ไม่พบผลการค้นหา
การเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงของอินโดนีเซียที่ได้รับทุนสนับสนุนจากจีน ต้องล่าช้าออกไปเป็นครั้งที่ 2 ในรอบไม่ถึง 1 เดือน นับเป็นความล้มเหลวครั้งล่าสุดของโครงการนี้ ที่ประสบปัญหาต้นทุนเกินงบประมาณ และความสงสัยต่อความโปร่งใสต่อโครงการจากประชาชนในท้องถิ่น

โฆษกของโครงการรถไฟหัวกระสุนอินโดนีเซียที่ได้รับทุนสนับสนุนจากจีนกล่าวว่า การเปิดทดลองใช้บริการรถไฟความเร็วสูงเที่ยวจาการ์ตา-บันดุง มูลค่า 7.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2.56 แสนล้านบาท) ซึ่งมีกำหนดการเปิดวิ่งในวันศุกร์นี้ (1 ก.ย.) จะไม่เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ "ยัง เรายังคงรอการตัดสินใจจากกระทรวงคมนาคม” โฆษกโครงการกล่าวเมื่อวันอังคาร (29 ส.ค.)

โครงการรถไฟความเร็วสูงอินโดนีเซียที่ได้รับทุนสนับสนุนจากจีน ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลโดยกลุ่มบริษัท PT KCIC บริษัทของรัฐอินโดนีเซียและจีน เดิมมีกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2562 อย่างไรก็ดี โครงการกลับเผชิญกับความท้าทายนับตั้งแต่เริ่มเปิดตัว ซึ่งรวมถึงปัญหาด้านงบประมาณที่เกินมา 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท) และประเด็นด้านการตรวจสอบความปลอดภัยเพิ่มเติม

โครงการรถไฟความเร็วสูงนี้ ยังได้รับการตั้งคำถามจากผู้อยู่อาศัยและนักเคลื่อนไหวจำนวนมาก ซึ่งต่างตั้งข้อสังเกตถึงประโยชน์ของการบริการรถไฟความเร็วสูง สำหรับประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศอินโดนีเซีย ที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ต่อหัวน้อยกว่า 5,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.75 แสนบาท)

“ผู้ใช้บริการจะเป็นเพียงชนชั้นกลางระดับสูงเท่านั้น” เมกิ ปาเอนดง ผู้อำนวยการ Indonesian Forum for the Environment (WALHI) ในจังหวัดชวาตะวันตก กล่าวกับสำนักข่าว Al Jazeera “คนในท้องถิ่นอื่นๆ หรือกลุ่มครอบครัวที่เรียบง่ายและยากจนจะพบว่า มันเป็นเรื่องยากหรือจะต้องคิดให้รอบคอบก่อนที่จะใช้บริการ โดยตามรายงานนั้น ตั๋วรถไฟจะอยู่มีราคาในช่วง 300,000 รูเปียห์ (ประมาณ 700 บาท) สำหรับประชาชนทั่วไปนั้น มันแพงเกินไป”

แต่เดิมทีบริการรถไฟความเร็วสูงนี้ มีกำหนดการจะเปิดทดลองใช้ในวันที่ 18 ส.ค. ก่อนที่จะมีการประกาศเลื่อนออกอีกครั้งไปจนถึงวันที่ 1 ก.ย. ทั้งนี้ บริการเดินรถไฟเต็มรูปแบบสำหรับสาธารณชน มีกำหนดเปิดตัวในวันที่ 1 ต.ค. อย่างไรก็ดี PT KCIC ชี้แจงถึงความล่าช้าเมื่อต้นเดือนนี้ว่า ทางผู้ให้บริการต้องใช้เวลามากกว่านี้ เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยและความสะดวกสบายของผู้โดยสาร และยังอยู่ระหว่างการรอใบอนุญาตที่กำลังมีการดำเนินการเพิ่มเติม

เส้นทางรถไฟความเร็วสูงระยะทาง 142 กิโลเมตรนี้ จะเชื่อมต่อกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซียเข้ากับเมืองบันดุง ซึ่งจะทำให้การเดินทางจากเดิมด้วยเวลา 3 ชั่วโมง ลดลงเหลือเพียงประมาณ 40 นาที และถือเป็นโอกาสอันน่าดึงดูดใจสำหรับผู้โดยสารที่เร่งรีบในเรื่องเวลาการเดินทาง ให้หันมาใช้บริการรถไฟหัวจรวดโครงการดังกล่าว

รถไฟความเร็วสูงเส้นทางสายจาการ์ตา-บันดุง เป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลายสิบโครงการในอินโดนีเซีย ที่ดำเนินการภายใต้โครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มด้านโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก ที่เปิดตัวโดย สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนในปี 2556

อินโดนีเซียภายใต้การนำของ โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย รัฐบาลของวิโดโดได้ดำเนินโครงการต่างๆ และตั้งเป้าหมายการพัฒนาอันทะเยอทะยานหลายประการ รวมถึงการย้ายเมืองหลวงของประเทศไปยังเกาะบอร์เนียวตะวันออก นอกจากนี้ วิโดโดยังตั้งเป้าหมาย GDP ต่อหัวประชาชนที่ 25,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 8.77 แสนบาท) ภายในปี 2588 ด้วย

ในการประชุมสุดยอด G20 ที่บาหลีเมื่อปีที่แล้ว สีและวิโดโดได้ชมการถ่ายทอดสด การทดสอบบริการรถไฟที่ไม่เปิดต่อสาธารณะ โดยประธานาธิบดีอินโดนีเซียกล่าวว่า เขา “มองในแง่บวกว่ารถไฟความเร็วสูงจะเปิดให้บริการได้ในเดือน มิ.ย. 2566”

“จากการชมการทดลองปฏิบัติการรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง และวิดีโอเกี่ยวกับความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ของจีนและอินโดนีเซีย ทั้งหมดนี้ถือเป็นความสำเร็จที่แท้จริง ที่ไม่เพียงแต่มอบความเจริญรุ่งเรืองให้กับประชาชนของทั้งสองประเทศเท่านั้น แต่ยังให้ผลลัพธ์เชิงบวกในระดับภูมิภาค และระดับโลกอีกด้วย” สีกล่าวในขณะนั้น

ทั้งนี้ เมื่อรถไฟความเร็วสูงนี้ของอินโดนีเซียเปิดให้บริการ บริการดังกล่าวจะให้บริการด้วยขบวนรถไฟขนาดแปดตู้โดยสารจำนวน 11 ขบวน ที่สร้างโดย CRRC Qingdao Sifang ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ China Railway Rolling Stock ที่มีรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ โดยรถไฟดังกล่าวจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุดประมาณ 30,000 คนต่อวัน และคาดว่าจะให้บริการได้ความเร็วสูงสุด 350 กิโลเมตร


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/economy/2023/8/30/indonesias-chinese-bullet-train-delayed-amid-cost-overruns-scepticism?fbclid=IwAR2vu5ii3886dgqlNtwT4ouIL3mdC2I9ITa0SLrfJ0Rj0UASOO0seL69z84