วานนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า คริษฐ์ (สงวนนามสกุล) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 อายุ 18 ปี สมาชิกกลุ่ม “คะน้าราดซอส” เดินทางเข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน สน.พหโยธิน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามประมาวลกฎหมายอาญามาตรา 112 , 116 และข้อหาอื่นๆ รวมทั้งหมด 8 ข้อหา เนื่องจากถูกล่าวหาว่า ขึ้นปราศรัยในเวทีย่อยของการชุมนุมที่ห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.63
ที่มาของคดีนี้เกิดจากการชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว หรือ #ม็อบ2ธันวาไล่จันทร์โอชาออกไป บริเวณห้าแยกลาดพร้าว หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงแต่อย่างใดจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ยังคงพักอาศัยอยู่ในบ้านพักรับรองของกองทัพบกและได้รับสวัสดิการที่เกี่ยวเนื่อง
ก่อนหน้านี้มีผู้ถูกดำเนินคดีนี้แล้วทั้งหมด 6 ราย ได้แก่ เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, ไบรท์ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, ฟ้า พรหมศร วีระธรรมจารี, ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก และ ฮิวโก้ จิรฐิตา (สงวนนามสกุล) อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยทั้งหมดทยอยเดินทางรับทราบข้อกล่าวหาที่สน.พหลโยธินแล้ว เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 63, 4 ม.ค. 64 , 5 ม.ค. 64 และ 15 ก.พ. 64
แม้จะถูกดำเนินคดีเดียวกัน แต่ผู้แจ้งความร้องทุกข์นั้นแตกต่างกันไปในแต่ละคน สำหรับพริษฐ์, อานนท์, ชินวัตร, ภาณุพงศ์, และจิรฐิตา มีชุติมา เลี่ยมทอง เป็นผู้กล่าวหา ส่วนผู้แจ้งความร้องทุกข์กรณีของคริษฐ์ คือ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความซึ่งเคยรับมอบอำนาจจาก สุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธะอิสระ ไปแจ้งความร้องทุกข์ข้อหามาตรา 116 กับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กรณีไลฟ์เฟซบุ๊กเรื่อง 3 ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม
พ.ต.ท.พิภัสสร์ พูนลัน สารวัตร (สอบสวน) สน.พหลโยธิน และคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตามคําสั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาล 2 ที่ 385/2563 ลงวันที่ 21 ธ.ค. 2563 เข้าร่วมการแจ้งข้อกล่าวหาของคริษฐ์ ก่อนบรรยายพฤติการณ์คดี พนักงานสอบสวนชี้แจงว่า ได้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหา 6 รายที่เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาก่อนหน้านี้ไปแล้ว แต่เนื่องจากมีผู้เสียหายซึ่งเป็นประชาชนทั่วไป มากล่าวโทษร้องทุกข์ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องดำเนินคดีตามกระบวนการ โดยเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบรูปภาพ ถอดเทปคำปราศรัย และส่งตรวจสอบผู้เชี่ยวชาญทางภาษาและเห็นว่ามีความผิดจริง จึงเรียกคริษฐ์มารับทราบข้อกล่าวหา
พนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์คดีโดยสรุปว่า ในวันเกิดเหตุ คริษฐ์เข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ2ธันวาไล่จันทร์โอชาออกไป เพื่อเรียกร้องให้นายกฯ ออกจากตำแหน่ง ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อมาใส่ร้ายสถาบันกษัตริย์ มุ่งทำลายสถาบันหลักของชาติ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในกษัตริย์รัชกาลที่ 10 และยังทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่แสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต
คริษฐ์พูดปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียง บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ในคืนของวันที่ 2 ธ.ค.63 โดยพูดถึงประเด็นทางประวัติศาสตร์ของกษัตริย์ราชวงศ์จักรีในอดีต ปัญหาการใช้มาตรา 112 ในการจำกัดสิทธิการวิพากษ์วิจารณ์อดีตกษัตริย์ และย้ำแนวคิดคนเท่ากัน เมื่อพิจารณาเนื้อหาในคำปราศรัยแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าอาจทำให้ประชาชนทั่วไปฟังแล้วดูหมิ่น เกลียดชังกษัตริย์ และยุยงให้ประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
หลังจากนั้น พนักงานสอบสวนแจ้ง 8 ข้อหาแก่คริษฐ์เช่นเดียวกับผู้ต้องหาคนอื่น
คริษฐ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา โดยตำรวจกำหนดวันยื่นคำให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายในวันที่ 17 มี.ค. 2564 และได้ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้
หลังเสร็จกระบวนการรับทราบข้อหา คริษฐ์เล่าให้ผู้สังเกตการณ์ฟังว่า วันนี้จำเป็นต้องหยุดเรียนเพื่อเดินทางมารับทราบข้อหาซึ่งก็เพิ่งทราบวานนี้ว่าถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงสังเกตได้ว่าการเปิดช่องว่างให้ประชาชนเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษข้อหานี้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหาย เป็นการสร้างภาระทางคดีให้กับผู้ต้องหา และอาจนำมาใช้เป็นเครื่องมือให้กลุ่มฝ่ายการเมืองต่างๆ นำไปใช้กล่าวหากลั่นแกล้งกันไปมาได้ง่าย
นอกจากกรณีนี้ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันเมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา 'แนน' (นามสมมติ) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 วัย 19 ปี จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) จาการทวีตข้อความเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 ในทวิตเตอร์
ก่อนหน้านี้ 'แนน' ได้รับหมายเรียกจาก บก.ปอท. ลงวันที่ 3 ก.พ. 2564 ระบุว่าให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา โดยคดีนี้มี อารีย์ จิวรรักษ์ รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นผู้กล่าวหา และมี พ.ต.อ.ประดิษฐ์ เปการี รองผู้บังคับการ บก.ปอท. เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน
พฤติการณ์ที่กล่าวหาระบุว่า เมื่อ 14 ต.ค.63 ผู้กล่าวหาได้ตรวจสอบพบบัญชีทวิตเตอร์บัญชีหนึ่ง (ซึ่งไม่ได้ใช้ชื่อสกุลของแนน) ได้โพสต์ข้อความแบบสาธารณะ มีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 และข้อความประกอบ พร้อมติดแฮซแท็กเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อความกล่าวหาใส่ความพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนที่เข้ามาอ่าน เกิดความรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชังพระมหากษัตริย์ และสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยผู้กล่าวหาตรวจพบการกระทำดังกล่าวจากสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
'แนน' ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป พนักงานสอบสวนจึงได้ให้พิมพ์ลายนิ้วมือและลงบันทึกประจำวันไว้ พร้อมกับให้ปล่อยตัวไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้ระหว่างสอบสวน และจะนัดหมายรายงานตัวเพื่อฟังคำสั่งทางคดีอีกครั้ง
ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความฯ ชี้ว่า คดีนี้น่าจับตาเนื่องจากข้อกล่าวหาเป็นการถึงการเผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในอดีต หากพิจารณาองค์ประกอบความผิดของมาตรา 112 นั้นครอบคลุมถึง 4 บุคคล ได้แก่ “พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” หากตีความกฎหมายโดยเคร่งครัด กฎหมายควรจะครอบคลุมเพียงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันเท่านั้น จึงต้องจับตาแนวทางการตีความในประเด็นนี้ต่อไป
ที่มาจาก : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 1 , 2