วันที่ 25 ก.ย. ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความวิเคราะห์ที่มาของงบประมาณในนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของรัฐบาล ระบุว่า
"ปริศนาทุกอย่างกระจ่างแล้ว! ที่มาของงบดิจิทัลวอลเล็ตจะมาจากการกู้แบงค์รัฐ (ออมสิน) โดยการขยายกรอบวินัยการเงินการคลังขึ้นไปเป็น 45% ของงบปี 67 จากเดิม 32% ไม่ได้มาจากงบประมาณตามที่ได้หาเสียง"
ทั้งนี้ ศิริกัญญา ได้อ้างอิงข้อมูลจากข่าวบนเว็บไซต์ 'กรุงเทพธุรกิจ' ที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลมีแนวคิดขยายกรอบการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณตามมาตรา 28 เป็น 45% จาก 32% ของวงเงินงบประมาณในปี 2567 เพื่อสนับสนุนการดูแลประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น
(https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1090140)
ศิริกัญญา ได้แจกแจงข้อดี-ข้อเสีย ของแนวทางดังกล่าว ประกอบด้วย
ข้อดี: หนี้แบงค์รัฐจะไม่ถูกนับเป็นหนี้สาธารณะตามกฎหมาย
ข้อเสีย:
1) แต่เป็นหนี้ยังไงก็ต้องจ่ายคืน ทุกวันนี้ต้องจ่ายคืนปีละเกือบแสนล้านบาทให้กับธกส. และรัฐวิสาหกิจอื่นๆ อยู่แล้ว ถ้าจ่ายคืนออมสินปีละ 5 หมื่น ก็เป็นภาระไปอีก 10 ปี รวมแล้วงบประมาณต้องใช้คืนหนี้ทั้งหมดก็จะพุ่งไปราว 5 แสนล้าน เบียดบังงบประมาณที่ต้องใช้พัฒนาประเทศอื่นๆ
2) ใช้งบประมาณสูงมากโดยไม่ต้องผ่านสภา ใช้แค่มติครม. ก็สามารถกู้เงินได้ทันที ไม่ต้องมีการตรวจสอบใดๆ การกู้ผ่าน มาตรา 28 ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะทั้งจำนวน หน่วยงานเจ้าหนี้ และภาระการคืนเงินต้นและดอกเบี้ย
3) กระทบกรอบวินัยการเงินการคลัง ที่ต้องการจำกัดการใช้เงินนอกงบ และนโยบายกึ่งการคลังให้น้อยลง
4) สภาพคล่องของออมสินอาจมีปัญหา ทั้งจากการระดมทุนเวลานี้ และหากรัฐไม่ใช้คืนตามสัญญา (ธกส.เจอมาตลอด) จะบริหารเงินสดได้ยากลำบาก
"อยากถามนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการการเงินการคลังของรัฐ ว่าท่านรู้ตัวมั้ยว่ากำลังทำอะไรอยู่" ศิริกัญญา ระบุ