ไม่พบผลการค้นหา
ผศ.ดร. เกื้ออนันต์ เตชะโต คณบดีคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลักดัน ‘เกาะยอโมเดล’ หวังสร้างชุมชนต้นตามแนวคิด ‘ขยะเท่ากับศูนย์’ (Zero Waste)

ย้อนกลับไปยังพ.ศ. 2547 ถือเป็นขวบปีที่จังหวัดสงขลาเริ่มต้นสถิติปริมาณขยะมูลฝอยที่ไม่สวยงามนัก เมื่อกรมควบคุมมลพิษประกาศว่า สงขลาเป็นพื้นที่ที่มีขยะมูลฝอยมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ จนหลายฝ่ายต่างตื่นตัวกับตัวเลข และเร่งพยายามหาทางแก้ไข 

น่าเสียดายว่า หลายโครงการไม่สัมฤทธิ์ผล และพวกเขายังครองแชมป์ต่อเนื่องนานถึง 7 ปี กระทั่งพ.ศ. 2561 พื้นที่กำจัดขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดสงขลา เกิดขยะมูลฝอยสะสมมากถึง 2,471,840 ตัน

ปัญหาขยะรอบๆ ตัวส่งผลให้ อาจารย์เกื้อ - ผศ.ดร. เกื้ออนันต์ เตชะโต คณบดีคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตัดสินใจผลักดันวิจัยหัวข้อ ‘เกาะยอโมเดล’ ที่เน้นแนวทางการจัดการปัญหาขยะแบบครบวงจร โดยทุกคนควรเริ่มต้นจากครัวเรือน ไม่ใช่หวังพึ่งพาเทคโนโลยี 

ทีมงาน Voice On Being จึงเดินทางสู่ตำบลเกาะยอ จังหวัดสงขลา เพื่อพูดคุยกับผู้ริเริ่มแนวทางการแยกขยะระดับครัวเรือนด้วยแผน ‘เกาะยอโมเดล’ ว่าแท้จริงแล้วมันสามารถช่วยแก้ปัญหาน่าหนักใจในชุมชนอย่างไร?

1.jpg
  • ผศ.ดร. เกื้ออนันต์ เตชะโต คณบดีคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ไม่มีใครอยากได้โรงกำจัดขยะ 

อาจารย์เกื้อท้าวความว่า เมื่อก่อนทางจังหวัดมอบหมายให้อำเภอบริหารจัดการขยะ ทว่าคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเลือกจัดการปัญหาด้วยเทคโนโลยีหลายประเภท เช่น การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ ซึ่งเห็นตัวอย่างจากประเทศแถบสแกนดิเนเวีย

“สำหรับประเทศไทย จิ้มลงตรงไหนคงไม่มีใครอยากได้โรงไฟฟ้า หรือโรงกำจัดขยะ เพราะหากจะมาตั้งข้างบ้านเราก็ต้องคิดแล้วว่า เชื่อใจได้ไหม บริหารอย่างไร แล้วไหนจะมลพิษ และกลิ่นไม่พึงประสงค์ ในประวัติศาสตร์ก็มีตัวอย่างไม่ดีๆ ออกมาจำนวนมาก” 

ราวกับกำลังเลคเชอร์นักศึกษา อาจารย์เกื้อเปรียบเทียบให้ฟังแบบง่ายๆ ว่าประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า หรือโรงกำจัดขยะ เหมือนกับการแต่งรถยนต์ คุณสามารถจะใส่สปอยเลอร์ หรือติดอุปกรณ์เสริมดีเยี่ยมเข้าไปได้ เชานเดียวกับโรงงานเผาขยะ ซึ่งสามารถใส่ระบบบำบัดอันดีเยี่ยมเข้าไปได้ด้วยเช่นกัน แต่อย่าลืมว่า รายได้มาจากการขายไฟฟ้า ถ้าลงทุนกับการบำบัดเยอะไป กำไรจะน้อยลงจนกระทั้งขาดทุน ซึ่งไม่ตอบโจทย์การทำธุรกิจสิ้นเชิง 

“ที่ผ่านมาเราเห็นแล้วว่า โรงไฟฟ้า หรือโรงกำจัดขยะ ไม่ได้มีมาตรการดีพอ และเกิดปัญหาตามมาเสมอ ไม่แปลกที่ชาวบ้านจะกลัวกันหมด แต่ที่ทำกันตอนนี้ก็เหมือนผลักภาระให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ครัวเรือนทิ้งขยะกันตามปกติ เพราะคิดว่ามีส่วนกลางคอยจัดการให้ ซึ่งไม่ง่ายสำหรับภาครัฐ เพราะต่อให้มีงบประมาณ แต่การหาพื้นที่  การมีส่วนร่วมกับชุมชน หรือการเฝ้าระวังมลพิษล้วนเต็มไปด้วยปัญหาทั้งสิ้น” 


ปัญหาขยะต้องอาศัย 'ครัวเรือน' มากกว่า 'เทคโนโลยี' 

คณบดีของคณะการจัดการสิ่งแวดล้อมบอกว่า ปัญาหาคือ หลายคนมองภาพใหญ่เกินไป และหวังใช้เทคโนโลยีมาช่วยแก้ไขปัญหาทั้งหมด และการผลักภาระให้หน่วยงานภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งมันพิสูจน์แล้วว่า ไม่ได้ผล การกำจัดขยะควรจะเริ่มจากครัวเรือน หรือระดับเล็กๆ แบบพอจะตกลงกันได้ 

2.jpg
  • จังหวัดสงขลามีปริมาณการผลิตขยะต่อวันสูงสุดในภาคใต้ โดยตัวเลขอยู่ที่ 1,501 - 2,000 ตัน/วัน

อาจารย์เกื้อพูดพร้อมรอยยิ้มว่า การกำจัดขยะในครัวเรือนไม่ใช่เรื่องใหม่ ขนาดตัวเขาเองอายุ 44 ปี ยังเคยสดับรับฟังเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่เด็ก แต่สิ่งที่ทำให้การจัดการขยะของประเทศไทยเทียบชั้นญี่ปุ่น หรือเยอรมันไม่ติดคือ ‘ความต่อเนื่อง’ 

“เราไม่ได้เพิ่งสนใจปัญหาเรื่องขยะ ผมเกิดมาก็มีโครงการตาวิเศษแล้ว ถ้าลดระดับการกำจัดขยะมาถึงชุมชน หรือครัวเรือน คนในพื้นที่จะเห็นแล้วว่า ขยะไม่ได้มาจากอำเภอข้างเคียง แต่เกิดจากพวกเขานั่นแหละ

หากระดับของการกำจัดขยะมีขนาดใหญ่ เช่น รวบรวมหลายจังหวัดมาไว้ที่เดียว ความเป็นปัจเจกก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ถ้ามองเชิงสังคม คนในชุมชนจะคุยกันง่ายกว่า ในเมื่อเราเป็นผู้ผลิตขยะ เป็นผู้ใช้ และผู้บริโภค ก็ควรจะมีส่วนในการรับผิดชอบ ไม่ควรคิดทำนองว่า จ่ายค่าเก็บขยะแล้วก็จบกันไป”


'เกาะยอโมเดล' ต้นแบบการแยกขยะชุมชน 

นอกจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดสงขลาแล้ว ภูมิประเทศของตำบลเกาะยอ ซึ่งแยกออกชุมชน และเชื่อมต่อกับแผ่นดินใหญ่ด้วยสะพานติณสูลานนท์ ทำให้ที่นี่อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหาร โฮมสเตย์ และระบบนิเวศน์หลากหลาย จึงเหมาะแก่การพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับการกำจัดขยะในครัวเรือน หรือชุมชนกลุ่มย่อย 

“ระดับของการกำจัดขยะควรจะจบในพื้นที่ของตัวเอง ไม่ได้จำกัดต้องเป็น 1 ครัวเรือนเท่านั้น หากสนิทใจจะร่วมกันสัก 3-4 ครัวเรือนก็ได้ แต่ความจริงอยากให้เป็นหน่วยเดียวกันนั้นหมดเช่น ครัวเรือน ร้านอาหาร โรงเรียน หรือหน่วยงานราชการ”

3.jpg
  • ถังหมักปุ๋ยอินทรีย์จะทำให้ขยะมูลฝอยกลายเป็นปุ๋ย และกลับมาช่วยพัฒนาเกาะอีกครั้ง ซึ่งคณะการจัดการสิ่งแวดล้อมกำลังหาวิธีลดราคาถังหมักปุ๋ยอินทรีย์ให้เหมาะสมกับชาวบ้านมากขึ้น

อาจารย์เกื้อบอกว่า อยากเริ่มต้นจากการคัดแยกขยะที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ และขยะประเภทเศษอาหารออกจากกัน ขยะประเภทพลาสติก หรือวัสดุประเภทต่างๆ สามารถจำหน่าย ณ ร้านรับซื้อขยะรีไซเคิล ส่วนเศษอาหารสามารถนำไปหมักเป็นปุ๋ย ซึ่งสุดท้ายจะไม่ออกไปจากเกาะ และวนกลับมาสร้างประโยชน์ให้ชุมชน

“ชุมชนเกาะยอสามารถนำปุ๋ยหมักไปใช้กับสวนของตนเองได้โดยตรง สิ่งเหล่านี้จะหมุนเวียน และไม่รั่วไหลออกไปจากเกาะ นอกจากกระบวนการขั้นพื้นฐานก็จะเป็นส่วนที่คณะการจัดการสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง เราอยากได้ถังหมักปุ๋ยที่มีเซนเซอร์บอกสภาวะที่เหมาะสมของปุ๋ย แล้วเชื่อมต่อกันอย่างทั่วถึงบนเกาะ นอกจากปริมาณของปุ๋ยหมักที่ออกมาแล้วยังสามารถบอกว่า สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้เท่าไร 

ทั้งนีิ้ ส่วนของขยะรีไซเคิล คิดว่าน่าจะคุ้นกับตู้รับซื้อขวดพลาสติกแบบที่เคยเห็นในต่างประเทศ แต่ราคาในตลาดของเครื่องนี้อยู่ประมาณ 200,000 บาท ก็มอบหมายให้นักศึกษาคนหนึ่งจัดการว่า จะสามารถหาวิธีลดต้นทุนให้เหลือสัก 50,000 บาท เพื่อให้เหมาะกับชุมชนมากขึ้น” 


สิ่งสำคัญคือ ต้องแสดงให้ชุมชนเห็นว่า สามารถลดผลกระทบได้จริง 

อาจารย์เกื้ออธิบายต่อว่า เทคโนยีถังขยะอัจฉริยะมีให้เห็นแล้วในหลายประเทศ และสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ถ้าสามารถจัดการขยะมูลฝอย และขยะรีไซเคิลได้อย่างมีระบบ ขยะประเภทเดียวที่จะเหลือบนเกาะยอคือพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Use Plastics) ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะมีเทคโนโลยีในการนำพลาสติกเหล่านี้ไปแปรรูปเป็นกระเบื้องยางที่กำลังพัฒนาเข้ามาช่วย 

เป้าหมายคือ Zero Waste ใจกลางชุมชนอาจจะมีหน้าจอที่บอกว่า วันนี้เกาะไม่ได้ปล่อยอะไรที่เป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมออกมา และสามารถลดผลกระทบได้มากเท่าไหร่
4.jpg
  • ชาวบ้านในเกาะยอมีอาชีพหลักเป็นการประมง และทำเกษตรกรรม

“ถ้าหากไล่เรียงประวัติศาสตร์จะเห็นว่าหลายพื้นที่ทำไว้ดีมาก แต่ไปไม่รอดเพราะไม่ทำอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำหรับการบริการจัดการขยะคือต้องทำให้ครบทุกองค์ประกอบ การคัดแยกต้องดี การวัดผลต้องเรียบร้อย และต้องมีการกำกับควบคุม เฟืองใดเฟืองหนึ่งหายไปไม่ได้ นอกจากนั้นความสม่ำเสมอของการทำจะต้องต่อเนื่องจนติดเข้าสายเลือด ให้เป็นนิสัยถาวรของเหมือนชาวญี่ปุ่นหรือเยอรมันที่เรายกตัวอย่างกันเป็นประจำ” อาจารย์เกื้อทิ้งท้าย 


‘นายหัวบ่าว’ โฮมสเตย์บนเกาะยอที่แทบไม่ต้องเสียค่าไฟ เพราะมี ‘ขยะรีไซเคิล’ ออกให้ 

นอกจาก ‘เกาะยอโมเดล’ ที่รอเวลาริเริ่มโครงการ ชาวบ้านที่อาศัยบนเกาะยอก็มีส่วนช่วยในรักษาสิ่งแวดล้อมไม่น้อย อย่าง ลุงพิท - พิทยา วรรณโร ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 บ้านอ่าวทราย และผู้ดูแลโฮมสเตย์นายหัวบ่าวจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นชาวเกาะยอโดยกำเนิดบอกว่า ชุมชนของเขามีโฮมสเตย์ราว 69 หลัง และได้รับเสียงตอบรับจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี ส่วนเรื่องขยะที่เกิดจากการท่องเที่ยวก็ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะเบื้องต้นผู้ประกอบการได้มีการพูดคุย เพื่อเตรียมการรับมือเรียบร้อยแล้ว

5.jpg
  • พิทยา วรรณโร ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 บ้านอ่าวทราย และผู้ดูแลโฮมสเตย์นายหัวบ่าว

“สมัยก่อนผู้ประกอบการบางคนขี้เกียจเอาถุงขยะไปทิ้งบนฝั่งเลยโยนลงทะเล ภายหลังก็สกรีนชื่อทุกโฮมเสตย์ หากใครทำผิดจะรู้ตัวการทันที ที่นี่มีถังขยะสำหรับแยกไว้อยู่แล้วติดไว้ชัดเจนว่าถังไหนสำหรับเศษอาหาร ถังไหนสำหรับขวด แยกให้เห็นชัดเลย (ยิ้ม) ลูกค้าก็ให้ความร่วมมือดี ส่วนพวกที่มักง่ายหายาก”

เนื่องจากการบอกเล่าตัวอย่าง โดยไม่แสดงให้เห็นอาจจะยากที่จะได้รับความร่วมมือ ลุงพิทเลยบอกว่า เวลาพาลูกค้านั่งเรือมาที่โฮมสเตย์แล้วเห็นขยะลอยอยู่ต่อให้อ้อมก็ต้องไปเก็บ เพราะการจัดการขยะนอกจากได้เรื่องสิ่งแวดล้อมแล้วยังมีมูลค่าอีกด้วย 

“ขยะที่เป็นเศษอาหารผมจะเอาไปให้ปลา ข้าวสวย เนื้อหมู หอย ปลากินได้หมด ส่วนอะไรที่ทำให้ทะเลเราเสียหายก็เก็บไปขึ้นฝั่ง ส่วนสิ่งที่เป็นมูลค่าอย่างขวดหรือกระดาษผมแปลงไปเป็นเงินได้ทั้งนั้นเพราะมีคนมารับซื้ออยู่แล้ว

ผมขายขวดได้เดือนนึง 1,500 - 2,000 บาท แทบไม่ต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟด้วยซ้ำ
6.jpg
  • ลุงพิทสามารถสร้างรายได้จากการขายขยะรีไซเคิลเฉลี่ยต่อเดือน 1,500 - 2,000 บาท และสูงกว่าตัวเลขดังกล่าวในฤดูกาลท่องเที่ยว

ก่อนเดินทางออกจากทะเลสาบสงขลา ที่สร้างระบบนิเวศน์อันสวยงามแก่เยอะยอ ลุงพิทบอกว่า ธรรมชาติของที่นี่อาจจะหายไป หากทุกคนไม่ช่วยกันดูแล

“เราไม่อยากให้มีขยะ แต่เป็นแค่กลุ่มเล็กๆ บางครั้งมันสู้ไม่ไหวถ้าคนส่วนใหญ่จะทิ้ง สำหรับผมพร้อมช่วยเต็มที่ถ้าเห็นขยะต่อหน้าผมเก็บหมด แต่ปัญหาขยะมันขึ้นอยู่กับส่วนรวม และจิตสำนึก” ลุงพิททิ้งท้าย