หลังโจ ไบเดน คว้าเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 'กมลา แฮร์ริส' กลายเป็นรองประธานาธิบดีที่สร้างประวัติศาสตร์ 'ครั้งแรก' อย่างมากมาย ทั้งเป็นผู้หญิงคนแรกของสหรัฐฯ ที่ได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ประกอบกับพื้นเพในฐานะผู้มีเชื้อสายทั้งฝั่งแอฟริกันและเอเชียใต้
ในสุนทรพจน์ความยาวประมาณ 11 นาที 'กมลา' เริ่มด้วยการยกย่องความสำคัญของประชาธิปไตยที่ชาวอเมริกันร่วมออกมาแสดงเจตจำนงผ่านการเลือกตั้งที่เพิ่งจบลงและความหวังใหม่ที่กำลังจะเข้าไปบริหารทำเนียบขาว
"สำหรับชาวอเมริกันผู้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศอันสวยงามนี้ ขอบคุณที่ออกไปลงคะแนนท่วมท้นอย่างเป็นประวัติการณ์เพื่อทำให้ทุกคนได้ยินเสียงของคุณ"
"คุณเลือกความหวัง ความเป็นหนึ่งเดียวกัน ความสุภาพ วิทยาศาสตร์ และ ใช่ ความจริง คุณเลือกโจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป"
เมื่อกล่าวยกย่องความเหมาะสมของไบเดนจบ สตรีผู้เต็มไปด้วยรอยยิ้มและความเข้าถึงง่ายพาผู้รับฟังสุนทรพจน์แรกของเธอไปยังเรื่องราวอันเป็นภาพจำสำคัญของสหรัฐฯ อย่าง 'ความฝันอเมริกัน' (American Dream) ผ่านชีวิตของ 'ชายมาลา โกปาล์น แฮร์ริส' หญิงอินเดียผู้เป็นมารดาของรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 49
"ตอนเธอมาจากอินเดียเมื่ออายุ 19 ปี บางทีเธอคงไม่ได้จินตนาการถึงช่วงเวลานี้ แต่เธอเชื่ออย่างสุดซึ้งต่อสหรัฐฯ ว่าช่วงเวลาแบบนี้เป็นจริงได้ ดังนั้น ฉันจึงคิดถึงเธอและเหล่าผู้หญิงรุ่นก่อน ผู้หญิงผิวดำ หญิงเอเชีย ผู้หญิงผิวขาว หญิงละติน หญิงอเมริกันพื้นเมือง ตลอดทั้งประวัติศาสตร์ชาติของเรา ผู้ซึ่งผูทางให้เกิดช่วงเวลาในค่ำคืนนี้
เหล่าสตรีผู้ต่อสู้และเสียสละมหาศาลเพื่อความเท่าเทียม เพื่ออิสรภาพ และความถูกต้องเพื่อส่วนรวม ซึ่งนับรวมหญิงผิวดำผู้มักถูกมองข้ามอยู่บ่อยครั้งแต่ก็ยังพิสูจน์อย่างต่อเนื่องว่าพวกเธอเป็นกระดูกสันหลังแห่งประชาธิปไตยของเรา
เหล่าสตรีที่ทำงานเพื่อปกป้องสิทธิในการลงคะแนนเสียงมากว่าศตวรรษ: 100 ปีที่แล้วกับการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 19, 55 ปีที่แล้วกับกฎหมายรองรับสิทธิในการลงคะแนน และ ณ ตอนนี้ ปี 2563 กับยุคสมัยใหม่ที่ผู้หญิงในประเทศของเราที่ออกมากาบัตรเลือกตั้งและต่อสู้อย่างต่อเนื่องเพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานในการลงคะแนนและทำให้เสียงของตนเองถูกรับฟัง
ค่ำคืนนี้ ฉันมองย้อนกลับไปยังความเหนื่อยยากของพวกเธอเหล่านั้น ความมุ่งมั่ง และพละกำลังในวิสัยทัศน์ เพื่อมองให้เห็นว่าฉันสามารถปลดเปลื้องภาระอะไรลงมาได้บ้าง ฉันยืนอยู่บนบ่าของพวกเธอเหล่านั้น"
หลังถ่ายทอดเรื่องราวของเหล่าสตรีที่นำพาประเทศชาติมาถึงจุดที่สหรัฐฯ เป็นอยู่ รองประธานาธิบดีหญิงคนแรกก้าวข้ามสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันและหันไปให้กำลังใจเด็กสาวที่กำลังเติบโตและเฝ้าคอยเวลาจะขึ้นมายืนในตำแหน่งที่เธอกำลังยืนหรือจุดที่สูงกว่านั้น
"แม้ฉันจะเป็นผู้หญิงคนแรกในตำแหน่งนี้ แต่ฉันจะไม่ใช่คนสุดท้าย"
"เพราะเด็กหญิงทุกคนที่กำลังรับชมสิ่งที่เกิดขึ้นในคืนนี้ได้ตระหนักแล้วว่า นี่เป็นประเทศแห่งความเป็นไปได้ และสำหรับเด็กทุกคนในประเทศของเรา ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศใด ประเทศเราได้ส่งสารชัดเจนออกไปแล้ว : จงฝันด้วยความทะเยอทะยาน ลุกขึ้นมานำด้วยความเชื่อมั่น และมองให้เห็นตัวเองแม้ในมุมที่คนอื่นอาจไม่เห็นคุณแค่เพราะพวกเขาไม่เคยได้สัมผัสสิ่งนั้นมาก่อน และเราจะร่วมปรบมือให้คุณตลอดทุกย่างก้าวในทางเดินนั้น"
รองประธานาธิบดีหญิงผู้ก้าวผ่านสารพัดอุปสรรคและขึ้นมายืนในฐานะผู้บุกเบิกหนทางสำคัญปิดท้ายว่า การบริหารประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นในสมัยของโจ ไบเดน ไม่ได้ทำเพื่อคนที่โหวตให้เดโมแครตเท่านั้น แต่เพื่อสหรัฐฯ และชาวอเมริกันทุกคน
เธอย้ำว่าหนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล และเธอไม่ได้ไร้เดียงสาเกินที่จะไม่รู้ว่าถนนที่กำลังเดินเต็มไปด้วยขวากหนาม แต่เป็นอีกครั้งที่เธอย้ำชัดว่า "อเมริกาพร้อมแล้ว เช่นเดียวกับตัวโจและเธอเอง"
สตรีวัย 56 ปี ผู้ที่ไม่ได้ผ่านชีวิตอุดมศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยระดับไอวีลีก (Ivy League) อย่าง ฮาร์วาร์ด, เยล, ปรินซ์ตัน หรือบราวน์ แต่เป็นศิษย์เก่าสำคัญของมหาวิทยาลัยโฮเวิร์ดในกรุงวอชิงตัน ไม่เพียงกำลังจะก้าวมาเป็นรองประธานาธิบดีของประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก แต่ยังแบกความหวังของผู้คนอีกหลายหลายที่ถูกกดขี่และไม่อาจลุกขึ้นมายืนอย่างเต็มภาคภูมิ
กมลา เกิดและเติบโตขึ้นมาในเมืองโอคแลนด์ เขตอาลาเมดา รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยมีมารดาผู้เป็นนักวิจัยด้านมะเร็งอย่าง ชายมาลา โกปาล์น แฮร์ริส และ โดนัลด์ แฮร์ริส บิดานักเศรษฐศาสตร์เชื้อชาติจาไมกา หลังทั้ง 2 พบกันที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ระหว่างศึกษาต่อระดับปริญญาโท และเริ่มสนิทชิดเชื้อกันจากความหลงไหลในประเด็นสิทธิพลเมือง ก่อนแยกทางกันเมื่อเธออายุได้ 7 ปี
ไม่เพียงเธอจะเติบโตขึ้นมาท่ามกลางประท้วงที่ครอบครัวพาไปตั้งแต่เด็ก ชื่อ 'กมลา' ที่มารดาเป็นผู้ตั้งให้นั้น ยังสื่อสัญญะออกมาหลายแง่ ทั้งความหมายในภาษาอินเดียที่แปลว่าดอกบัว, การเป็นอีกชื่อเรียกหนึ่งของพระลักษมีหนึ่งในเทพเจ้าของศาสนาฮินดู และความหมายแห่งการเป็นสตรีผู้ทรงอำนาจ
ชายมาลา เคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ลอสแอนเจลิสไทมส์ เมื่อปี 2547 ชี้ว่า "วัฒนธรรมที่เคารพบูชาเทพเจ้าหญิงจะก่อร่างให้เกิดสตรีผู้แข็งแกร่ง"
ภายหลังเติบโตขึ้นมาจำสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเอกการเมืองและเศรษฐศาสตร์ กมลาพาตัวเองเข้าสู่โรงเรียนกฎหมาย ก่อนได้รับตำแหน่งผู้ช่วยอัยการแขวงซึ่งดูแลคดีเกี่ยวข้องกับอาชกรรมทางเพศในปี 2533 และขึ้นมาดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย ตั้งแต่ปี 2554 - 2560
หน้าที่การงานของเธอเติบโตสอดคล้องกับคำวิพากษ์วิจารณ์หนาหูตลอดมา ทว่าความสัมพันธ์ของเธอและอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา เริ่มมาตั้งแตสมัย บารัค อยู่ในตำแหน่งวุฒิสภาช่วงปี 2547 อีกทั้งเธอยังเป็นผู้สนับสนุนบารัคอย่างเป็นทางการในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 4 ปีต่อมา
แม้จะเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน กมลา ไม่ได้ชื่นชอบที่ถูกเรียกว่าเป็น 'บารัคหญิง' เธอเคยกล่าวกับผู้สื่อข่าวช่วงเดินสายหาเสียงว่า "ฉันมีผลงานชีวประวัติเป็นของตัวเอง"
นับถึงจุดนี้ กมลา ได้พิสูจน์ตนเองมาอย่างยาวนาน แต่หนทางของเธอในฐานะรองประธานาธิบดีหญิงที่ต้องแบกสารพัดปัญหาเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น แน่นอนว่าทั่วโลกกำลังจับตาดูว่า 'ผลงานชีวประวัติ' เมื่อการดำรงตำแหน่งของกมลา แฮร์ริสมาถึงจะเป็นเช่นไร
อ้างอิง; NYT, Vox, CNN, NBC, POLITICO, NEW YORKER, USA Today
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;