วันนี้ (22 มีนาคม 61) นายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) พร้อมคณะผู้บริหาร ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการก่อตั้งเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม Siam Innovation District โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธี ณ อาคารสยามสแควร์วัน
ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า กฟน. ในฐานะองค์กรชั้นนำด้านธุรกิจพลังงานไฟฟ้าในระดับสากล ที่ตระหนักถึงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อยกระดับรูปแบบการให้บริการ รวมถึงการควบคุมและจัดการระบบจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าก้าวสู่มหานครด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตอบส��องวิถีชีวิตแห่งอนาคตนำไปสู่ Smart Metro นั้น การร่วมพิธีลงนามในครั้งนี้ จึงถือเป็นความร่วมมือเพื่อให้เกิดสังคมอุดมปัญญา และเพื่อให้โครงการเมืองนวัตกรรมแห่งสยามเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และช่วยให้สังคมไทยปรับตัวก้าวทันความเปลี่ยนแปลงทางด้านนวัตกรรม รวมทั้งเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้มีการนำนวัตกรรมที่คิดสร้างสรรค์มานำเสนอสู่สายตาของบุคคลทั่วไป และยังเป็นหนึ่งช่องทางที่จะทำให้นวัตกรรมของประเทศไทยเป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับสากลในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับความร่วมมือระหว่าง กฟน. กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2560 ที่ผ่านมา โดยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ ซึ่งได้ร่วมกันศึกษาและพัฒนารูปแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในพื้นที่ในการดูแลของมหาวิทยาลัย ตลอดจนพัฒนาชุมชนเมืองโดยรอบให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้อยู่อาศัยให้ได้รับคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้การเป็น “the MetGE (เดอะเมตช์) : METRO GRID ENABLER ระบบจัดการโครงข่ายไฟฟ้ามหานคร” ด้วยนวัตกรรมที่ล้ำสมัย ระบบไฟฟ้าที่มั่นคง เพื่อควบคุมระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ พร้อมรองรับเทคโนโลยีทางด้านพลังงานไฟฟ้าแห่งอนาคต ที่พร้อมให้บริการเชื่อมต่อระบบจำหน่ายไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างเพียงพอต่อเนื่องปลอดภัยมีประสิทธิภาพ และในโอกาส 60 ปี กฟน. จะพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อให้มหานครก้าวสู่วิถีอนาคต มุ่งสู่ Smart Metro เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นมหานครแห่งอาเซียน โดยมีแผนในพัฒนานวัตกรรมที่สำคัญในด้านต่างๆ ได้แก่ พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดการสัญจรอัจฉริยะ (Smart Mobility) เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ชุมชนอัจฉริยะ (Smart Community) อยู่ร่วมกันในมาตรฐานชีวิตที่ดี สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) สร้างความสามารถในการแข่งขันและลงทุน อาคารอัจฉริยะ (Smart Building) ตอบสนองการใช้งานอาคารอย่างเต็มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการเมืองแบบอัจฉริยะ (Smart Governance) บริหารเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ และนวัตกรรมอัจฉริยะ (Smart Innovation) ที่ใช้ได้จริงและมีผลกระทบกับสังคมในวงกว้าง
ทั้งนี้ กฟน. ยังขอชวนประชาชนร่วมสัมผัสนิทรรศการแสดงเทคโนโลยีต่างๆ ของ กฟน. ได้แก่ เทคโนโลยีรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle (EV) พร้อมเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นยนตกรรมแห่งอนาคตที่เริ่มมีการใช้งานเพิ่มมากขึ้นในเมืองหลวง และ กฟน. ถือเป็นหน่วยงานต้นแบบที่นำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาใช้ในการปฏิบัติงาน ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาเพื่อลดมลพิษ นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีด้านการบริการสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ Geographic Information System (GIS) โดยได้นำระบบ GIS ที่มีความความละเอียด 1:1000 มาจัดแสดง สามารถเห็นรายละเอียดครอบคลุมบ้านเรือน เสาไฟฟ้า ตลอดจนอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชิ้น อีกทั้งยังมีการจัดแสดงรถสำรวจข้อมูลภาคสนามระบบ MMS เพื่อนำมาเก็บสำรวจข้อมูล เพื่อสนับสนุนงานบริการในด้านต่างๆ เช่น งานบริการผู้ใช้ไฟฟ้า การแก้ไขปัญหาระบบไฟฟ้า ไปจนถึงการวิเคราะห์ด้านวิศวกรรมที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และพร้อมต่อการประยุกต์ใช้ในภารกิจต่างๆ ของ กฟน. ในอนาคต โดยงานดังกล่าวจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 22 - 25 มีนาคม 2561