พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบเเห่งชาติ (คสช.) กำลังถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ กรณีตอบรับเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีให้กับพรรคพลังประชารัฐ
โดยหลายฝ่ายเข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ตรวจสอบสถานะการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีโดยยกเหตุผลในการร้องว่า สถานะของพล.อ.ประยุทธ์ เข้าข่ายเป็น “เจ้าหน้าที่รัฐ” ซึ่งอาจจะขาดคุณสมบัติในการถูกเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามบัญชีของพรรคการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (15) หรือไม่
แม้ต่อมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ออกมาระบุว่า ป.ป.ช.เคยมีมติเมื่อปี 2557 ว่า คสช.เป็นตำแหน่งพิเศษ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ จึงไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ดังนั้น นายกรัฐมนตรีซึ่งมีตำแหน่งหัวหน้าคสช.อยู่ด้วย จึงมิใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และไม่ขาดคุณสมบัติในการถูกเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีตามบัญชีของพรรคการเมือง
อย่างไรก็ตามล่าสุดสังคมออนไลน์มีการแชร์ภาพใบสมัครแคนดิเดตนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีการระบุชัดเจนว่า เป็นข้าราชการทางการเมือง ทำให้หลายคนตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและถูกต้องกันอย่างกว้างขวาง
ภาพจากเฟซบุ๊กฉเวงสัก ดิศเรศตรกุล
ด้าน น.ส.ณัฎฐา มหัธนา แกนนำคนอยากเลือกตั้ง ได้เเสดงข้อกฎหมายพร้อมกับระบุว่า ตำแหน่งหัวหน้าคสช. เป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” (ได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้ง รับเงินเดือนจากรัฐ ออกคำสั่งบังคับใช้ในบ้านเมืองได้ ฯลฯ) นี่คือตำแหน่งที่ทำให้ขาดคุณสมบัติสำหรับการเป็นผู้ถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี
และเมื่อพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่าเหตุใดจึงมีการห้ามข้าราชการและเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ก็คงทำความเข้าใจได้ไม่ยากว่าเป็นไปเพื่อป้องกันการขัดกันของผลประโยชน์ ไม่ให้สามารถใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์หรือมีอิทธิพลต่อประชาชนผู้ลงคะแนน อันจะมีผลต่อความบริสุทธิ์ยุติธรรมของการเลือกตั้งได้