ไม่พบผลการค้นหา
กระท่อมไม่ใช่พืชจากสวรรค์เหมือนกัญชา แต่เป็นพืชของมนุษย์ผู้อาบเหงื่อต่างน้ำ เคี้ยวเพื่อให้มีแรงทำงาน และอาจถูกใส่ร้ายให้กลายเป็นพืชแห่งความขี้เกียจ เพราะรัฐทำรายได้จากฝิ่นเลยไม่อยากให้คนหันไปพึ่งกระท่อมจนเกินไป

ช่วงกระแส “กัญชามาแรง” แบบนี้ ดูหลายฝ่ายจะพุ่งความสนใจไปที่กัญชากันอย่างมาก จนพืชเสพติดให้โทษประเภท 5 อีกชนิดหนึ่ง ดูจะไม่มีซีนในหน้าสื่อเท่าไหร่ พืชที่ว่าก็คือ “กระท่อม” นั่นเอง ที่จริงแล้ว เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เปิดโอกาสให้ทั้งกัญชา และ “กระท่อม” สามารถนำไปศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และสามารถนำไปใช้ในการรักษาโรคภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์ได้ แต่ถึงอย่างนั้น “กระท่อม” ยังไม่ค่อยถูกพูดถึงเท่ากัญชา ฉันจึงอยากจะเขียนถึง “กระท่อม” เอาไว้สักหน่อย เพราะถือเป็นพืช “ชื่นชูใจ” ที่มีพัฒนาการคู่กับประวัติศาสตร์ยาวนานไม่แพ้พืชชนิดอื่นๆ


ไม่ใช่พืชจากสวรรค์ แต่เป็นพืชของมนุษย์ผู้อาบเหงื่อต่างน้ำ

ฉันเคยเขียนบทความเรื่องกัญชามาแล้วครั้งหนึ่ง เล่าว่า ทุกอารยธรรมหลักของโลก ตั้งแต่เมโสโปเตเมีย อียิปต์ กรีก ไปจนถึงอารยธรรมอินเดีย ล้วนมีเรื่องเล่าของกัญชาเข้าไปมีส่วนในตำนานต่างๆ แถมกัญชายังอยู่ในสภาวะเหนือมนุษย์ บางอารยธรรมเป็นสัญลักษณ์ของเทพ บ้างเป็นพืชที่เทพพึงใจ บ้างใช้กัญชาเป็นตัวเชื่อมโยงสื่อสารกับเทพ ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะกัญชาออกฤทธิ์สร้างความเคลิบเคลิ้ม คนแต่ก่อนมองว่าสุขเหมือนได้ขึ้นสวรรค์กระทบไหล่เทพเจ้า ส่วนคนเดี๋ยวนี้อาจรู้สึกหฤหรรษ์เหมือนล่องลอยในอวกาศ ก็ว่ากันไปตามทัศนะที่ต่างไปตามยุค

แต่สำหรับ “กระท่อม” แล้ว แม้จะมีการใช้ในพิธีกรรมบ้าง เราจะไม่ค่อยพบตำนานที่เล่าถึงสถานะเทพๆ แบบนี้เท่าไหร่ เหตุผลง่ายๆ ก็คือ กระท่อมเป็นพืชในวงศ์เข็มและกาแฟ (Rubiaceae) จึงไม่ได้ออกฤทธิ์เคลิบเคลิ้มเสพแล้วล่องลอยเหมือนกัญชา แต่ออกฤทธิ์ “กระตุ้น” ลดอาการเมื่อยล้า สามารถทำงานได้นานขึ้น  

ในอดีตผู้เคี้ยวกินใบกระท่อมสดมักเป็นไปเพื่อการทำงานใช้แรง เหมือนที่ “เพลงกระท่อมกัญชา” ของวงมาลีฮวนนา ร้องว่า “อันว่าเหล้านั้นเอาให้ตาย แต่กัญชานั้นช้าก่อน ถ้าโหมท่อมกูหามเอง” แปลง่ายๆ ว่าพวกชอบกินเหล้าก็ดุร้ายเอากันถึงตาย พวกชอบกัญชาก็จะตอนยอนทำอะไรเซื่องๆ ช้าๆ ส่วนคนกินกระท่อมเป็นพวกทำงาน มาๆ เดี๋ยวแบกหามให้เอง

ซึ่งการกินกระท่อมไม่ได้มีแค่ในภาคใต้ แต่แพร่หลายทุกภาคมาตั้งแต่อดีต และคงเป้าหมายเดียวกัน คือการเพิ่มเรี่ยวแรงขณะต้องทำงานหนักๆ เช่น ใน “ขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ” ตอนพลายงามอาสาไปรบเชียงใหม่ พวกทหารไพร่ก็จัดแจงขนเสบียงพร้อมของสำคัญ เดินทางกันเหงื่อซ่ก ความว่า

"บ้างคอนกระสอบหอบกัญชา

ตุ้งก่าใส่ย่ามตามเหงื่อไหล

บ้างเหล้าใส่กระบอกหอกคอนไป

ล้าเมื่อไรใส่อึกไม่อื้ออึง

บ้างห่อใบกระท่อมตะพายแล่ง

เงี่ยนยาหน้าแห้งตะแคงขึง

ถุนกระท่อมในห่อพอตึงตึง

ค่อยมีแรงเดินดึ่งถึงเพื่อนกัน ฯ" 

ตอนนี้เห็นชัดๆ เลยว่าตอนเดินทัพ ถ้าล้าๆ ก็ยกเหล้ามาดื่มสักอึก และก็อาศัย “ถุนกระท่อม” หรือกินกระท่อมเพื่อให้ “มีแรงเดิน” 

นอกจากนี้ กระท่อมยังใช้ปรุงเป็นยาแผนไทย เรียก “ประสะกระท่อม” (ประสะแปลว่าทำให้อ่อนลง มักใช้กับพืชที่มีฤทธิ์แรงๆ หรือมีพิษ เช่น นำไปคั่ว เพื่อให้ยาปลอดภัยมีฤทธิ์เหมาะสมขึ้น) ใช้แก้โรคบิด ท้องเสีย ท้องเฟ้อ ฯลฯ 


จากพืชคนขยันสู่สถานะ “ต้นเหตุความขี้เกียจ”

กระท่อมในอดีตดูเป็นพืชธรรมด๊า..ธรรมดา แม้ในวรรณคดีต่างๆ ก็ไม่ได้กล่าวถึงอย่างมีนัยสำคัญ มักมีเพียงการบรรยายประกอบฉากเดินทางในป่าร่วมกับต้นไม้อื่นๆ เท่านั้น เช่น ใน “พระอภัยมณี” มีบทบรรยายว่า “กระทึงกระทุ่มตูมกาต้นตาเสือ มะกล่ำมะเกลืออินทนิลส่งกลิ่นหอม สะไคร้สะคร้อหน่อแทรกขึ้นแปลกปลอม กระถินกระท่อมแทงทวยทั้งกรวยไกร” ส่วน “นิราศหนองคาย” บรรยายว่า “กระแบกกระเบากันเกราไกร ทั้งเนื้อไม้กฤษณามหาหงส์ ต้นกระทิงกระท่อมพะยอมประยงค์ ทั้งคันทรงแส้ม้าพระยารัง” แต่นี่ทำให้เห็นได้ว่า “กระท่อม” เป็นไม้ยืนต้นที่มีอยู่ทั่วไปในบ้านเรา ดังนั้น การที่ชาวบ้านจะไปหามาเด็ดกินจึงไม่ใช่เรื่องยากนัก 

โดยปกติแล้วในทางเทคนิค “กระท่อม” ผิดกฎหมายเมื่อสมัยรัชกาลที่ 8 นี่เอง โดยมีการตรา พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. 2486 ที่ห้ามปลูก ครอบครอง จำหน่าย และเสพใบกระท่อม แต่หากลองค้นดู จะพบความพยายามในการควบคุมการกินกระท่อมในทางปฏิบัติอย่างน้อยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 

ในเอกสาร “วชิรญาณวิเศษ” วันที่ 18 สิงหาคม ร.ศ. 111 ในหัวข้อ “แก้ปัญหาพยากรณ์” ที่ 92 ตอนที่ 1 มีข้อความระบุว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “ทรงพระกรุณาลดเลิกบ่อนเบี้ยในกรุงแลหัวเมือง ให้น้อยลงไปโดยลำดับ เพื่อจะผ่อนให้การพนันน้อยลงไป เช่นกับหัดให้อดยาถุนใบกระท่อมเปนต้น” จากนั้นในเดือนกรกฎาคม ร.ศ.124 ระหว่างเสด็จฯ เมืองนครศรีธรรมราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชหัตถเลขามายังพระนคร ความตอนหนึ่งว่า

“...คนเมืองนครศรีธรรมราชยังดำเนินไปดีในทางไม่เกียจคร้านเช่นแต่ก่อน แจวเรือก็ไม่อ้อแอ้ ขนของก็ไม่เดินช้าและหยุดแล้วหยุดเล่า ได้เห็นแก่ตาตลอดทั้งทางเรือทางบก จึงเห็นว่าการที่ตัดต้นกระท่อมและจัดการปกครองอย่างตื่นจากหลับ ทำให้คนดีขึ้นได้มาก...”

ถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า จากพืชคนขยันได้กลายเป็นบ่อเกิดความขี้เกียจในมุมมองของภาครัฐไปแล้ว ซึ่งก็อาจเป็นได้ เพราะการเคี้ยวแค่ใบสองใบ สารจำพวกอัลคาลอยด์ (alkaloid) จะออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางไม่เยอะเท่าไหร่ แต่ถ้าเคี้ยวเพลินเกินห้ามใจ ฟาดไปหลายใบเข้า กระท่อมจะออกฤทธิ์คล้ายฝิ่น ทําให้มึนงง และคลื่นไส้อาเจียน หรือที่เรียกว่า “เมากระท่อม” สภาพแบบนั้นคงทำงานไม่ไหว นอนอย่างเดียว


ผิดเพราะไม่มีราคา? 

ตามธรรมดาโลก อะไรที่ใช้มากเกินไปก็มักไม่ดีกับร่างกายอยู่แล้ว แต่ในกรณีของ “กระท่อม” ผิดมากจนถึงต้องผิดกฎหมายไหม เรื่องนี้เราอาจย้อนไปดูความเห็นของ “คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลดีและผลเสียของการบริโภคพืชกระท่อม เพื่อเป็นแนวทางในการเสนอว่าควรยกเลิกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือไม่ วุฒิสภา” ปี 2546 

คณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้จัดทำรายงานขึ้นมา 1 ฉบับขนาดยาวมาก โดยให้ความเห็นว่า เมื่อไปตรวจสอบ พ.ร.บ.ฝิ่น (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2485 ซึ่งเป็นกฎหมายร่วมยุคเดียวกับ พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. 2486 จะเห็นว่า พ.ร.บ.ฝิ่น (ฉบับที่ 5) มีสาระขยายเวลาให้คนไปขึ้นทะเบียนสูบฝิ่นเพิ่มเติมได้ แม้ฝิ่นจะให้โทษรุนแรงแต่กลับอนุญาตให้เสพได้ตามกฎหมาย ก็เพราะว่ารัฐบาลเป็นผู้ผูกขาดผลิตฝิ่น มีรายได้ในรูปภาษีฝิ่น แต่เนื่องจากฝิ่นมีราคาแพง คนติดฝิ่นไม่น้อยเลยหันไปพึ่งกระท่อมที่มีฤทธิ์คล้ายๆ กัน ทำให้รัฐเสียรายได้ 

นอกจากนี้ พลตรี พิน โรหิตะพินทุ (พระยาอมรวิสัยสรเดช) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง (ดำรงตำแหน่งราวปี พ.ศ.2481-2488) ยังเคยอภิปรายว่า “...ฝิ่นนั้นมีภาษีมาก แต่พืชกระท่อมไม่มีภาษี เมื่อฝิ่นแพงคนก็หันไปสูบกระท่อมแทนฝิ่น ทำให้การค้าฝิ่นของรัฐบาลลดหย่อนลงเช่นนี้...” 

จากข้อมูลทั้งหมดข้างต้น คณะกรรมาธิการฯ เลยมีความเห็นว่า “แท้ที่จริงการตรา พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. 2486 และใช้สืบเนื่องมาจนทุกวันนี้ก็มีเหตุผลและหลักการทางการค้าทางภาษีของรัฐ หาใช่เพราะเหตุที่พืชกระท่อมเป็นพืชเสพติดเองไม่” 

แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ทุกวันนี้กระท่อมกลายเป็นส่วนผสมยาเสพติด “สี่คูณร้อย” ต้มรวมอะไรต่อมิอะไรจนเมาหลอน ทั้งยาแก้ไอ ยากันยุง สารฟลูออเรสเซนต์ในหลอดไฟ ฯลฯ แต่ก็อย่างที่เห็นในข่าวนั่นแหละ ถึงไม่มีกระท่อมมาผสมสี่คูณร้อย วัยรุ่นฉลาดสุดๆ ก็ยังไปสรรหาใบไม้อื่นๆ มาต้มผสมยาแก้ไอกันจนได้ เห็นใช้กันตั้งแต่ “ใบลองกอง”, “รากหมาก” ฯลฯ นั่นก็แสดงให้เห็นว่าถ้าคนมันจะเสพ มันก็เสพได้ทุกอย่าง ไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าต้องเป็นกระท่อม 

อ่านมาทั้งหมดแล้ว คิดว่า “กระท่อม” ผิดไหม?

วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog