เวลา 17.00 น. บริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หนึ่งในทีมนโยบายของผู้ว่าราชการฯ ธนิต ตันบัวคลี่ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม อุเทน ชนะกูล รองผู้อำนวยการกองคุ้มครองสวัสดิภาพ และเสริมสร้างคุณภาพชีวิต ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จักแผนพัฒนาองค์ความรู้ฯ สุขภาวะคนไร้บ้าน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศานนท์ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกที่มาลงพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งเป็นการมาดูงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ทำไว้มานานแล้ว และเชื่อว่าคณะทำงานของกทม. ซึ่งนำโดย ชัชชาติ จะให้ความสำคัญกับคนไร้บ้าน เหมือนที่ท่านเคยพูดไว้ว่า คนไร้บ้าน ต้องไม่ไร้สิทธิ ซึ่งคนไร้บ้านเป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบทางโควิด-19 จึงทำให้ไม่มีที่อยู่อาศัย
ศานนท์ กล่าวว่า มาตการที่ทาง กระทรวงพม. ทำมาก่อนเช่น จุด Drop-In เพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้านที่มายังสถานีรถไฟหัวลำโพงก็เป็นสิ่งทีทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้น และจะมีโครงการที่เรียกว่า ‘ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง’ ซึ่งสร้างทางเลือกโอกาสชีวิตให้แก่คนไร้บ้าน โดยทาง สสส. จะช่วยเหลือในเรื่องที่พักอาศัย และจะออกค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่งในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนขยับขยาย โดยมาตรการเหล่านี้เป็นสิ่งที่กทม. ต้องเข้ามาช่วยเหลือ
“การมาทำแบบนี้มันมีความสำคัญ มันคือการช่วยมนุษย์คนคนหนึ่ง อาจจะได้รับผลกระทบบางอย่าง และให้สามารถกลับสู่ระบบที่ดำเนินชีวิตต่อไปได้” ศานนท์ กล่าว
ศานนท์ กล่าวว่า เรื่องความกังวลของการปฏิบัติงานนั้นมันมีความซับซ้อนหลายเรื่อง ถ้าเราดูคนไร้บ้านจะสะท้อนว่ามันเป็นอาการของคนจนเมือง สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือ ทำอย่างไรให้คนจนเมืองที่เปราะบางไม่เข้าสู่ภาวะไร้บ้าน ซึ่งที่ต้องเรียกว่าภาวะ เพราะไม่ได้เป็นสิ่งที่ถาวร ฉะนั้น เราต้องเร่งดำเนินการให้ ประเด็นคนไร้บ้านที่เขาเพิ่งมายังกทม. ออกจากวงจรนี้ให้เร็วที่สุด ซึ่งทางทีมงานที่ดูแลในเรื่องนี้ก็ได้ทำอย่างต่อเนื่อง
ศานนท์ กล่าวว่า คนไร้บ้านไม่ได้มีแค่คนทั่วไป แต่ยังมีผู้พิการ ซึ่งทาง กทม. ก็ต้องมีคนที่เป็นจิตเวชเพื่อดูแลคนไร้บ้านทุกคน ซึ่งส่วนที่มีอาการป่วยต้องดูแลเป็นพิเศษ กทม.ในฐานะองค์กรท้องถิ่น ต้องยื่นมือเข้ามาช่วย และประสานกับภาคีเครือข่ายมากมาย เพื่อร่วมแก้ปัญหาคนจนเมือง
ขณะที่ เกษรา กล่าวว่า ตอนทำนโยบายในช่วงหาเสียงก็ได้มาลงพื้นที่บริเวณหัวลำโพง ซึ่งตอนนั้นคนไร้บ้านเยอะกว่านี้ ต้องขอบคุณทางกระทรวงพม. และสสส. ที่ทำให้จำนวนคนไร้บ้านลดลง ซึ่งโมเดลคนไร้บ้านมันคือ คนส่วนใหญ่ที่อยากทำงาน มันต้องมีจุดเริ่มต้นที่ดี แล้วทำให้คนเหล่านั้นจุดต่อไปได้ จุดเริ่มที่ดีอย่าง จุด Drop-In ทำแคมป์ให้คนไร้บ้านมาพักก่อน เพื่อไปหางานทำ และมาอาศัยในโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่งต่อ การช่วยคนไร้บ้านมันมีหลายมิติ และมีหลายเหตุผลว่าทำไมเกิดคนไร้บ้าน อะไรคือปัจจัย ส่วนหนึ่งต้องทำให้เขามีสิ่งที่จะสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ และกทม.ต้องเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับพวกเขาได้ และพยายามทำให้คนเหล่านั้นเริ่มเข้าสู่การหารายได้ และมีที่พักอาศัย
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรอบเวลาในการดำเนินงาน เกษรา กล่าวว่า อยากให้คนไร้บ้านน้อยลง แต่มันเป็นการกำหนดเกณฑ์ที่ยาก แต่ทิศทางที่เราจะทำคือ ทำให้คนไร้บ้านไม่เป็นคนไร้บ้านถาวร ทำอย่างไรไม่ให้เขาไร้บ้านแต่แรก ซึ่งบางอย่างมันอาจจะเกินขอบเขต แต่ที่สำคัญคือ เมื่อเขาไร้บ้านแล้ว เราอยากไม่ให้เขาไร้อย่างถาวร เพื่อกลับไปเป็นคนธรรมดาตามที่พวกเขาอยากเป็น
เกษรา เสริมว่า ทำไมคนไร้บ้านถึงอยู่ที่หัวลำโพง หรือสนามหลวง จริงๆ แล้วตอนลงพื้นที่ทำนโยบาย ก็ได้ไปนั่งสัมภาษณ์คนไร้บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่คนที่มายังหัวลำโพงก็จะคิดว่าเป็นจุดที่หางานได้ และมีคนเอาของมาให้เยอะ ดังนั้น ที่อยู่อาศัยที่ดีคือต้องอยู่ใกล้แหล่งงาน ต้องมีที่อยู่อาศัยคล้ายๆ บ้านอุ่นใจหลายๆ ที่ เพื่อแก้ปัญหาคนไร้บ้าน