นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ "กองทุนบัตรทอง" เพื่อให้ดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ได้กำหนดให้จัดทำสำรวจความพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นประจำทุกปี ทั้งในส่วนผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ และองค์กรภาคีเครือข่าย อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายภาคประชาชน เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ทั้งนี้ ในส่วนของความพึงพอใจของผู้รับบริการตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา กองทุนบัตรทองได้รับคะแนนความพึงพอใจอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด ตั้งแต่ 8.04 คะแนน ในปี 2550 เป็นผลคะแนนต่ำสุด ถึง 9.22 คะแนน ในปี 2560 โดยในปี 2561 อยู่ที่ 8.72 คะแนน สะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมในการบริหารจัดการกองทุนบัตรทองสามารถให้บริการได้ตรงกับความคาดหวังของประชาชนได้เป็นอย่างดี
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ผลการสำรวจความพึงพอใจของผู้ให้บริการ อาทิ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และบุคลากรในระบบสุขภาพ ระยะแรกของการดำเนินกองทุนบัตรทองที่เป็นการปฏิรูประบบสุขภาพครั้งใหญ่ของประเทศ มีการเปลี่ยนรูปแบบจัดการงบประมาณไปยังหน่วยบริการเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการของประชาชน ได้กระทบต่อผู้ให้บริการ รวมถึงยังมีข้อจำกัดต่างๆ ของระบบสุขภาพ ส่งผลให้คะแนนสำรวจความพึงพอใจของผู้ให้บริการอยู่ในระดับไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูภาพรวมความพึงพอใจของผู้ให้บริการ พบว่าคะแนนความพึงพอใจได้ขยับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากปี 2557 ถึง 2561 มีคะแนนความพึงพอใจอยูที่ 6.93, 6.98, 6.99, 7.03 และ 7.14 คะแนน โดยคะแนนความพึงพอใจต่ำสุดอยู่ที่ 6.22 คะแนน ในปี 2547 ที่เป็นช่วงเริ่มต้นกองทุนฯ
หลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำให้ประชาชนกว่า 48 ล้านคน เข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ขณะเดียวกันก็กระทบต่อผู้ให้บริการเช่นกัน ส่งผลให้คะแนนความพึงพอใจในส่วนผู้ให้บริการค่อนข้างต่ำ ที่ผ่านมา สปสช.ภายใต้การบริหารโดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อมุ่งลดผลกระทบฝั่งผู้ให้บริการ แต่ยังคงคุณภาพและมาตรฐานการบริการประชาชน อาทิ การตั้งคณะทำงานร่วมทั้งในระดับส่วนกลางและพื้นที่เพื่อร่วมจัดสรรและกระจายงบประมาณฯ การปรับปรุงระบบการเบิกจ่ายชดเชย การสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและขั้นตอนการใช้สิทธิกับประชาชน เป็นต้น
นอกจากนี้ ความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เกิดขึ้นในวันนี้ ต้องขอบคุณแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่และบุคลากรสาธารณสุขในระบบทั้งหมด ที่ได้ร่วมดูแลและบริการประชาชนจนเกิดการเข้าถึงบริการอย่างครอบคลุมและทั่วถึง
ส่วนความพึงพอใจขององค์กรภาคีเครือข่ายนั้น นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สปสช.ได้เพิ่มกลุ่มเป้าหมายการสำรวจความพึงพอใจในปี 2558 เพื่อให้ผลการสำรวจมีความครอบคลุมและรอบด้านกลุ่มประชากรที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น รวมถึงการเน้นให้เห็นถึงการมีส่วนร่วม ซึ่งผลการสำรวจในช่วง 4 ปี จนถึงปี 2561 คะแนนความพึงพอใจต่อระบบได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จาก 7.99 คะแนนในปี 2558 เป็น 90.01 คะแนนในปี 2561 นับเป็นแนวโน้มที่ดีต่อระบบ