ไม่พบผลการค้นหา
'ปิยรัฐ' มองศาลฎีกาตัดสิทธิ 'พรรณิการ์' ตลอดไป ไม่ใช่เขียนเสือให้วัวกลัว แต่นักการเมืองทุกคนมีโอกาสต้องโทษย้อนหลัง ย้ำควรแก้ รธน. ศาลไม่ควรชี้ผิดถูกเรื่องจริยธรรม โยนสังคมถกถาม ไม่ใช่แค่เรื่องของ 'ก้าวไกล'

วันที่ 21 ก.ย. ที่อาคารรัฐสภา ปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีศาลฎีกาพิพากษา พรรณิการ์ วาณิช อดีต สส.อนาคตใหม่ และโฆษกคณะก้าวหน้า ถูกถอนสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้งตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต โดยระบุว่าการแถลงข่าววันนี้ไม่ได้เจาะจงเฉพาะประเด็นของ พรรณิการ์ แต่พูดถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ

พร้อมตั้งคำถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่เรียกว่า “ฉบับปราบโกง” เป็นการปราบโกงหรือปราบใคร เพราะพบว่ามีปัญหาแฝงในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นการให้อำนาจองค์กรอิสระ ออกมาตรฐานจริยธรรมของแต่ละองค์กรขึ้นมา มีผลให้ สส. สว. และรัฐมนตรีอยู่ภายใต้มาตรฐานจริยธรรมนี้ และเมื่อ สส. สว. และรัฐมนตรี มีปัญหาข้อพิพาทเรื่องใดก็แล้วแต่ กลับไม่ได้จบภายในองค์กรที่สังกัด แต่กลับให้อำนาจองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรค 3 วรร 4 ที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระวินิจฉัยเอาผิดต่อได้ ถือเป็นการลงโทษซ้ำซ้อน 

ปิยรัฐ ยังระบุว่าปัญหาคือการใช้มาตรฐานจริยธรรมขององค์กรอิสระมาใช้กับนักการเมือง จึงต้องถามกับองค์กรอิสระว่ามนอดีตเคยทำผิดจริยธรรมหรือไม่ก่อนมาดำรงตำแหน่ง ความผิดของ พรรณิการ์ เป็นความผิดที่เกิดขึ้นก่อนมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง 

"นี่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง แต่เป็นการเปิดโอกาสให้รัฐธรรมนูญกลั่นแกล้งนักการเมือง ปราบนักการเมืองที่ไม่ยอมจำนน และนักการเมืองที่ไม่ยอมอยู่เป็น ด้วยกฎหมายนี้"

ด้าน อนุสรณ์ แก้ววิเชียร สส.นนทบุรี พรรคก้าวไกล ระบุว่า พรรณิการ์ เป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ตั้งแต่ตั้งพรรคอนาคตใหม่ ก่อนตั้งคำถามว่ามาตรฐานจริยธรรมของสส. ต้องย้อนกลับไปก่อนที่จะมาเป็น สส.หรือไม่ พฤติกรรมในอดีตสามารถนำมาใช้ในขณะเป็น สส.หรือไม่ รวมถึงการกระทำที่เกิดไปแล้ว ความผิดเหล่านั้นยังคงติดตัวหรือไม่ พร้อมฝากไปถึงองค์กรอิสระว่าสิ่งที่วางบรรทัดฐานไว้ถูกต้องหรือไม่ 

นอกจากนี้ คนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีโทษในมาตรา 112 หากถูกตรวจสอบจริยธรรมจะซ้อนทับกับกฎหมายอาญาหรือไม่ และยุติธรรมหรือไม่ หากในอนาคตกฎหมายนี้ย้อนกลับมาที่ตัวท่านเอง 

ด้าน ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวว่าในแง่ของกฎหมาย ไม่ควรมีกฎหมายลงโทษย้อนหลัง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นการตัดสิทธิ์ทางการเมือง หากเทียบทางอาญาถือเป็นโทษประหารชีวิต ถือเป็นโทษสูงหากเทียบพฤติการณ์ 

เมื่อถามว่า ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ออกมาแสดงความเห็นว่าพรรคก้าวไกลแสดงท่าทีล่าช้า และแล้งน้ำใจ ปิยรัฐกล่าวว่า ความเห็นดังกล่าวถือเป็นคุณูปการกับพรรค ในนามพรรคก้าวไกลได้มีการแถลงข่าวผ่านทางเพจเฟซบุ๊คไปแล้ว แต่ในการแถลงข่าววันนี้ไม่ได้แถลงในนามพรรค ไม่ได้ต้องการให้มองว่าเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล พรรคก้าวไกลก็หารือภายใน ไม่สามารถแอคชันได้ทันท่วงที เนื่องจากเมื่อวานนี้ (20 ก.ย.) มีการประชุมสภาด้วย

เมื่อถามต่อว่าได้มีการคุยกับ พรรณิการ์ หรือไม่ ปิยรัฐ กล่าวว่าส่วนตัวไม่ได้คุยกับ พรรณิการ์ แต่คิดว่าทางพรรคน่าจะพูดคุยกันตามปกติ 

ส่วนแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญ หากไม่อยากให้ศาลพิจารณาเรื่องจริยธรรม ปิยรัฐ ระบุว่า ตามที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.แบบบัญชีรายชื่อ ได้นำเสนอการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการต่อยอด นี่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่เราเสนอให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและไม่เกิดเครื่องมือทางการเมือง

กฎหมายจริยธรรม ควรอยู่ภายใต้สภา หรือเป็นกฎหมายรอง หรือไม่ การเอาผิดวินัยก็มีกฎหมายอื่นบังคับใช้อยู่ แต่ละองค์กรมีกลไกอยู่ ซึ่งอาจเป็นการหารือภายในองค์กร ศาลไม่ควรชี้ผิดถูกเรื่องจริยธรรม เพราะเรื่องจริยธรรมไม่ใช่เรื่องเดียวกับข้อกฎหมาย หากมองว่าการวินิจฉัยไม่เป็นธรรมควรไปร้องศาลปกครอง 

ส่วนมองว่าเป็นการเขียนเสือให้วัวกลัวหรือไม่ ปิยรัฐมองว่าไม่ใช่การเขียนเขียนเสือให้วัวกลัว เพราะไม่ได้พุ่งเป้ามาที่พรรคก้าวไกล หรือคดีมาตรา 112 เท่านั้น แต่คำถามสำคัญก็คือ กรณีทั่วไปที่ศาลเคยตัดสินโทษไปแล้ว ศาลฎีกาจะกลับมาเอาโทษนักการเมืองคนนั้นในภายหลังได้อีกหรือไม่ 

“ผมว่าไม่ใช่การเขียนเสือให้วัวกลัว เพราะไม่ได้พุ่งเป้ามาที่พรรคก้าวไกลเท่านั้น แต่นักการเมืองทุกคน ต้องสำนึกว่ากฎหมายอยู่ในมือใคร และจะใช้กฎหมายกับใคร” ปิยรัฐ กล่าว