ไม่พบผลการค้นหา
อนาคตของการศึกษาต้องเร่ิมที่ครู ทำความรู้จักอินสครู (insKru) พื้นที่ที่ครูผู้เชื่อในความเปลี่ยนแปลง ร่วมกันออกแบบห้องเรียนที่มีความสุขให้นักเรียนไทยทุกคน

ปัจจุบัน ความรู้นอกห้องเรียนสามารถเข้าถึงง่าย ทั้งค่ายกิจกรรม เวิร์กช็อป และคอร์สออนไลน์ เกิดขึ้นมากมายให้เลือกเรียนได้ในราคาถูกจนถึงฟรี ตัวเลือกที่เพิ่มขึ้นทำให้โรงเรียนไม่ใช่สถานที่ผูกขาดความรู้อีกต่อไป

นะโม - ชลิพา ดุลยากร เป็นคนหนึ่งที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษา และมองว่าครูเป็นส่วนสำคัญ เธอจึงริเริ่ม insKru พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอนของครูไทยทั่วประเทศขึ้นมา ด้วยความเชื่อว่าในประเทศนี้มีครูที่มีเทคนิคการสอนดีซุกซ่อนกันอยู่อย่างกระจัดกระจาย และคงจะดีหากมีพื้นที่ให้ครูทุกคนได้มาแชร์ไอเดียที่ดีที่สุดของตัวเองกัน เพื่อนำไปพัฒนาการสอน

inskru_08.jpg
  • นะโม - ชลิพา ดุลยากร หนึ่งในผู้ริเริ่ม insKru

“นะโมก็เป็นคนหนึ่งที่อยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลง แล้วตอนแรกก็ไปเป็นครูอาสา อยากจะไปช่วยเด็กๆ ตรงนั้น แต่พอกลับมาปุ๊บ เราเหมือนไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะสุดท้ายเราสอนยังไงเขาก็ต้องกลับไปเรียนกับครูที่อยู่ตรงนั้น เพราะฉะนั้นก็เลยได้ความคิดมาว่า ทำกับครูในระบบนี่แหละสำคัญที่สุดแล้ว อิมแพ็กต์ที่สุดแล้ว

“เราอยากจะเห็นว่า ไม่ว่าเราจะจิ้มไปที่ห้องเรียนไหนในประเทศไทยในขณะนั้น เด็กในพื้นที่นั้นเขากำลังเรียนรู้อย่างมีความสุข แล้วเรารู้สึกว่าการที่จะเกิดแบบนั้นได้ ปัจจัยที่สำคัญก็คือคุณครู”

ออกแบบห้องเรียนด้วยความคิดสร้างสรรค์

ภายในเว็บ insKru ซึ่งมีที่มาจากคำว่า inspire (สร้างแรงบันดาลใจ) กับคำว่า ครู อุดมไปด้วยเทคนิคการสอนจากครูทั่วประเทศที่แบ่งปันถึงกัน โดยมีนะโมและทีมรวบรวมจัดเป็นหมวดหมู่ และวาดภาพประกอบให้ ซึ่งไอเดียใน insKru จะแบ่งออกเป็นสองด้านใหญ่ๆ คือ เทคนิคการสอน และ การจัดการห้องเรียน

สำหรับไอเดียที่ ครูแบ๊ง - ชัยวัฒน์ อังคตรีรัตน์ จากโรงเรียนสตรีวิทยา ทดลองสอนและนำมาแบ่งปันกับ insKru คือการสอนภูมิศาสตร์มัทธยมปีที่ 2 ผ่านนิยายแชทในเว็บจอยลดา เพราะนักเรียนในชั้นเป็นนักเรียนหญิงล้วน ชื่นชอบดาราเกาหลีและนิยายแชท เขาจึงเริ่มศึกษาเรื่องของดาราเกาหลี และนำ ‘คู่จิ้น’ อย่าง จีฮุน และ ควานลิน จากวง Wanna One มาเป็นตัวละครในฟิคจอยลดาที่สอดแทรกบทเรียนภูมิศาสตรืไว้เพื่อทำให้เด็กรู้สึกสนุกไปกับการเรียนวิชาของเขา

“น่าเสียดายที่คิดมาได้ไอเดียหนึ่งแล้วมันอยู่แค่ในห้องเรียน คาบหนึ่งก็คิดยากเหมือนกัน แต่เราก็คงคิดคาบดีๆ แบบนี้ไม่ได้ทุกคาบ ถ้ามันมีคาบที่สุดของทุกๆ คนมาแบ่งกันก็น่าจะดี” นะโมกล่าว

inskru_06.jpg
  • ตัวอย่างการนำเรื่องใกล้ตัวมาประยุกต์กับการสอน จากเพจ insKru 'กรณี หมูป่า สอนวิชาอะไรได้บ้างนะ '

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวแล้วนะโมชอบคาบเรียนที่ไปถึงแก่นของบทเรียนว่าเรียนรู้ไปทำไม เช่น การสอนเรื่อง ชั่ง ตวง วัด ผ่านการทำน้ำแดงมะนาวโซดา เมื่อทำเสร็จแล้วจึงบอกนักเรียนให้ทำอีกรอบหนึ่งให้อร่อยเหมือนเดิม เพื่อให้เข้าใจว่าคอนเซปต์ของการ ชั่ง ตวง วัด คือการกำหนดหน่วยบางอย่างขึ้นมาเพื่อสื่อสารกัน และทำให้เราสามารถทำสิ่งเดิมให้เกิดขึ้นอีกรอบได้ด้วยสัดส่วนเท่าเดิม

“นะโมมองว่า มันจะมีอะไรที่เป็นกิมมิกคือทำให้การเรียนมันสนุกขึ้น กับวิธีการที่เราไปถึงคอนเซปต์ของเรื่องนี้ แล้วนอกจากนั้นไอเดียในเว็บก็จะเป็นเทคนิคในการแก้ปัญหาต่างๆ เด็กไม่แสดงความคิดเห็นทำยังไงได้บ้าง เด็กกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนทำยังไงได้บ้างที่เราจะแก้ตรงนี้”

ครูนี - ณัฏฐา เลาะวิถี ครูวิชาภาษาอังกฤษ ระดับชั้นมัทธยมต้น จากโรงเรียนจอมสุรางค์อุปภัมภ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้นำเทคนิค 'ตัวละครลับ' จาก insKru ไปใช้โดย กำหนดภารกิจในแต่ละคาบ แล้วสุ่มหยิบเลขที่ของนักเรียนมาหนึ่งคน เพื่อเป็นตัวละครลับทำภารกิจของห้อง เช่น ตอบคำถามได้ วางรองเท้าเป็นระเบียบ ไม่คุยเสียงดัง ซึ่งหากทำสำเร็จทั้งห้องก็จะได้รางวัลไป แต่นักเรียนจะไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ทำภารกิจของห้องในครั้งนั้น ทำให้ทั้งห้องต้องช่วยกันเตือน ร่วมกันทำภารกิจ เพราะไม่มีใครรู้ว่าตัวเองจะใช่ตัวละครลับหรือไม่

inskru_02.jpg
  • ครูนี - ณัฏฐา เลาะวิถี ครูโรงเรียนจอมสุรางค์อุปภัมภ์

ครูนี เล่าว่า พฤติกรรมของ เด็กม.ต้น อาจจะชอบคุยเสียงดังหรือไม่สนใจการเรียน จึงนำเทคนิคนี้ไปใช้ โดยกำหนดภารกิจว่าวันนี้หากตัวละครลับตอบคำถามทุกคำถามได้ ก็จะได้รางวัลกันทั้งห้อง ปรากฏว่าคาบนั้นเป็นคาบที่เด็กพร้อมจะตั้งใจฟังทุกอย่างที่สอน เพราะการทำภารกิจส่งผลกับคนทั้งห้องไม่ใช่แค่ตัวเอง ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าต้องช่วยกัน เธอจึงนำเทคนิคนี้มาใช้ในการสอนตลอด โดยเปลี่ยนภารกิจและรางวัลไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างความท้าทาย

“บางทีวันไหนที่เราไม่ได้เตรียมมิชชันมา แล้วอยู่ดีๆ เด็กในห้องก็ถามว่า ‘ครูคะ วันนี้มิชชันอะไร’ ถามก่อนแล้ว เขารอที่จะทำมิชชันนั้น แล้วก็ลุ้นว่าเมื่อไรจะเป็นตาเขา เมื่อไรเขาจะได้เป็นคนที่ครูเอ่ยนามว่าเป็นคนที่ถูกแรนด้อมนะ ก็เป็นการสร้างห้องเรียนเชิงบวกมากๆ เหมือนกัน เหมือนเขาก็ภูมิใจด้วยว่าเขาทำแล้วเพื่อนได้รางวัลทั้งห้องนะ”

ด้วยเทคนิคนี้ รางวัลเล็กน้อยจากครูอย่างการให้ขนม เปิดเพลงให้ฟัง ไม่มีการบ้าน หรือส่งงานช้าได้หนึ่งครั้ง ก็ทำให้พฤติกรรมของทั้งห้องเรียนเปลี่ยนไปโดยได้โดยที่ครูไม่ต้องใช้การดุด่าหรือการตีนักเรียนเลย


ความสัมพันธ์ที่ดี เทคนิคที่เหมาะสม
ส่วนผสมของห้องเรียนที่มีความสุข

ครูแต่ละคนยอมมีธรรมชาติที่ต่างกัน เช่นเดียวกันกับนักเรียน และโรงเรียนที่มีความหลากหลาย ความแตกต่างนี้ทำให้นะโมมองว่าไม่มีไอเดียการสอนที่ดีที่สุด ครูบางคนอาจจะไม่เหมาะกับการเล่นใหญ่หรือการตั้งคำถามทั้งคาบ แต่อาจจะเล่าเลคเชอร์ได้สนุก ไอเดียที่ดูธรรมดาสำหรับครูคนหนึ่ง อาจจะจุดประกายให้ครูคนอื่นๆ ก็ได้ พื้นที่ของ insKru จึงมักจะมีเสียงตอบรับหรือรีวิวของครูกลับมาเสมอ ว่าหลังจากลองใช้เทคนิคต่างๆ ในห้องเรียนของตัวเองแล้วเหมาะ ไม่เหมาะ หรือมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรให้เข้ากับนักเรียนของตัวเอง

inskru_03.jpg

“ไอเดียมันเป็นเหมือนโปรโตไทป์ค่ะ บางคนอาจจะเวิร์กกับอันนี้ ไม่เวิร์กกับอันนี้ แล้วมันก็ไม่ใช่อะไรที่เป็นแผนการสอนสำเร็จรูปที่บอกว่าผลิตอันนี้ขึ้นมาแล้วใช้ทั่วประเทศ แบบนี้มันก็ไม่ใช่ มันเป็นเรื่องของการการลองผิดลองถูกของครู แต่จุดสำคัญคือต้องกลับมาทบทวนกับสิ่งที่เราทำไปว่าเป็นยังไง แล้วนะโมว่าจุดสำคัญคือเราต้องหมั่นพัฒนาตัวเอง”

อย่างไรก็ตาม เทคนิคเพียงปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักเรียนสนใจกับการเรียนมากขึ้น แต่เทคนิคก็คงไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด เมื่อจุดหมายปลายทางคือการสร้างห้องเรียนที่มีความสุขขึ้นมา

สำหรับนะโมแล้ว ห้องเรียนที่มีความสุขมีองค์ประกอบสามอย่างด้วยกัน หนึ่ง คือ นักเรียนต้องเป็นเจ้าของการเรียนรู้ เรียนในสิ่งที่สนใจไม่ใช่สิ่งที่ป้อนเข้ามา สอง นักเรียนมีอิสระในการคิด ไม่ใช่เป็นเพียงการระบายสีไปตามช่องที่กำหนด และข้อสุดท้าย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือครูต้องเป็นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เพราะหากครูยังใช้อำนาจกับเด็ก ยังดูห่างกัน ก็จะไม่สามารถทำให้การเรียนรู้แบบนั้นเกิดขึ้นได้

“มันเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ของครูกับนักเรียน เรื่องของการจัดการห้องเรียน การตั้งข้อตกลงร่วมกันมันก็เป็นส่วนสำคัญที่ถ้าทำได้ดีตั้งแต่ต้นมันก็ช่วยทำให้คาบนั้นมันไปได้ เช่น มีอะไรก็กล้าพูด กล้าถาม ผิดก็ไม่เป็นไร ถ้าเราเซ็ตตรงนี้ได้ตั้งแต่ต้น คาบเรียนมันก็จะไปในเวย์นั้นได้ด้วย มันก็มีเทคนิคที่นอกจากการสอนอีก”


สังคมการเรียนรู้ของครูที่เชื่อในการเปลี่ยนแปลง

ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ครูย่อมมีข้อผิดพลาดได้เป็นธรรมดา เช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ การเรียนครุศาสตร์อาจไม่ได้ผลิตครูอาชีพที่เก่งที่สุดออกไปได้ทันทีที่จบการศึกษา ทว่าการสั่งสมประสบการณ์การทำงานและการเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลาต่างหากที่ทำให้การสอนดีขึ้น

ครูคัตเตอร์ - วิจินต์ รวมฉิมพลี ครูวิชาชีววิทยาระดับม.ปลาย โรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธาราม จังหวัดปทุมธานี ก็เป็นครูคนหนึ่งที่เข้าสู่ชีวิตการสอนในปีที่ 5 แต่ยังคงมีความรู้สึกว่าตัวเองยังมีเทคนิคการสอนที่ยังไม่ดีพอ และต้องการจะพัฒนาตัวเองจึงติดตามไอเดียจาก insKru เพื่อนำมาประยุกต์กับห้องเรียนของตัวเอง โดยในปัจจุบันก็สอนผสมกันทั้งคาบที่จริงจังและคาบที่เป็นกิจกรรม

inskru_05.jpg
  • ครูคัตเตอร์ - วิจินต์ รวมฉิมพลี ครูโรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธาราม

“ผมรู้สึกว่าที่เด็กไม่สนุกกับการเรียน อาจจะเป็นเพราะเทคนิควิธีการสอนของเราหรือเปล่า เพราะเด็กถูกสื่อรุมเยอะมาก เฟซบุ๊ก ไอจี หรือยูทูบก็แล้วแต่ มันทำให้เด็กเห็นโลกกว้างมากขึ้น ถ้าเรายังใช้วิธีการสอนแบบเดิมๆ เขาก็จะรู้สึกไม่เอ็นจอยกับการสอน ผมเชื่อว่าถ้าเขามีทัศนคติที่ดีกับประสบการณ์ที่ดีในวิชานั้น หรือกับครูๆ นั้นๆ เขาก็จะตั้งใจเรียนมากขึ้น”

แม้จะยังมีครูจำนวนไม่น้อยที่ยังคงยึดมั่นว่าการสอนแบบเดิมๆ ก็ดีอยู่แล้ว นะโมมองว่าการเปลี่ยนจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจากการทำให้เห็น ไม่ใช่เพียงแค่ไอเดียที่นำเสนอ แต่มีเสียงจากเพื่อนครูที่นำเทคนิคใหม่ๆ ไปปฏิบัติจริง ครั้งหนึ่งนะโมเคยกลับไปถามครูในโรงเรียนของเธอว่าคาบเรียนที่ประทับใจที่สุดในชีวิตคือคาบไหน ครูท่านนั้นกลับนึกไม่ออก ซึ่งนะโมก็มองว่าคงเป็นเรื่องยากที่ครูคนหนึ่งจะออกแบบคาบเรียนหากไม่เคยมีประสบการณ์หรือไม่เคยเห็นห้องเรียนที่เป็นเช่นนั้นมาก่อน

“นะโมว่าถ้าเกิดเขาได้เห็น หรือได้มีประสบการณ์สักครั้งกับห้องเรียนที่มันว้าว มันจะเปลี่ยนเขาเลยนะ”

การสร้างชุมชนของครูจึงไม่จำกัดอยู่เพียงในโลกออนไลน์ แต่ยังมีการจับมือกับครูกลุ่มต่างๆ เพื่อจัดเวิร์กช็อปแบบออฟไลน์ให้ครูที่เชื่อในการเปลี่ยนแปลงได้มาพบปะกัน เพราะนะโมมองว่าเมื่อครูเข้าถึงไอเดียใน insKru ได้แล้ว ขั้นต่อไปคือการจุดประกายให้ครูสร้างสรรค์ไอเดียของตัวเองออกมาได้ด้วย จึงนำความรู้จากการเรียนสถาปัตยกรรมมาจัดเวิร์กช็อป โดย 'ครูเอทีฟ' เวิร์กช็อปครั้งแรกของ insKru เรื่องความคิดสร้างสรรค์ มีครูสนใจสมัครเข้าร่วมกว่า 150 คน มีครูมาจากหลากหลายพื้นที่ตั้งแต่ขอนแก่นตลอดจนปัตตานี

inskru_07.jpg
  • ครูแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเวิร์กช็อปออกแบบการเรียนรู้เชิงวิพากษ์

“เขารู้สึกดีมากที่ได้มาเจอกับเพื่อนครูที่คิดเหมือนกันๆ การได้มาเจอกับคนที่อยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงร่วมกัน มันก็เป็นพลังให้เขามาก เราก็เลยจัดมาเรื่อยๆ เลยค่ะ มีครูขอคอร์สนู้นคอร์สนี้ทั้ง visual thinking ทั้ง design thinking มันก็ทำให้เห็นเลยว่าครูไทยก็อยากพัฒนาตัวเอง มันเปลี่ยนภาพของครูไปเลย เขาอยากจะพัฒนาตัวเองเพื่อเด็กๆ ของเขา”

ครูบุ๊คบิ๊ก - เติมพงศ์ กิจจานุลักษ์ ครูในโครงการ Teach for Thailand ผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อป critical thinking ได้ให้ความเห็นว่า ชอบไอเดียที่ได้จาก insKru โดยเฉพาะการสร้างวัฒนธรรมในห้องเรียน ทำให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข โดยครูและนักเรียนเท่าเทียมกัน

“ผมคิดว่ามันเป็นพื้นที่ที่ทำให้สังคมคุณครูได้เชื่อมต่อกัน รู้สึกว่ามันมีประโยชน์มากๆ ครับที่มันจะไม่จบแล้วก็หยุดอยู่ในแค่ 50 นาที หรือว่าหนึ่งชั่วโมงในห้องเรียนของตัวเอง”