่ยงการจดทะเบียน VAT 

"ปัจจุบัน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีรายได้อยู่ปีละ 7-8 ล้านบาท ซึ่งควรกำหนดให้ผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่ถึง 10 ล้านบาท ไม่ต้องจดทะเบียนภาษี VAT แต่ต้องเสียภาษีจากการขายจากรายรับร้อยละ 2 แทน" กิติพงศ์กล่าว

นอกจากนี้ ยังเสนอให้ยกเลิกการยกเว้นภาษี VAT ให้กิจการบางประเภท เช่น บริการสอบบัญชี, รับว่าความ, โรงเรียนกวดวิชา, นักแสดง เป็นต้น

'กิติพงศ์' ยังเสนอว่า ควรยกเลิกจัดเก็บ "ภาษีธุรกิจเฉพาะ" ที่เก็บอัตราร้อยละ 0.1 จากรายรับจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และ ยังควรยกเลิกการเก็บ "อากรแสตมป์" ทั้งหมด เนื่องจากซ้ำซ้อนกับการเก็บภาษีประเภทอื่น แถมมีจำนวนน้อย และมีค่าใช้จ่ายในการติดตามตรวจสอบสูงกว่าภาษีที่จัดเก็บได้

ทั้งหมดนี้ หวังให้คนไทยเข้ามาอยู่ในระบบภาษีมากขึ้นได้ถึง 35 ล้านคน จากปัจจุบัน กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีการยื่นแบบฯ ประมาณ 10 ล้านคน แต่เสียภาษีจริงๆ ประมาณ 3 ล้านคนเท่านั้น

โดยข้อเสนอเหล่านี้ 'กิติพงศ์' ระบุว่า จะใช้เวลาแก้ไขประมวลรัษฎากรให้แล้วเสร็จภายในไม่เกิน 5 เดือน เพื่อให้บังคับใช้ได้ทันในช่วงรัฐบาลชุดปัจจุบันนี้ หรือ ให้มีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2562 นั่นเอง

ใครที่ได้ฟังคำประกาศดังกล่าว ก็ต้องรู้สึกว่า "มีความเป็นไปได้" เพราะคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากรชุดดังกล่าว อยู่ภายใต้คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน (Thai Law Reform) ที่มีขาใหญ่ด้านกฎหมายอย่างนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นั่งเป็นประธานอยู่

แถมในคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน ที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามแต่งตั้งขึ้น ยังมีกรรมการ/ที่ปรึกษา ที่เป็นคนระดับรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ถึง 3 คน ได้แก่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมว.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

สรรพากรตั้งทีมศึกษา มุ่งเข็นร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประมวลรัษฎากรรองรับอีเพย์เมนต์ก่อน

และเมื่อผู้สื่อข่าว มีการสอบถาม 'เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ' อธิบดีกรมสรรพากร บอกว่า ทางกรมสรรพากรจะตั้งทีมขึ้นมาศึกษา โดยจะนำข้อเสนอของทางอนุกรรมการฯ มาพิจารณาอีกที อย่างไรก็ดี ช่วงนี้ กรมสรรพากรอยากผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ. …. เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (กฎหมาย e-Payment) ให้ผ่านให้ได้ก่อน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 

"อยากให้กฎหมายอีเพย์เมนต์ผ่าน เพราะชาติอื่น ๆ เขามีกันหมดแล้ว โดยต้องยอมรับว่าปัจจุบันคนหลบกันหมด ซึ่งฐานข้อมูลจะเป็นตัวสำคัญ ถ้าเราได้ฐานข้อมูลมาเราก็วิเคราะห์เพื่อเก็บภาษีได้" นายเอกนิติกล่าว

จากนั้น ล่าสุด (27 ก.ย.) ทางกรมสรรพากร ก็ส่งข่าวชี้แจงว่า "ตามที่มีข่าวเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ เรื่องการปฏิรูปภาษีสรรพากรแบบใหม่ทั้งระบบ พร้อมระบุว่า จะนำมาปรับใช้ภายในปี 2562 นั้น

กรมสรรพากรชี้แจงว่า ข้อความตามที่เผยแพร่ดังกล่าว เป็นเพียงข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากรที่ได้มีการจัดสัมมนา เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่มีผลตามกฎหมายและไม่ได้มีผลบังคับใช้ ในปี 2562"

รวมถึงนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ที่ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ว่า กระทรวงการคลังยังไม่ได้พิจารณาข้อเสนอดังกล่าว โดยเห็นว่า หากจะลดภาษี ก็ต้องมีปรับเพิ่มในส่วนอื่นด้วย ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่รู้จะไปปรับขึ้นภาษีส่วนไหนทดแทนได้ เพราะการขยายฐานภาษีก็ยังไม่ชัดเจน อย่างที่ผ่านมาการที่ทำมาตรการบัญชีเล่มเดียว ที่คิดว่าจะขยายฐานภาษีได้ สุดท้ายก็ยังขยายไม่ได้มาก

ทั้งหมดนี้ น่าจะเป็นเพียงการ "โยนหินถามทาง" มากกว่าจะเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติ