วงเสวนาเวทีเศรษฐกิจโลก หรือ World Economy Forum เป็นวงที่จัดถกประเด็นเรื่องเศรษฐกิจนานาชาติที่ถือว่าเป็นงานใหญ่ระดับโลกงานหนึ่ง เดิมผู้จัดงานเลือกจะจัดเวทีในปีนี้ที่กรุงปักกิ่ง ด้วยหัวข้อที่จะพูดถึงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน มีการเชิญผู้ร่วมจากภาคธุรกิจและการเมืองไม่ต่ำกว่า 400 ทั่วโลก ในจำนวนนี้ 300 คนมาจากนอกประเทศจีน
ผู้จัดงานคือบลูมเบิร์กระบุว่า ผู้ร่วมจัดงานฝ่ายอันได้แก่ศูนย์ศึกษาแลกเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจกับนานาชาติของจีน (China Center for International Economic Exchanges) ได้ขอให้ผู้จัดงานหลักเลื่อนเวลาในการจัดงานออกไป เนื่องจากว่างานไปชนกับหมายงานอื่นในจีน และที่สำคัญผู้นำจีนต้องการเน้นงานที่สนับสนุนในเรื่องการค้าของจีนกับต่างประเทศ
นิวยอร์กไทม์สรายงานว่า งานสำคัญที่ชนกันคืองานอิมปอร์ตเอ็กซ์โปที่จะจัดขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้ และว่า หลังจากที่ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เริ่มตึงเครียด จีนก็เริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นกับการใช้งานดังกล่าวเพื่อประชาสัมพันธ์และสนับสนุนการค้าของตนเอง ดังนั้นทางการจีนไม่ต้องการให้มีงานอื่นมาแย่งความสนใจในห้วงเวลาเดียวกัน แม้ว่าหัวข้อในการถกในเวทีเศรษฐกิจโลกจะเป็นเรื่องของอิทธิพลของจีนก็ตาม
ข่าวบอกว่า อันที่จริงการจัดงานนี้มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน ในกลุ่มคณะกรรมการที่ปรึกษาของการจัดงานยังมีนายเฮนรี คิสซิงเจอร์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศและที่ปรึกษาด้านความมั่นคง อดีตรัฐมนตรีคลัง เฮนรี พอลสัน ทั้งสองคนสนับสนุนเรื่องการติดต่อสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับจีนเสมอมา ในบรรดากิจการที่สนับสนุนรวมไปถึงเอ็กซอนโมบิล ธนาคารเอชเอสบีซี
นิวยอร์กไทม์สรายงานว่า ข้อเสนอให้ย้ายเวลาของผู้ร่วมจัดงานฝ่ายจีนทำให้ฝ่ายบลูมเบิร์กต้องคิดใหม่ พวกเขาต้องมองหาสถานที่จัดงานใหม่ และลงเอยที่สิงคโปร์ แม้ว่าจะยังมีผู้ร่วมงานจากจีน แต่ว่าหัวข้อการพูดคุยจะไม่เน้นเรื่องจีนเช่นเดิม และผู้จัดต้องมองหาผู้ร่วมอภิปรายใหม่ๆ เพราะหลายคนที่วางตัวไว้ได้ยกเลิกไป นสพ.อ้างความเห็นนักสังเกตการณ์หลายคนระบุว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ตึงเครียดจนรายงานกันว่าเป็นสงครามการค้าในเวลานี้นั้น ส่งผลกระทบไปหมดแทบทุกด้าน
“มันแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะทำอะไรที่มีความหมายในจีนในเวลานี้” ออร์วิลล์ เชลล์ ผู้อำนวยการศูนย์ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ของสถาบันเอเชียโซไซตีกล่าว เขาบอกว่า แม้จะอยากให้มีการถกเถียงที่ตรงไปตรงมาแต่มันยากที่จะทำได้ในจีน เขาเห็นว่าสิงคโปร์จะเป็นพื้นที่ที่ดีกว่า
นสพ.ยังระบุด้วยว่า ในห้วงเวลาที่ความสัมพันธ์ตึงเครียดนี้ เจ้าหน้าที่จีนเริ่มมีคำถามมากขึ้นสำหรับงานที่จัดในจีนที่มีธุรกิจอมริกันร่วมด้วย ในขณะเดียวกันในสหรัฐฯ รายงานอ้างว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เองก็มีคำถามมากขึ้นเช่นกันกับธุรกิจสหรัฐฯ ที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับจีน
ส่วนนายไมเคิล บลูมเบิร์ก มหาเศรษฐีกิจการสื่อและผู้จัดงานหนนี้ ซึ่งเป็นอดีตนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กนั้นก็มีสายสัมพันธ์ที่ค่อนข้างซับซ้อนกับจีน ในขณะที่เขาสนับสนุนการติดต่อใกล้ชิดกับจีน แต่มีอย่างน้อยหนึ่งครั้งที่นายบลูมเบิร์กไปเป็นประธานเปิดงานศิลปะของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ข่าวระบุว่านายบลูมเบิร์กน่าจะยังพิจารณาอยู่ว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือไม่ในอีกสองปีข้างหน้า หากเขาต้องการทำเช่นนั้นจริง การถอนตัวออกจากจีนในเวลานี้ก็อาจจะเป็นประโยชน์ทางการเมืองต่อเขาในอนาคต