ไม่พบผลการค้นหา
องค์กรนานาชาติเพื่อการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก ออกรายงานล่าสุดเกี่ยวกับการใช้ม.112 ในประเทศไทย

4 มี.ค.2564  ARTICLE 19 องค์กรนานาชาติเพื่อการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกได้ออกรายงานฉบับล่าสุดเกี่ยวกับประเทศไทย ชื่อ ‘ทลายความเงียบงัน: การกลับมาใช้กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ในประเทศไทย’ โดยอธิบายสถานการณ์ความรุนแรงในการใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา พร้อมข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลคือ

1.     ยุติการดำเนินคดีอาญาด้วยมาตรา 112 โดยทันที

2.     ปล่อยบุคคลที่ถูกคุมขังจากการละเมิดมาตรา 112 ในปัจจุบันทุกคนโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข

3.     ยกเลิกมาตรา 112

ทั้งนี้ ARTICLE 19 เป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติที่ทำงานเพื่อปกป้องและส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากทั่วทุกภูมิภาคของโลก ดำเนินงานมากว่า 20 ปี โดยชื่อองค์กรนั้นมาจากข้อมาตรา 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และ มาตรา 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ก็ได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลอย่างมากต่อสถานการณ์การใช้กฎหมายนี้ โดยเฉพาะคดีของ ‘อัญชัญ’ หญิงวัย 60 ปีที่ถูกตัดสินโทษจำคุก 43 ปี พร้อมเรียกร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีนี้ใหม่ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ยกเลิกการลงโทษที่รุนแรง ทั้งยังให้ความเห็นที่แข็งกร้าวว่าการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เพื่อเอาผิดประชาชนต้องไม่เกิดขึ้นในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย

ในรายงานของ ARTICLE 19 หยิบยกหลายกรณีที่สะท้อนปัญหาของการใช้กฎหมายมาตรา 112 อาทิ การคุมขังแกนนำ 4 คนโดยไม่ให้ประกันตัว, การใช้กฎหมายนี้กับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่วิพากษ์วิจารณ์กรณีการจัดการวัคซีน, การใช้กับเยาวชนอายุ 17 ปี, การแจ้งดำเนินคดีกับประชาชนอย่าน้อย 59 ราย, การดำเนินคดีกับ นักปกป้องสิทธิที่นำความเห็นของผู้แทนพิเศษของยูเอ็นที่เคยวิจารณ์มาตรา 112 ไปปราศรัย เป็นต้น

รายงานอ้างอิงถึงมาตรา 19 ของ ICCPR กติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยให้สัตยาบรรณไว้ตั้งแต่ปี 2539 มาตรานี้ระบุว่า  

"บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินั้นรวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ไม่ว่าด้วยวาจา เป็นลายลักษณ์อักษร หรือการตีพิมพ์ ในรูปแบบของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก”

ทั้งนี้เงื่อนไขที่สิทธิเสรรีภาพในการแสดงออกจะถูกจำกัดได้นั้น นิยามไว้อย่างแคบ คือ ต้องมีการระบุไว้ในกฎหมาย, ต้องเป็นไปเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ชอบธรรมและต้องมีความจำเป็นและได้สัดส่วนกับกฎหมายนั้น

รายงานระบุอีกว่า อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญและองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่มีความเห็นร่วมกันว่า ควรยกเลิกความผิดอาญาในการหมิ่นประมาท ในความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 34 คณะกรรมการรสิทธิมนุษยชน หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการติดตามการบังคับใช้ ICCPR ระบุว่า การตัดสินจำคุกจากการหมิ่นประมาท "ไม่ใช่การลงโทษที่เหมาะสมไม่ว่าในกรณีใด" และเรียกร้องให้รัฐภาคีพิจารณายกเลิกความผิดทางอาญาในการหมิ่นประมาท

"เพียงแค่ข้อเท็จจริงที่ว่า รูปแบบการแสดงออกถือเป็นการดูถูกดูแคลนบุคคลสาธารณะนั้น ไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนการกำหนดบทลงโทษ...นอกจากนั้นบุคคลสาธารณะทุกคน รวมถึงบุคคลที่มีอำนาจทางการเมืองสูงสุด เช่นประมุขของรัฐหรือรัฐบาล จะต้องอยู่ภายใต้การถูกวิพากษ์วิจารณ์และการคัดค้านทางการเมืองอย่างชอบธรรม...กฎหมายไม่ควรกำหนดโทษที่รุนแรงกว่า บนพื้นฐานของเพียงแค่อัตลักษณ์ของบุคคลที่อาจถูกประณาม" ความเห็นทั่วไปฉบับที่ 34 คณะกรรมการรสิทธิมนุษยชน

รายงานระบุว่า กฎหมายมาตรา 112 ขัดกับหลัก ‘ภัยคุกคาม’ ที่เป็นข้อยกเว้นให้จำกัดเสรีภาพได้ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะภัยคุกคามตามแบบที่มาตรา 112 นำไปบังคับใช้มีขอบเขตกว้างขวางเกินไป เปิดช่องว่างให้ตีความได้พร่ำเพรื่อ นอกจากนี้กฎหมายอาญาก็กำหนดโทษเกี่ยวกับการขู่ใช้กำลังอยู่แล้ว การกำหนดความผิดแยกต่างหากเพื่อปกป้องราชวงศ์จึงไม่มีความจำเป็น

รายงานระบุว่า ที่ผ่านมาองค์กรและผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนได้เรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกมาตรา 112 หรือปฏิรูปให้เป็นไปตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในปี 2560 ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติก็เคยเรียกร้องให้มีการทบทวนกฎหมายนี้ คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการของสหประชาชาติก็พิจารณาการควบคุมตัวด้วยข้อหามาตรา 112 ว่าเป็นไปโดยพลการ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเองก็เคยเสนอให้ไทยทบทวนมาตรา 112 เมื่อปี 2560