ไม่พบผลการค้นหา
การเลือกตั้งทั่วไปของบราซิลที่เกิดขึ้นในวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา มีความหมายหลายอย่างต่อชาวบราซิล เมื่อ 2 ผู้เข้าสมัครเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีที่น่าจับตามองที่สุด ได้แก่ ฌาอีร์ โบลโซนาโร  ประธานาธิบดีในสมัยที่แล้ว จากพรรคเสรีนิยมซึ่งมีความคิดแบบขวาจัด และ ลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา อดีตประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายจากพรรคแรงงานที่ตำรงตำแหน่งระหว่างปี 2546 ถึงปี 2553 ได้มาท้าดวลกันในสนามเลือกตั้ง

แน่นอนว่าผลของการเลือกตั้งย่อมกำหนดทิศทาง ที่บราซิลจะเดินต่อไปในอีก 4 ปีข้างหน้า เนื่องจากผู้สมัครทั้งสอง มีนโยบายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อาทิ ในนโยบายด้านเศรษฐกิจ โบลโซนาโรเสนอการดำเนินนโยบายตลาดเสรี และการลดบทบาทของรัฐวิสาหกิจลง ในขณะที่ลูลาซึ่งมีนโยบายแบบสังคมนิยม มุ่งเน้นในการกำจัดความยากจนและความหิวโหย

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่เพียงแต่สำคัญกับชาวบราซิลเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อโลกทั้งใบอีกด้วย เพราะป่าแอมะซอนซึ่งมีพื้นที่ 60% อยู่ในประเทศบราซิล ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนของผู้สมัครทั้งสอง อีกด้วย

ป่าแอมะซอนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ปอดของโลก” เนื่องจากป่าฝนที่มีพื้นที่ประมาณ 6.7 ล้านตารางกิโลเมตรแห่งนี้ สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 2 พันล้านตันต่อปี และผลิตออกซิเจนกลับคืนสู่โลกได้ถึง 20% ของออกซิเจนทั้งหมด 

นอกจากนี้ ป่าแอมะซอนยังเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก โดย 25% ของสปีชีส์สิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกสามารถพบได้ในป่าแอมะซอน ในจำนวนนี้รวมถึงสัตว์ป่าและพันธุ์พืชบางส่วนที่ใกล้สูญพันธุ์อีกด้วย ในฐานะผู้มีสิทธิ์รับผิดชอบเหนือดินแดนป่าแอมะซอนในสัดส่วนที่มากที่สุด การดำเนินนโยบายของบราซิลย่อมส่งผลต่อทิศทางของอนาคตด้านสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์ธรรมชาติของโลกในอนาคตอย่างมาก

‘วอยซ์’ ชวนทำความรู้จักกับผู้ลงสมัครลงเลือกตั้ง ในศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้งสอง พร้อมทั้งนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและป่าแอมะซอนของพวกเขา ซึ่งจะชี้ชะตากรรมของ “ปอดของโลก” แห่งนี้ภายใต้วิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมที่ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน


ความเสื่อมโทรมของป่าแอมะซอน ภายใต้โบลโซนาโร

ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับป่าแอมะซอนระบุว่า พื้นที่ประมาณ 10,000 ตารางกิโลเมตรของป่าแอมะซอน ซึ่งเทียบเท่าจังหวัดขอนแก่นเกือบทั้งจังหวัด ได้ถูกทำลายลงไปในปีที่แล้วเพียงปีเดียว โดย ลูเซียนา กัตตี นักวิจัยจากสถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติบราซิลกล่าวว่า ป่าฝนในบราซิลกำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่แย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ อันเนื่องมาจากการงดเว้นการบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมภายในสมัยของประธานาธิบดีโบลโซนาโร “นี่เป็นความเสี่ยงที่ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของบราซิลเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของโลกทั้งใบ” กัตตีกล่าว “การไม่บังคับใช้กฎหมายส่งเสริมให้อาชญากรรรมทางสิ่งแวดล้อมลอยนวลได้”

งานวิจัยของกัตตีและทีมงานซึ่งกำลังจะตีพิมพ์บนวารสาร Nature ทำการเก็บข้อมูลตัวอย่างอากาศจากเครื่องบินเล็ก ที่บินผ่านป่าแอมะซอนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และพบว่าการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบริเวณนี้ ไม่เพียงแต่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ยังขยายตัวในอัตราที่เร็วขึ้นอย่างมากอีกด้วย โดยสัดส่วนของคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น 89% ในปี 2562 และ 122% ในปี 2563 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2553-2561

ในปี 2563 การเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีสาเหตุหลักมาจากการตัดไม้ทำลายป่าที่เพิ่มขึ้น 74% และการเผาป่าที่เพิ่มขึ้น 42% ในขณะที่ภายในปีเดียวกัน จำนวนเงินค่าปรับสำหรับอาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่เก็บได้กลับลดลง 89% ซึ่งเป็นเหตุมาจากการดำเนินคดีที่น้อยลงด้วย โดยจำนวนคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ที่ถูกบันทึกโดยเจ้าหน้าที่รัฐลดลงไป 54%

นอกจากนี้ โบลโซนาโรก็ลดทอนความสำคัญของการต่อต้านปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ลงในเวทีระหว่างประเทศอีกด้วย โดยในการประชุมสามัญของสหประชาชาติ โบลโซนาโรกล่าวว่า ป่าแอมะซอนในปัจจุบันมีสภาพดีเหมือนกับที่มันเคยเป็นในศตวรรษที่ 16 เมื่อนักเดินทางชาวสเปนมาถึงบราซิลครั้งแรก และสื่อต่างชาติกำลังบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับป่าแอมะซอน ในขณะเดียวกัน โบลโซนาโรกล่าวโทษคนพื้นเมืองว่า เป็นผู้ที่ลงมือเผาป่าเป็นส่วนใหญ่

ในแวดวงวิทยาศาสตร์มีการใช้คำว่าจุดพลิกผัน (Tipping Point) เพื่อใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่ป่าแอมะซอนกำลังแปลงสภาพตัวเองจากจุดดูดซับคาร์บอน กลายเป็นแหล่งผลิตคาร์บอนเสียเอง และทำให้แทนที่ป่าแห่งนี้จะช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกลง กลับทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงมากขึ้นแทน นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า หากการตัดไม้ทำลายป่าในบราซิลยังไม่หยุดลง ป่าแอมะซอนจะไม่สามารถกักเก็บความชื้นเพื่อรักษาสถานภาพความเป็นป่าฝนได้ และจะแปรสภาพเป็นทุ่งหญ้าสะวันนาในที่สุด

“ป่าแอมะซอนกำลังเข้าใกล้จุดพลิกผันอย่างอันตราย เราอาจเห็นพื้นที่ป่าฝนขนาดใหญ่เปลี่ยนไปเป็นที่ดินที่แห้งแล้งและถูกทำลายด้วยไฟ ในลักษณะที่ไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาได้แล้ว” ไมค์ บาร์เร็ต จากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล กล่าว

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า นักเคลื่อนไหวชาวพื้นเมืองในประเทศบราซิล ที่ออกมาเรียกร้องให้มีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจำนวนมาก เสียชีวิตลงในสมัยของโบลโซนาโร โดยเฉพาะจากการปะทะกันกับเจ้าของที่ดินที่เป็นผู้ประกอบการต่างๆ โดยการตัดไม้ทำลายป่ามักเป็นไปเพื่อสร้างฟาร์มเนื้อวัว ไร่ถั่วเหลือง และเหมืองแร่ “นักเคลื่อนไหวถูกมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของพวกเขา ผู้สื่อข่าวและนักเคลื่อนไหวอย่าง บรูโน เพเรรา และ ดอม ฟิลลิปส์ ไปจนถึงคนพื้นเมืองอย่าง เปาโล เปาลิโน กัวชาชารา ถูกฆ่าตายด้วยเหตุผลนี้” อาเดรียนา รามอส จากสถาบันวิจัยสังคมและสิ่งแวดล้อมของบราซิลกล่าว

อันที่จริง ในช่วงก่อนเลือกตั้งนี้เอง ที่อัตราการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ในเดือน ก.ย. ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง มีการรายงานเหตุไฟป่าในบราซิลเพิ่มสูงขึ้นที่สุดในรอบทศวรรษ สถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติบราซิลระบุว่า มีการแจ้งเตือนไฟป่ามากถึง 36,850 กรณีภายในเดือน ก.ย.เพียงเดือนเดียว ซึ่งมากกว่าในปี 2564 ทั้งปีเกือบเท่าตัว

การเพิ่มขึ้นของการตัดไม้ทำลายป่านี้ถูกคาดการณ์กันว่า เป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการพยายามใช้โอกาสครั้งสุดท้าย ในการยึดครองที่ดินก่อนจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อมได้ จึงเป็นที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเลือกตั้งบราซิลครั้งนี้มีความเกี่ยวข้องและสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง

“โบลโซนาโรนำบราซิลกลับไปสู่ยุคสมัยอันป่าเถื่อน ที่เราคิดกันว่ามันผ่านพ้นไปแล้ว ฉันไม่ได้กล่าวเกินจริงเลยที่ว่า ชะตากรรมของป่าแอมะซอนแขวนอยู่บนผลการเลือกตั้งในเดือน ต.ค. ถ้าโบลโซนาโรชนะการเลือกตั้งอีกสมัย ป่าฝนที่ใหญ่ที่สุดในโลกอาจเข้าสู่จุดพลิกผัน แต่ถ้าเขาแพ้ เราอาจมีโอกาสที่จะนำพาป่าแอมะซอนและบราซิลกลับมาจากขอบเหวได้” รามอสกล่าว

“ฉันไม่ได้พูดเรื่องนี้ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ แต่การเลือกตั้งในบราซิลครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งที่สำคัญที่สุด สำหรับป่าแอมะซอนและความอยู่รอดของมัน” ดร. เอริกา เบเรนเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านป่าแอมะซอนจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ กล่าวเสริม

 

คำสัญญา “สีเขียว” ของลูลา

ในขณะเดียวกัน ลูลา ซึ่งเป็นคู่แข่งของโบลโซเนโรในศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีในครั้งนี้ กลับมียุทธศาสตร์ที่ต่างออกไปสำหรับการจัดการพื้นที่ป่าแอมะซอน เขาสัญญาว่าจะแก้ไขความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม โดยการยกเลิกคำสั่งของโบลโซนาโรหลายข้อ แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูแลองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม และขับไล่คนทำเหมืองผิดกฎหมายออกจากพื้นที่อนุรักษ์ของคนพื้นเมือง

นอกจากนี้ ลูลายังเสนอให้มีการจัดทำระบบราคาคาร์บอน ที่จะสร้างต้นทุนให้ผู้ประกอบการที่ต้องการปล่อยก๊าซในปริมาณมาก และสร้างแรงจูงใจให้พวกเขาหันมาใช้วิธีการผลิต ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ลูลาสัญญาว่าจะก่อตั้งกระทรวงที่ดูแลชาวพื้นเมือง และกลุ่มชาติพันธุ์ในป่าแอมะซอนโดยเฉพาะ รวมถึงก่อตั้งคณะกรรมการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแห่งชาติ เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าบราซิลกำลังปฏิบัติตามเป้าหมายของข้อตกลงปารีสอยู่

อย่างไรก็ตาม ลูลาเองก็ไม่ได้เป็นผู้เข้าสมัครที่ “เขียว” อย่างหมดจด อันที่จริงกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมได้เคยวิพากษ์วิจารณ์ลูลา ในสมัยที่เขาเป็นประธานาธิบดีระหว่างปี 2546 ถึง 2553 ในเรื่องที่เขาอนุมัติให้มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่ง ทั้งนี้ ความมุ่งมั่นต่อนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของลูลาวางอยู่บนหลักฐานเชิงสถิติที่ว่า ในระหว่างปี 2545 จนถึง 2559 ซึ่งตรงกับสมัยที่เขาและ ดิลมา รุสเซฟ สมาชิกพรรคแรงงานของเขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี อัตราการตัดไม้ทำลายป่านในแอมะซอนได้ลดลงถึง 72%

ทั้งนี้ นโยบายของลูลานับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากที่จะปฏิบัติ เนื่องจากสิ่งที่เขากำลังจะทำนั้นมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการต่อกรกับชุมชนทำเหมืองที่ใช้พื้นที่ป่าแอมะซอนอย่างผิดกฎหมายซึ่งเขาสัญญาว่าจะกำจัดนั้น จำเป็นจะต้องใช้การเฝ้าระวังพื้นที่ป่าและการปฏิรูปการถือครองที่ดินขนานใหญ่ ภายใต้สถานการณ์ที่หลายภูมิภาคในป่าแอมะซอน ณ ตอนนี้อาจเรียกได้ว่า “ไร้การควบคุมของกฎหมาย” โดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม อิซาเบลลา เทเซรา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของบราซิล และที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมของลูลากล่าวว่า ลูลาจริงจังและทะเยอทะยานกับนโยบายสิ่งแวดล้อมในการเลือกตั้งครั้งนี้มาก เพราะไม่เพียงลูลาจะคำนึงถึงเรื่องการจัดการกับคนทำเหมือง ผู้ค้าไม้ และเกษตรกรที่ทำผิดกฎหมายในป่าแอมะซอนเพียงเท่านั้น แต่เขายังมองว่ารัฐบาลจะต้องเข้าควบคุมตลาดอาหารและทอง เพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้า รวมถึงกระตุ้นให้ผู้ผลิตใช้เทคโนโลยีเพื่อให้การผลิตเป็นไปอย่างยั่งยืนมากขึ้นด้วย

“ฉันคิดว่าลูลาน่าจะระมัดระวังตัว และมีความเข้าใจมากขึ้นว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่ และแตกต่างจากเมื่อก่อนมาก” เทเซรากล่าว

เทเซราชี้ว่า ลูลาวางแผนที่จะสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาคเอกชน รัฐบาล นักวิทยาศาสตร์ และประชาสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าที่รากฐาน เขายังมุ่งมั่นที่จะรื้อฟื้นความร่วมมือ และข้อตกลงด้านเงินทุนระหว่างประเทศ ที่ถูกปัดทิ้งไปในสมัยของโบลซาเนโร และทำให้บราซิลกลับมาเป็นผู้นำโลกด้านการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอีกครั้ง

จะเห็นได้ว่า นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้งสองนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และประเด็นดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเล็กในการเมืองบราซิลและการเมืองโลกเลย อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งในวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมายังคงไม่สามารถชี้ชะตาของป่าแอมะซอนได้อย่างชัดเจน แม้ลูลาจะมีคะแนนนำโบลโซนาโรอยู่ที่ 48.4% ต่อ 43.3% ของคะแนนเสียงทั้งหมดก็ตาม 

ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายการเลือกตั้งของบราซิลระบุว่า ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่า 50% ของผู้ใช้สิทธิ์ทั้งหมด ซึ่งหากไม่มีผู้สมัครคนใดที่สามารถทำได้ จะต้องมีการเลือกตั้งรอบ 2 อีกครั้งหนึ่ง โดยตามตารางเวลาแล้ว การเลือกตั้งครั้งที่ 2 นี้จะมีขึ้นในวันที่ 30 ต.ค. ที่กำลังจะถึง ซึ่งประชาชนจะต้องเลือกระหว่างผู้สมัคร 2 คน ระหว่าง โบลโซนาโรและลูลา ที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดในรอบแรก

ภายในระยะเวลาอีก 3 สัปดาห์ต่อจากนี้ ชะตากรรมของชาวบราซิล ชนพื้นเมือง ป่าแอมะซอน และสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของโลก จะยังคงแขวนอยู่บนคูหาเลือกตั้งของชาวบราซิล ไม่ว่าจะสนใจการเมืองบราซิลหรือไม่ก็ตาม การเลือกตั้งในครั้งนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

เรียบเรียงโดย ภีมพศ สีมาวุธ

ที่มา:

https://www.reuters.com/world/americas/brazil-election-2022-how-does-run-off-work-2022-10-03/

https://www.newscientist.com/article/2339421-brazilian-election-will-determine-the-future-of-the-amazon-rainforest/

https://www.theguardian.com/environment/2022/sep/30/fate-of-the-amazon-brazil-election-bolsonanro-lula-da-silva

https://apnews.com/article/united-nations-general-assembly-brazil-jair-bolsonaro-23facc96b7712c2a8b166a3e6cf822b7

https://www.aljazeera.com/news/2022/9/30/brazil-votes-bolsonaro-allies-stand-firm-in-amazon-bastion

https://www.reuters.com/article/uk-un-assembly-brazil-idUKKCN26D1ZF