ไม่พบผลการค้นหา
การตัดต่อรูปลามกมีความผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และยังสามารถฟ้องเรียกความเสียหายทางแพ่งได้อีกด้วย ปัญหาสำคัญคือ ต้องระบุตัวผู้กระทำผิดให้ได้

เป็นอีกครั้งแล้วที่กลุ่มไอดอลสาววง BNK48 เข้าแจ้งความเพิ่มเติม และติดตามความคืบหน้าของคดี หลังถูกนำภาพไปตัดต่อเป็นภาพลามกอนาจาร

แน่นอนว่า เมื่อมีชื่อเสียงย่อมตกเป็นเป้าได้ง่าย แต่พวกเธอก็มักมีผู้ดูแล และทนายความพร้อมให้คำแนะนำ ดำเนินการทางกฎหมายให้ ทว่าหากคุณเป็นบุคคลธรรมดา ความรู้ทางกฎหมายแค่นิดๆ หน่อยๆ จะปกป้องตัวเองอย่างไร?

ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ข้อมูลว่า ความผิดหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้มีอยู่ 2 มาตราด้วยกัน โดยเป็นความผิดที่ระบุในพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือ ที่มักเรียกโดยย่อว่า พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์

ม.14 (4) นำภาพลามกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ม.16 นำภาพที่สร้างขึ้น ตัดต่อ หรือดัดแปลงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท

สาเหตุที่เมื่อมีเรื่องราวของภาพที่สงสัยว่า เป็นภาพตัดต่อใส่ความ เรามักจะได้ยินชื่อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มากกว่ากฎหมายหมิ่นประมาทนั้น เธออธิบายว่า หากพิจารณาตามความผิดจริงๆ แล้ว ก็นับว่าผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 และ 328 ด้วย แต่ในกรณีของภาพตัดต่อลามกนั้นมักจะฟ้องเป็นความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

เนื่องจากความผิดอาญานั้น หากเป็นความผิดจากการกระทำเดียวแต่ผิดหลายมาตรา จะลงโทษด้วยมาตราที่มีโทษหนักที่สุดเพียงมาตราเดียว โดยโทษที่หนักที่สุดในกรณีนี้ก็คือความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ม.16

law16.PNG
  • ภาพจากเว็บไซต์สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

นอกจากนี้ การเอาผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ม.14 (4) นั้นก็สามารถพิสูจน์ได้ง่ายกว่า คือแค่พิจารณาว่าภาพนั้นเป็นภาพลามกหรือเปล่า และผู้ต้องหาเป็นคนนำเข้าสู่อินเทอร์เน็ตหรือเปล่าก็เพียงพอ แม้จะพิสูจน์ว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพจริง ไม่ได้มีการตัดต่อ แต่เป็นภาพลามกจริงๆ ก็ยังคงผิดตามมาตรานี้

ความผิดตาม ม.14 (4) นี้ ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าภาพหรือข้อความนั้นทำให้เราเสียหายอย่างไร รวมถึงไม่มีข้อยกเว้นโทษด้วย ขณะที่กฎหมายหมิ่นประมาทนั้นมีข้อยกเว้น เช่น หากทำโดยสุจริต หรือทำเพื่อประโยชน์สาธารณะก็อาจจะไม่ต้องรับโทษ หรือมาตรา ม.16 เองก็มีข้อยกเว้นในกรณีที่ทำไปโดยสุจริต เป็นการติชมอย่างเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ผู้เสียหายสามารถฟ้องทุกมาตราไปก่อนได้ แล้วศาลจะเป็นคนพิจารณาเองว่าจำเลยผิดมาตราไหน

law14.PNG
  • ภาพจากเว็บไซต์สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

สำหรับภาพตัดต่อโดยทั่วไปที่ไม่ใช่ภาพลามกด้วยนั้นไม่มีความผิด จะต้องเป็นภาพตัดต่อที่มีเจตนาทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น อับอาย หรือถูกเกลียดชัง

หากพบว่าตัวเองตกเป็นผู้เสียหาย สามารถแจ้งความกับตำรวจให้รวบรวมสำนวนส่งอัยการเพื่อเป็นโจทก์แทนเราได้ แต่ในกรณีที่ตำรวจไม่รับฟ้อง ดำเนินการล่าช้า หรือมีเหตุที่รู้สึกว่าตำรวจจะเข้าข้างอีกฝ่าย ผู้เสียหายสามารถยื่นฟ้องได้เอง แต่ศาลจะต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อนว่าคำฟ้องของเรามีมูลหรือไม่ แล้วศาลจึงจะประทับรับฟ้องไว้พิจารณา

อย่างไรก็ตาม นอกจากความผิดทางอาญาแล้ว ผู้เสียหายยังสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพิ่มเติมได้อีกตาม ม.420 ทำให้ผู้อื่นเสียหายไม่ว่าประมาทหรือจงใจ โดยความเสียหายต่อชื่อเสียงก็นับเป็นความผิดตามมาตรานี้ด้วยเช่นกัน

law420.PNG
  • ภาพจากเว็บไซต์สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ปัญหาประการสำคัญกรณีลักษณะนี้คือ มักจะดำเนินการช้า เนื่องจากไม่ทราบตัวผู้กระทำผิด เพราะภาพเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตผ่านบัญชีที่ใช้นามแฝง

“ถ้าเกิดสมมติไม่ทราบตัวผู้กระทำความผิด และต้องให้เจ้าหน้าที่สืบหาให้ ก็จะค่อนข้างนานอยู่เหมือนกัน ค่อนข้างยาก เพราะส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่จะสืบหาเรื่องของคนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความมั่นคง หรือเรื่องทางการเมือง แต่เรื่องส่วนตัวอย่างนี้ ส่วนใหญ่คือ เราต้องเป็นคนสืบหาเองว่า คนแสดงความคิดเห็นคือใคร ถ้ารู้จะดีมาก เวลาไปแจ้งความก็ระบุตัวเลย

“แต่ถ้าเกิดไม่รู้ เราก็ระบุกับเจ้าหน้าที่ว่า ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับคนที่นำภาพเราไปตัดต่อ ชื่อไอดีนี้ ซึ่งไม่ทราบชื่อ-นามสกุลจริงให้ช่วยสืบหาให้”

On Being
198Article
0Video
0Blog