ไม่พบผลการค้นหา
ศาลนราธิวาส สั่งจำคุก ภัคภิญญา สาวบรรณารักษ์ห้องสมุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพ ในข้อหาหมิ่นกษัตริย์ ร.10 จากการแชร์โพสต์เฟซบุ๊ก 3 ครั้ง ลงโทษรวม 9 ปี ไม่รอลงอาญา ศาลให้ประกัน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษา ลงโทษจำคุก 9 ปี จากแชร์เนื้อหาในเฟซบุ๊กทั้งหมด 3 โพสต์ ไม่รอลงอาญา ในคดีของภัคภิญญา (สงวนนามสกุล) บรรณารักษ์ห้องสมุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ จากการแชร์เพจ เยาวชนปลดแอก คนไทยยูเค และแชร์โพสต์วิจารณ์การจัดงานศพในสนามหลวง ตามข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยขณะนี้ทนายกำลังยื่อขอประกันตัว หากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวภัคภิญญา ซึ่งประกอบอาชีพและใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯ ภายในวันนี้ จะทำให้เธอถูกส่งตัวเข้าเรือนจำกลางนราธิวาสทันที

สำหรับคดีนี้ เกิดขึ้นจาก การแจ้งความของ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ซึ่งได้เเจ้งความในข้อหา 112 กับบุคคลอื่นๆ รวมอย่างน้อย 8 คดี โดยภัคภิญญา ถูกกล่าวหาว่า แชร์โพสต์ที่เข้าข่ายความผิดตาม ม.112 รวม 6 โพสต์

ในวันที่ 5 ม.ค. 2565 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 ยื่นฟ้องเธอต่อศาลนราธิวาส สำหรับคำฟ้องที่ยื่นต่อศาล ว่าที่ ร.ต.นราชัย พรธีระภัทร พนักงานอัยการ บรรยายฟ้อง มีเนื้อความระบุว่า ประเทศไทยไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีรัชกาลที่ 10 เป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6 บัญญัติว่า กษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพ ผู้ใดจะละเมิด กล่าวหา หรือฟ้องร้องไม่ได้

อัยการระบุว่า จำเลยได้ทำผิดต่อกฎหมายรวม 6 กรรม (อ่านรายละเอียดได้ที่นี่)

โดยอัยการเห็นว่า ข้อความทั้งหมดมีความหมายตรงตัวอักษร เป็นคำด่า และเปรียบเทียบ ผู้ที่พบเห็นเข้าใจทันทีว่า สื่อถึงรัชกาลที่ 10 ที่ไม่วางพระองค์เป็นกลาง ทรงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง สั่งให้มีการปราบปรามผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ โดยจำเลยเจตนาให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยในพระมหากษัตริย์ และระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำลายสถาบันกษัตริย์ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อกษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

ล่าสุดเวลา 13.30 น. ศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันรวม ทั้งหมด 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

ที่มาภาพจาก iLaw