ไม่พบผลการค้นหา
การเคลื่อนไหวทางสังคมที่เขย่าวงการโลก เมื่อมีคนกล้าออกมาพูดถึงการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทำไม TIME ถึงยกย่องให้เป็นกลุ่มบุคคลแห่งปี

ทุกปีนิตยสารไทมส์จะเลือกบุคคลแห่งปีเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก ปีนี้ไทมส์ยกให้กลุ่มคนทั้งชายและหญิงที่กล้าออกมาเปิดเผยตัวเองว่าเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ให้เป็นบุคคลแห่งปี 2017 ภายใต้ชื่อว่า The Silence Breakers ซึ่งบุคคลเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหวผ่านแฮชแท็ก #MeToo 

เกิดอะไรขึ้นเมื่อกลุ่มคนที่เป็น "เหยื่อ" เลือกที่จะ"ไม่เงียบ"อีกต่อไป จากความที่อายและหวาดกลัว ทำไมพวกเธอถึงเลือกเปลี่ยนเป็น"ความกล้า"คนดังที่ร่วมขึ้นปกนี้อย่างแอชลีย์ จัดด์ นั้นเป็นหนึ่งในผู้เสียหายรายแรกๆที่กล้าออกมาเปิดเผยตัวเองว่าเคยถูกไวน์สตีนล่วงละเมิดทางเพศ ถึงเวลาแล้วที่ต้องออกมาพูดหรือยัง?

ต้องมี"พื้นที่ปลอดภัย"เพื่อให้เหยื่อกล้าพูดความจริง

ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวีพูดคุยกับดร.วาสนา อิ่มเอม ผู้ช่วยผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNFPA) กล่าวถึงการมอบรางวัลของไทมส์ ว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้สังคมจระหนักกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งแอชลีย์ จัดด์ หนึ่งในผู้เปิดประเด้นก็เป็นทูตของ UNFPA ให้เห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องน่าอายที่ควรสยบยอม แต่ควรจุดประกายให้ผู้ที่ถูกกระทำกล้าที่จะออกมาพูดความจริง


ลวนลามทางเพศในที่ทำงาน อำนาจที่ไม่เท่ากัน


วาสนากล่าวว่าสำหรับประเทศไทย มีการเก็บข้อมูลของศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือและร้องทุกข์ทั้งด้านสภาพร่างกายที่ถูกทำร้าย ที่พักพิง และการดำเนินคดีอาญาว่ามีถึง 20,000 รายที่ถูกกระทำ ซึ่งคนที่กระทำเกินครึ่งเป็นคนใกล้ชิดอย่างแฟนหรือสามี รองลงมาคือเพื่อนบ้านและเพื่อน แต่ตัวเลขเหล่านี้ยังแค่สะท้อนยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหาไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเป็นเพียงข้อมูลที่จัดเก็บได้

ส่วนข้อมูลของ UNFPA มีการจัดเก็บเมื่อ 11 ปีก่อนพบว่า ร้อยละ44 ของกลุ่มผู้หญิงอายุ 15-19ปียอมรับว่าถูกล่วงละเมิดทางร่างกายหรือจิตใจซึ่งกลุ่มคนใกล้ชิดเช่นแฟนหรือสามีก็เป็นกลุ่มที่กระทำมากที่สุด ร้อยละ29 ถูกทำร้ายร่างกายตั้งแต่การตบหน้าจนไปถึงการเอาบุหรี่จี้ ร้อยละ 28ของกลุ่มตัวอย่างถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ในแบบที่ไม่ได้ยินยอม วาสนากล่าวว่าสถิติดังกล่าวมีแต่จะสูงขึ้นในทุกปี


Work-Life_Balance_with_CEOs_Styles_20170403_08.jpg


วาสนาชี้ว่าทุกคนล้วนเป็นเหยื่อได้หมด ไม่ใช่การตัดสินว่าคนที่ไม่การศึกษาสูง ฐานะดีจะไม่ตกเป็นเหยื่อ แต่ที่เป็นภัยเงียบเพราะคนที่เป็นเหยื่อไม่กล้าออกมาพูดเนื่องจากสังคมยังไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้เขาออกมาพูดความจริง สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือกลุ่มผู้ชายต้องเป็นคนที่ร่วมผลักดันให้เกิดความกล้าที่จะพูดออกมาด้วย และสังคมควรจะลดการตัดสินคนอื่นแต่เพียงผิวเผินลงเสียก่อน

ปัญหาเรื่อง "ภาวะการยินยอม" (Consent) นั้นเป็นสิ่งใหม่สำหรับสังคมไทย วาสนาชี้ว่าบางครั้งการที่ยอมออกไปเดทด้วยไม่ได้แปลว่าอนุญาติให้เข้ามาล่วงละเมิดทางเพศตราบใดที่ไม่ได้เกิดจากการยินยอมของทั้งสองฝ่าย เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งปฏิเสธจะต้องหยุดการกระทำดังกล่าว หลายครั้งการล่วงละเมิดก็เกิดจากปัญหาการดื่มสุราด้วยเช่นกัน

สิ่งที่ทำให้ปัญหายังคงวนเวียนคืออะไร?วาสนากล่าวว่าเพราะความพึ่งพิงทางสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่งทำให้อีกฝ่ายอยู่ในสภาวะจำทน เช่น อาจจะต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจ หรือโครงสร้างอำนาจ หรือการที่มีครอบครัวร่วมกันทำให้ต้องอดทนถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดก็คือการที่จะทำให้เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเงียบ ต้องเปิดพื้นที่ให้พวกเขาเหล่านี้ได้บอกเล่าออกมา