ไม่พบผลการค้นหา
‘ศิริกัญญา’ ซัดโครงการเงินดิจิทัลบอก “ขายผ้าเอาหน้ารอด” เหน็บนายกฯ เลิกพูดเศรษฐกิจวิกฤตหลัง ป.ป.ช. เป่ากระหม่อม แซะ ‘เศรษฐา’ เป็นนายกฯ พาร์ทไทม์ ชี้รัฐบาลคุยจีนอย่างไร ในขณะที่พี่ใหญ่กำลังรุกคืบขยายตลาด

วันที่ 3 เม.ย. ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ในญัตติการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตาม ม.152 ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในธีม “ปัญหาเฉพาะหน้ารอได้ ปัญหาระยะไกลไม่เห็นทางออก” ว่า รัฐบาลขยันแถลงผลงานมากมาย หลายโครงการที่อยู่ในระดับที่ขับเคลื่อนส่งเสริม เร่งรัด แต่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมก็เอามาบรรจุเป็นผลงานไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหลายเรื่องนั้นเล็กน้อยมาก จนเกิดความสงสัยว่า “เอามาเคลมได้ด้วยเหรอ” เช่น การขยายเวลาการเปิดท่าอากาศยานเชียงใหม่ 24 ชม. ซึ่งตนเข้าใจว่า เป็นเรื่องที่พี่น้องประชาชนตั้งตารออยู่ และผลงานรัฐบาลในระยะเวลา 3-6 เดือนนั้นไม่มีอะไรใหม่ 

ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า การขยายโอกาสยังไม่ต้องพูดถึง จึงเกิดการตั้งคำถามว่า เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีแบบ ‘พาร์ทไทม์’ หรือไม่ เพราะเอาเวลาไปใช้กับการเป็นเซลล์แมนของประเทศ จึงทำให้ไม่มีใครมาบริหารราชการแผ่นดินแบบฟูลไทม์ ดังนั้น สิ่งที่เราเฝ้ารอคือเรื่องของการฟื้นฟู กระตุ้น หรือพยุงเศรษฐกิจให้มันดีขึ้นแต่กลับไม่เห็นในรัฐบาลชุดนี้ 

โดยเรื่องแรกคือ มาตรการลดรายจ่ายของรัฐบาลที่กำลังหมดอายุ พี่น้องประชาชนก็สอบถามว่าการลด ลดไปตั้งแต่ 3 เดือนที่แล้ว จะยังใส่มาทำไม ทำให้หนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เป็นภาระที่ต้องจ่ายเพิ่ม ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป และการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน 1 บาทต่อลิตร หมดอายุไปตั้งแต่ 31 ม.ค. , ลดภาษีน้ำมันดีเซล 1 บาทต่อลิตร ก็จะหมดอายุไป 19 เม.ย. ตนขอให้พี่น้องประชาชนเตรียมตัวรับมือไว้ ทุกวันนี้เราก็ยังตั้งคำถามว่า จะเอาอย่างไรต่อ เรื่องการลดค่าของชีพ โดยไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาระยะยาว เพราะสิ่งที่รัฐบาลลดค่ารายจ่าย มันมีภาระที่เกิดขึ้น เช่น กองทุนน้ำมัน ส่วนเรื่องลดภาษี ดูทรงแล้วก็คงไม่ได้ไปต่อ เพราะ ครม.ไม่อนุมัติ กรมสรรพสามิตก็เก็บภาษีหลุดเป้า 3.2 หมื่นล้านบาท ภาระจึงตกไปอยู่ที่กองทุนน้ำมัน เเล้วก็กู้จนเต็มเพดานไปแล้ว 

“ท่านจะมีแผนการจัดการอย่างไรของสถานะกองทุนน้ำมันจะมีออก พ.ร.บ. ขยายวงเงินกู้กองทุนน้ำมันหรือไม่ แล้วจะมีพื้นที่ทางการคลังเหลืออยู่หรือไม่ เพราะเมื่อกู้แล้ว จะกลายเป็นหนี้สาธารณะ ในเมื่อท่านต้องการกั้นพื้นที่นี้ไว้ทำดิจิทัลวอลเล็ต” ศิริกัญญา กล่าว

ศิริกัญญา ยังกล่าวถึงการดำเนินการทางด้านเศรษฐกิจในระดับโครงสร้างอีกว่า นโยบายฟรีวีซ่าไม่ได้ช่วยอะไรในภาคส่วนการท่องเที่ยว แม้จะบอกว่า “คิดใหญ่ทำเล็ก” แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาที่เราเผชิญกันอยู่ในตอนนี้ หากคิดว่า การที่นักท่องเที่ยวลดลงเป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 เราก็จะให้ฟรีวีซ่าในระยะสั้น แต่เมื่อเรามาดูโครงสร้างจะพบว่า พฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปแล้ว จำนวนที่นั่งในเที่ยวบินนักท่องเที่ยวจากจีนมาไทยลดลง โดนญี่ปุ่นแซงไปแล้ว และยังมีเกาหลีใต้ที่หายใจรดต้นคอ จึงถามว่านโยบาย ‘Tourism Hub’ ของนายกรัฐมนตรีจะช่วยอะไร 

นอกจากนี้ การเจรจาเขตการค้าเสรี (Free Trade Area; FTA) ยังสูญเปล่า เพราะผู้ส่งออกไม่ได้ไปใช้สิทธิ์ หนำซ้ำภาคส่งออกก็ย่ำแย่กว่าประเทศอื่นที่อยู่ในระดับเดียวกัน อยากให้รัฐบาลคิดถึงความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะกับจีนที่กำลังตีตลาด และทำให้ไทยขาดดุลการค้า ส่วนประชาชนก็ก้มหน้าก้มตารับกรรม แต่นายกรัฐมนตรีไปให้สัมภาษณ์ว่าประเทศจีนเป็น “บิ๊กบราเทอร์” และ “ตั่วเฮีย” ย้ำว่า ตนไม่ได้ปกป้องในทุกอุตสาหกรรม แต่ตอนนี้ปลาใหญ่ทยอยกินปลาเล็กไปหมดแล้ว จะคุยกับตั่วเฮียว่ายังไง

ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีบอกว่าเราจะเป็น Last Man Standing เป็นฐานการผลิตสุดท้ายของรถยนต์สันดาป เราเป็นได้ แต่ต้องเตรียมการเพื่อเปลี่ยนผ่าน วันนี้มีแรงงานที่เสี่ยงตกงาน 800,000 คน เรายังคงวนเวียนอยู่กับสินค้าในโลกเก่า กำลังจะตกยุค หรือลดความสำคัญลง แล้วรัฐบาลมีนโนบายรองรับหรือไม่ ตนพยายามหาแล้ว ไม่มีการพูดถึง

“ก็ต้องบอกว่าที่เราผ่านพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจมาได้ ไม่ได้เป็นเพราะรัฐบาลสามารถทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ ไม่ได้เกิดจากการที่พระสยามเทวาธิราชปกป้องหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์องค์ใด แต่เกิดจากองค์กรที่เรียกว่า ป.ป.ช. ที่มาแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจให้กับเรา โดยออกรายงานมาฉบับหนึ่ง เพื่อเป่ากระหม่อมบอกว่าไม่มีวิกฤต จากนั้นรัฐบาลก็เลิกพูดว่ามีวิกฤตเศรษฐกิจทันที” ศิริกัญญา กล่าว

ศิริกัญญา กล่าวว่า การประโคมข่าวร้ายว่าประเทศกำลังวิกฤต ก็เพื่อจะได้ใช้กลไกพิเศษในการกู้เงินไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเท่านั้น ซึ่งในที่สุดก็มีความคืบหน้าเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายละเอียดเป็นครั้งที่ 5 รัฐบาลที่แถลงก็ยิ่งเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะแหล่งที่มาของเงิน ทั้งงบ 67 , กู้ออมสิน , งบผูกพัน 67-68 , พ.ร.บ.เงินกู้ เป็นต้น รอบนี้จะเป็นครั้งที่ 5 คาดว่าน่าจะใช้แหล่งเงินจาก 3 แหล่ง คืองบกลางปี 67 , งบปี 68 และการกู้จาก ธกส. ซึ่งเป็นวิธีที่พิสดารพอสมควร นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนเงื่อนไขไม่หยุด ทั้งคุณสมบัติ ช่องทาง และระยะเวลา 

“ความสับสนอลหม่านแบบนี้ แม้แต่กองเชียร์ก็ยังเหนื่อยที่จะแบกเลย สำหรับแอปพลิเคชัน เปิดฉากมาอย่างเร้าใจ ว่าจะใช้ซูเปอร์แอปฯ บล็อกเชนด้วย ต่อมาบอกไม่เอาแล้ว จะใช้เป๋าตังค์ ทุกวันนี้ได้ข่าวว่ากรุงไทยบอกว่าไม่ทำ อาจจะต้องมีแอพเป็นของตัวเอง …. เอาใจช่วยค่ะ ว่าจะเสร็จทันไตรมาส 4 ของ ปี 67 หรือไม่” ศิริกัญญา กล่าว 

ศิริกัญญา ระบุว่า 3 แหล่งที่มาของงบที่ตนได้ทำนายไว้ เป็นการออกสู่ทะเลไปแล้ว เพราะมูลค่า 5 แสนล้านบาท ก็มาจากการกู้อยู่ดี 

“ต้องยอมรับว่าค่อนข้างเละเทะ จากการที่จะต้องเปลี่ยนแหล่งเงินไปมาประมาณ 5 ครั้ง ยังไม่รู้ว่าจะมีรอบที่ 6 หรือไม่ เลื่อนการแจกอย่างน้อย 4 ครั้ง มีการเปลี่ยนเทคโนโลยีแอปพลิเคชันที่ใช้ เปลี่ยนเรื่องจำนวนคนตลอดเวลา มันทำให้ชวนคิดเขาว่าสรุปแล้วรัฐบาลนี้มีประสบการณ์ในการบริหารประเทศมาก่อนจริงใช่ไหมคะ เรื่องความรู้ความเข้าใจการคลังทำให้ดิฉันตกใจว่าทำไมถึงกล้าออกนโยบายแบบนี้มาได้ และการที่ต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเยอะขนาดนี้ ยิ่งแสดงว่าไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมใดๆ มาตั้งแต่เริ่มต้น ถึงต้องขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ แบบนี้ แล้วท่านก็ขยันแถลงมาก เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้าอาทิตย์เดียว แถลงไปถึง 2 ครั้งโดยที่ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน” ศิริกัญญา กล่าว

ศิริกัญญา กล่าวว่า ประเทศได้รับความเสียหาย เพราะโมเมนตัมหรือพายุหมุนทางเศรษฐกิจจะไม่เกิด คนอาจจะไม่เชื่อมั่น จึงเป็นปัญหาที่ตนคิดว่าไม่ใช่เป็นเพราะนโยบายใดนโยบายหนึ่ง จึงอยากเรียกร้องรัฐบาลเรียกร้องความเชื่อมั่นกลับคืนมาในระบบเศรษฐกิจได้แล้ว ตอนนี้ทำได้ไม่กี่นโยบายก็นิ่งสนิท แล้วยังต้องให้ประชาชนรอไปอีก