ไม่พบผลการค้นหา
6 เม.ย. 2565 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถ.ราชดำเนิน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) จัดเวที 'ประเมินผลพวง 5 ปี การบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2560 กับผลกระทบต่อสังคมไทย'

มีผู้ร่วมเสวนาคือ บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ประธาน ครป. สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ร่าง พ.ร.ป ว่าด้วยพรรคการเมือง ศักดิ์ณรงค์ มงคล รองประธาน ครป. นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการ ครป. อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ พ.ต.อ.วิรุฒม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ร่วมอภิปราย ดำเนินรายการโดย เมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป.

บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ประธาน ครป. กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่ฉบับปราบโกงดังที่หลายคนเข้าใจผิด เพราะการทุจริตคอร์รัปชันยังมีปรากฏมากมาย งบประมาณ 30-50% ของโครงการยังคงถูกคอร์รัปชัน การปฏิรูปประเทศตามหมวด 16 ล้มเหลวทุกด้าน ตั้งแต่มาตรา 258-261 ทั้งการเมือง กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การกระจายทรัพยากร

ปัญหาสำคัญคือการให้อำนาจ ส.ว.ในการแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอิสระต่างๆ ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. จากบุคคลที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสาธารณะ ทำให้เกิดปัญหาระบบอำนาจนิยมพวกพ้อง กระบวนการยุติธรรมต่างๆ จึงบิดเบี้ยวอย่างง่ายดาย เช่น คดีบอส กระทิงแดง ความยุติธรรมทางอาญามีปัญหาต่อเนื่อง

ความล้มเหลวตลอด 5 ปีสูญเปล่าเพราะรัฐบาลขาดวิสัยทัศน์และไม่ลำดับความสำคัญในการแก้ปัญหา เช่น ขณะนี้ไปแก้ปัญหาหวยแพงทั้งที่ผ่านมา 8 ปี แต่ประชาชนกำลังเผชิญกับปัญหาราคาน้ำมันแพง ทำไมไม่แก้ไขก่อน รัฐบาลและรัฐธรรมนูญไม่ได้ตอบสนองต่อปัญหาตามที่ประชาชนต้องการ

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. สรุปความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญ 6 ข้อ ประกอบไปด้วย 1.ต้นตอที่มาของรัฐธรรมนูญสิ้นเปลืองมหาศาลจาก คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 20 คนที่มีนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน และทำหน้าที่ร่างกฎหมายลูกอีกหลายฉบับ มีการประชุมกว่า 501 ครั้ง เบี้ยประชุมประธานครั้งละ 9,000 บาท กรรมการ 6,000 บาทต่อครั้ง ปีหนึ่งเท่ากับ 3 ล้านบาทต่อคน กรธ.มี 20 คนเท่ากับใช้งบ 60 ล้าน เฉพาะประธานปีละ 4.5 ล้านบาท แต่ไม่มีรายงานการประชุมใดๆ ออกมา นี่คือต้นทุนในการจัดทำรัฐธรรมนูญ 239 มาตราที่มียุทธศาสตร์ชาติ ให้ฝ่ายที่มีอำนาจได้ประโยชน์ตามที่มีการพูดว่ารัฐธรรมนูญเราได้ประโยชน์ กติกาที่ไม่เป็นธรรมเหล่านั้นจึงพูดได้ยากว่าทำอย่างไรให้อยู่กันอย่างสันติได้ แต่ผลพวงของโควิด 2 ปีที่ผ่านมาทำให้ความขัดแย้งต่างๆ ไม่สามารถแสดงออกมาได้เต็มที่

2.รัฐธรรมนูญทำให้รัฐบาลเกิดความไร้เสถียรภาพทางการเมือง เกิดรัฐบาลผสม 18-19 พรรค ส.ส.ย้ายพรรคได้ใน 30 วันทำให้พรรคการเมืองขาดเอกภาพ เกิดส.ส.งูเห่ามากมาย

3.เกิดปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดิน ยุทธศาสตร์ชาติเกิดจากการร่างของราชการและสภาพัฒน์ ทำให้ไม่ทันสมัยและไม่มองไปข้างหน้า ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน นอกจากนี้รายงานการปฏิรูปประเทศต่างๆ ที่ต้องรายงานรัฐสภาทุก 3 เดือนเป็นเพียงรายงานกระดาษ

4.รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจและงบประมาณ การเลือกตั้งท้องถิ่นอยู่ที่การตัดสินใจอนุญาตของคณะรัฐมนตรี ทำให้ล่าช้า อปท.ตกอยู่ในอำนาจจากการแต่งตั้งและข้าราชการอย่างยาวนาน

5.รัฐธรรมนูญปราบโกงแต่ชื่อ เขียนคุณสมบัติไว้มากมายแต่ไม่มีคดีในระบบเท่าไหร่ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจ

6.รัฐธรรมนูญยังรับรองการกระทำใดๆ ของ คสช.ให้ชอบธรรม ประชาชนทำอะไรไม่ได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ลงทุนในสิ่งที่ประชาชนไม่ได้ปรารถนาและแก้ยาก โดยสรุปรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาเกือบทั้งหมด ไม่สามารถแก้ไขแค่รายมาตราได้ ต้องแก้ทั้งฉบับ

สมชัยย้ำว่า ภาคประชาชนต้องผลักดันให้มีการประชามติ ซึ่งเป็นทางเดียวที่ทำได้ตอนนี้ โดยยื่น 50,000 รายชื่อเสนอคณะรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ และสามารถประชามติในวันเลือกตั้งทั่วไปได้ไม่เปลืองงบประมาณ

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการ ครป. อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประเมินผลพวง 5 ปี การบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ว่า ได้สร้างอำนาจนิยมที่ผูกขาดโดยกลุ่มบุคคล เป็นเผด็จการเสื้อคลุมประชาธิปไตย หรือ Hybrid regime ระบบการเลือกตั้ง ส.ส.ปัดเศษ ทำให้เกิดรัฐบาล 20 พรรค นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่มาจาก ส.ว. 250 คน ที่กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มาจากทหารและข้าราชการ อภิสิทธิ์ชนปลอดความผิดในยุคนี้

ผลพวงของรัฐธรรมนูญได้ทำลายบทบาทรัฐสภาในด้านนิติบัญญัติ ทำลายกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ทำลายประสิทธิภาพและคุณภาพการเมืองในระบอบรัฐสภา ความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชนลดลง เพราะไปละเมิดทำลายหลักสิทธิ-เสรีภาพ-ความเสมอภาค โดยเฉพาะการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในสถานการณ์โควิดละเมิดสิทธิการชุมนุม ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ ม.112 เป็นเครื่องมือทำลายสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมือง กรณีชาวบ้านบางกลอย, ชาวบ้านจะนะ, กรณีปัญหาที่ดินและป่า และ ร่างพร.บ.ควบคุมประชาชนคือตัวอย่าง

รัฐธรรมนูญ 60 คือตัวแทนของรัฐที่ต้องการควบรวมอำนาจ “อนุรักษ์จารีต+ทหาร+ทุน” ต่อต้านโลกาภิวัฒน์ทางการเมืองและวัฒนธรรม รวมถึงเศรษฐกิจ-เสรีนิยม โดยการกอบโกยอำนาจผลประโยชน์และผูกขาดอำนาจจนเกิดความเหลื่อมล้ำ การทวงคืนประชาธิปไตยจึงเป็นหมุดหมายสำคัญ ที่รัฐธรรมนูญต้องแก้ความขัดแย้งทางสังคม ทั้งอดีต ปัจจุบัน สู่อนาคต ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือระเบิดเวลา

พ.ต.อ.วิรุฒม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนล้มเหลวในยุค พล.อ.ประยุทธ์ การกระจายอำนาจไม่มีเลยในรัฐบาลนี้และในรัฐธรรมนูญ 60 การประชามติที่ผ่านมาก็เป็นการหลอกลวงให้คนรับไปก่อนเพราะไม่ต้องการให้เขาเอาฉบับไหนมาใช้ก็ได้และต้องการการเลือกตั้ง มีกับระเบิดมากมายในรัฐบาลนี้ที่ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และจากบทบาทของ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนที่ให้อำนาจพิเศษพิจารณากฎหมายต่างๆ มากมายผ่านสองสภา ดังนั้นกระบวนการปฏิรูปต่างๆ จึงไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม แม้แต่นายกฯ ยังไม่เข้าใจการแยกอำนาจสอบสวนให้เป็นอิสระ ซึ่งร่างขึ้นในกรรมการชุดนายบวรศักดิ์ แต่พล.อ.ประยุทธ์ไม่เอา และไม่ยอมให้ใส่ในรัฐธรรมนูญของนายมีชัย

เมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. สรุปการอภิปรายว่า วิกฤตรัฐธรรมนูญ 5 ปีนำไปสู่วิกฤติประชาธิปไตยไทย ที่ขัดแย้งกับการกระจายอำนาจ และขาดการตรวจสอบถ่วงดุลย์อำนาจรัฐ องค์กรอิสระไม่ทำงานแม้ว่านายกรัฐมนตรีจะกระทำผิดรัฐธรรมนูญหลายข้อ ซ้ำร้ายยังสร้างอำนาจ ส.ว.มาออกแบบรัฐบาลและสรรหาองค์กรอิสระต่างๆ ที่คอยตรวจสอบภาครัฐอีกทีหนึ่ง จึงล้มเหลวทั้งระบบการเมืองการปกครอง กลายเป็นระบอบอำนาจนิยม ซึ่งสุดท้ายมูลค่าความเสียหายมหาศาล ต้นทุนที่เสียไปทั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ กลายเป็นเพียงความสูญเปล่า ไม่มีอะไรคืบหน้าตามรัฐธรรมนูญ 60 ที่พาประเทศถอยหลังเข้าคลอง

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังสร้างระบอบเผด็จการทหารทุนนิยมประชารัฐขึ้น ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก และรัฐบาลทหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนตลอด 90 ปีที่ผ่านมาทำให้ประชาธิปไตยไทยไม่ถูกพัฒนาให้เจริญก้าวหน้า แต่กลับสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เพราะเอื้อผลประโยชน์ให้เจ้าสัวและกลุ่มทุนผูกขาดเพียงแค่ 16 ตระกูลได้ส่วนแบ่งจากทรัพยากรสาธารณะ ผ่านรูปแบบการให้สัมปทานและผลประโยชน์ทางนโยบายต่างๆ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ประชาชนจะต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อผลักดันประชาธิปไตยที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง