ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวตั้งข้อสงสัยกรณี กทม.ว่าจ้างให้บีทีเอสเดินรถไฟฟ้าแพง โดยระบุว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวซึ่งมีการต่อขยายด้านใต้จากแบริ่ง-สมุทรปราการ และด้านเหนือจากหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ได้มีการแบ่งงานให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รับผิดชอบการก่อสร้างงานโยธา และให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) รับผิดชอบการเดินรถ โดย กทม.ได้ว่าจ้างให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือเคที ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กทม. เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ แต่เคทีได้ว่าจ้างให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ให้เป็นผู้เดินรถแทนตนเองอีกทอดหนึ่ง
ดังนั้นก่อนที่บีทีเอสจะเดินรถได้ จะต้องจัดหารถไฟฟ้า และติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร ระบบตั๋ว และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยเคทีได้ทำสัญญาว่าจ้างบีทีเอสให้จัดหารถไฟฟ้าและอุปกรณ์ดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งบริหารจัดการเดินรถ และซ่อมบำรุงรักษา เป็นระยะเวลา 25 ปี จำนวนเงินประมาณ 176,600 ล้านบาท บนเส้นทางช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 12.58 กิโลเมตร และเส้นทางช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 18.20 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งหมด 30.78 กิโลเมตร หากคิดค่าจ้างต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร และต่อระยะเวลา 1 ปี จะได้เท่ากับ 229.50 ล้านบาท/กิโลเมตร/ปี
ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบค่าจ้างดังกล่าวกับค่าจ้างที่ รฟม.ว่าจ้างให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ทำงานเหมือนกัน ซึ่งประกอบด้วยจัดหารถไฟฟ้า และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบริหารจัดการเดินรถ และซ่อมบำรุงรักษารถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-บางใหญ่ ระยะทาง 23 กิโลเมตร เป็นระยะเวลา 30 ปี เป็นเงินรวม 82,624.75 ล้านบาท หรือคิดเป็น 119.75 ล้านบาท/กิโลเมตร/ปี จะเห็นได้ว่าค่าจ้างบีทีเอสแพงกว่าค่าจ้างบีอีเอ็มมากถึง 109.75 ล้านบาท/กิโลเมตร/ปี หรือคิดเป็น 91.6%
ดร.สามารถ ระบุว่า ค่าจ้างที่แพงกว่ากันมากเป็นเรื่องชวนสงสัยว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น และที่สำคัญ เงินที่เคทีจ้างบีทีเอสนั้นเป็นเงินที่ได้รับมาจาก กทม. ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องใน กทม.ไม่ควรอยู่นิ่งเฉย จะต้องออกมาชี้แจงให้กระจ่างชัด หากเห็นว่าเป็นสัญญาที่ กทม.เสียเปรียบจะต้องสั่งการให้เคทีทบทวนสัญญาระหว่างเคทีกับบีทีเอสเสียใหม่ให้เกิดความเป็นธรรม อย่าปล่อยให้ประชาชนต้องมาแบกรับภาระหนี้ก้อนโตโดยไม่จำเป็น