ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุมใหญ่พรรครวมพลังประชาชาติไทย มีมติเลือก ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นหัวหน้าพรรค ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้เสนอชื่อทุกตำแหน่งในพรรค เชื่อพรรคได้เป็นรัฐบาลแน่นอน ระบุขอไม่รับตำแหน่ง แต่พร้อมอยู่เบื้องหลังร่วมขึ้นปราศรัยทุกเวที
รวมพลังประชาชาติไทย.JPG

การประชุมผู้ร่วมจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) มีมติเลือกกรรมการบริหารพรรคชั่วคราว ตามรายชื่อที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคฯ เสนอในการประชุม ได้แก่ หม่อมราชวงศ์ จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นหัวหน้าพรรค, นายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง เลขาธิการพรรค, นางสาวจุฑาทัตต เหล่าธรรมทัศน์ เป็นเหรัญญิก, ร.ต.อ. จอมเดช ตรีเมฆ เป็นนายทะเบียนพรรค, พล.ท. นันทเดช เมฆสวัสดิ์, นายวีระชัย คล้ายทอง, นางสุเนตตา แซ่โก๊ะ เป็นกรรมการบริหารพรรค

ส่วนนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่ได้รับการเสนอชื่อจากผู้ร่วมจัดตั้งพรรคคนอื่นๆ ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ขอถอนตัวเนื่องจากเห็นว่า ม.ร.ว.จัตุมงคล มีคุณสมบัติที่เหมาะสมมากกว่าตน

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล.JPG

ม.ร.ว. จัตุมงคล กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน ทำให้พรรคการเมืองเดียวชนะการเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดี่ยวเป็นไปได้ยาก ดังนั้นจึงมีว่าโอกาสที่จะได้ร่วมรัฐบาลเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งหน้าเสมือนการเลือกนายกรัฐมนตรี ตนคิดว่าประชาชนจะเลือก ส.ส. จากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรค ไม่ปฏิเสธว่าอนาคตจะใส่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงไปใน 3 รายชื่อหรือไม่ แต่ส่วนตัวรับได้ ถ้าวันหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จะบอกว่าเป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร ยอมรับว่าหากไม่มี กปปส. ก็ไม่มีวันนี้ เพราะพรรค รปช. มีฐานมาจาก กปปส. 

ส่วนการจะร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐหรือประชาธิปัตย์หรือไม่ ยังไม่เห็นว่ามีอะไรขัดกัน แต่สำหรับพรรคเพื่อไทย ยังไม่แน่ใจว่าถึงตอนนั้นพรรคเพื่อไทยจะยังอยู่หรือไม่ เพราะอาจจะมีสมาชิกย้ายไปร่วมพรรคอื่น หรือแยกไปจัดตั้งพรรคเป็นของตัวเอง

นอกจากนี้การประชุมผู้ร่วมจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย มีผู้เข้าประชุม 339 คน ยังให้ความเห็นชอบชื่อ ชื่อย่อ เครื่องหมายพรรค นโยบายพรรค และอุดมการณ์ทางการเมือง 7 ข้อ ได้แก่

1. เทิดทูนและพิทักษ์ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

2. ยึดมั่นระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอันผสานกับหลักธรรมของศาสนาทั้งปวงเป็น ธรรมาธิปไตย

3. สร้างพรรคการเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของพรรคอย่างแท้จริง

4. มุ่งมั่นปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ความดีงามในทุกด้าน

5. รักชาติ ภาคภูมิใจในความเป็นไทย

6. น้อมนําปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชาเป็นหลักชัยในการพัฒนา ประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

7. มุ่งมั่นสงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ประเทศไทยมี สิ่งแวดล้อมที่ดี สมบูรณ์ สมดุล และยั่งยืน

หลังจากนี้จะนำรายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรคยื่นจัดตั้งพรรคต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนจะมีการประชุมสมัชชาใหญ่ เพื่อลงมติรับรองกรรมการบริหารพรรค และนโยบายพรรคต่อไป

สุเทพ เทือกสุบรรณ.JPG

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) เชื่อว่า พรรคจะได้เป็นรัฐบาล เนื่องจากเป็นพรรคของประชาชน และจะได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนเป็นแสนๆ พรรคต่างๆ อยากเป็นเพื่อนเป็นพันธมิตรด้วย ขณะเดียวกันในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้จะไม่มีพรรคใดได้รับเสียงข้างมากจนจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ และถึงตอนนั้นจะมีพรรคการเมืองมาทาบทามอย่างแน่นอน

“ผมเชื่อมั่นว่าพรรคเราได้เป็นรัฐบาลอย่างแน่นอน ถ้าเป็นพรรคของประชาชน มีเสียงเป็นแสนๆ คน ใครก็อยากเป็นเพื่อนด้วย ผมเชื่อว่าจะไม่มีพรรคใดได้รับการเสียงข้างมากเป็นรัฐบาล และถึงตอนนั้นจะรอรับขันหมากได้เลย” นายสุเทพ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายสุเทพ ย้ำว่า ยังรักษาคำพูดที่เคยกล่าวไว้ คือ จะไม่รับตำแหน่งใดๆ ในพรรค ไม่เป็นหัวหน้า เลขาธิการ กรรมการ หรือไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งแบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ โดยจะเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานและเป็นพี่เลี้ยงสอนนักการเมืองรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตามขอใช้สิทธิ์ในฐานะที่เป็นผู้ร่วมจัดตั้งพรรค ในฐานะเจ้าของพรรคคนหนึ่ง เพื่อขึ้นเวทีปราศรัยทุกเวที ภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ร่วมกับพี่น้องประชาชนที่มีอุดมการทั้งหลาย ซึ่งการทำพรรคการเมืองครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตน แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อรับใช้ประเทศชาติ ประชาชนและแผ่นดิน

นอกจากนี้นายสุเทพ ชี้แจงว่า แกนนำพรรคจัดคาราวานและเวทีปราศรัยเคลื่อนที่ออกไปพบปะประชาชน เพื่อเชิญชวนคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันมาร่วมเป็นเจ้าของพรรค ตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน แต่ไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เนื่องจากอาจขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 จึงไม่สามารถเดินทางไปได้ครบ 77 จังหวัดภายใน 78 วันตามเป้าหมาย และสามารถจัดการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคการเมืองได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดตั้งสาขาพรรค ที่ทำการพรรค และการทำไพรมารีโหวต ดังนั้นจึงต้องมีการประชุมเพื่อยื่นจดจัดตั้งพรรคการเมืองกับ กกต. ให้สมบูรณ์เสียก่อน