วันที่ 28 มี.ค. ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 31 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) โดยมีวาระกระทู้ถามรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจาก สส. โดยเริ่มที่กระทู้ถามจาก ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
โดยหนี้สินของ กยศ. ถือเป็นปัญหาที่ติดพันคนไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะช่วง 25 ปีที่ผ่านมาหนี้ กยศ. ถือเป็นหนี้เสียในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย ซึ่งสูงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง ถึงร้อยละ 40 และถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องเร่งแก้ไข และเข้าใจดีว่านายกรัฐมนตรีก็ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย
ซึ่งมีการยืนยันว่า การแก้ไขปัญหาหนี้ของผู้ที่เป็นหนี้ กยศ. จะเป็นกลุ่มที่ต้องแก้ไขเป็นกลุ่มแรกๆ อย่างไรก็ตามส่วนตัวก็อยากทราบแนวทางหรือหลักเกณฑ์ในการคำนวณหนี้สิน กยศ. ยอดใหม่เป็นอย่างไร เพื่อให้ประชาชนทราบถึงรายละเอียดและเจตนาของรัฐบาล
ด้าน จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรี ได้ยืนยันว่าการดำเนินการตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา มีผู้ที่เข้าสู่ระบบการกู้ยืมของ กยศ. มากกว่า 6 ล้านคน และมีวงเงินกว่า 760,000 ล้านบาท แต่ยอมรับว่าหลังจากมีพระราชบัญญัติกู้ยืมเพื่อการศึกษา ปี 2566 ออกมา ตัวกองทุนยังไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมายที่มีการปรับแก้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองก็ได้มีการสั่งการ ให้เข้าไปเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว และประสานงานกับคณะกรรมการแก้หนี้รายย่อย
จุลพันธ์ ระบุว่า กยศ. เอง ก็ได้มีการปรับปรุงหลายประเด็นเพื่อให้ทำงานสอดคล้องกับกฎหมายที่ออกมา ถึงการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงการปรับปรุงยอดหนี้ของผู้ที่กู้ยืม นอกจากนี้ยังมีการปรับเกณฑ์การคืนเงินส่วนที่ชำระเงินจากยอดหนี้ที่มีการปรับปรุงใหม่ และเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีระเบียบกองทุนเรื่องแนวปฏิบัติการดำเนินการงดบังคับคดีชั่วคราวของผู้ที่กู้ยืมเงิน รวมถึงการถอนบังคับคดีให้กับผู้ค้ำประกันสำหรับผู้กู้ยืมเงิน
ส่วนเกณฑ์ในการปรับดอกเบี้ยมีการปรับกฎเกณฑ์เพื่อให้คำนวณอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 1% ต่อปีและเริ่มคำนวณตั้งแต่ผู้กู้ยืมเงินได้เริ่มกู้เงิน และมีการคิดย้อนหลังได้ ต่อมาคืออัตราเบี้ยในการปรับ ก่อนหน้านั้นมีการปรับ 7.5% แต่ขณะนี้ได้มีการคำนวณใหม่ที่ไม่เกิน 0.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปีซึ่งเป็นการลดภาระให้กับผู้กู้ยืมเงิน แล้วเมื่อก่อนได้เปิดโอกาสให้กู้ยืมเงินในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถึงอุดมศึกษาและจำเป็นต้องมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี แต่สิ่งที่ได้ปรับเกณฑ์ใหม่ขนาดนี้คือสามารถกู้ยืมเงินในหลักสูตรระยะสั้นได้รวมถึงมีกลไกในการให้ทุนการศึกษาและตัดเรื่องผู้ค้ำประกันออกไปอย่างเด็ดขาด
ส่วนการชำระเงินนั้นก่อนหน้านี้จะเป็นการเริ่มหักเงินเริ่มต้นที่เบี้ยปรับซึ่งเป็นไปตามกฎหมายในลักษณะของการกู้ยืมเงินเอกชนทั่วไป แต่สิ่งที่มีการปรับเปลี่ยนตามกฎหมายในครั้งนี้คือ จะเริ่มชำระบาทแรกโดยการจ่ายเงินต้นก่อนก่อนที่จะไปชำระดอกเบี้ยและเบี้ยปรับตามลำดับ เพื่อเป็นการลดเงินต้นและลดภาระในเรื่องของผู้กู้ยืมที่ตัวหนี้จะมีการขยายอย่างรวดเร็ว