ไม่พบผลการค้นหา
องค์ประกอบ 3 ประการ ได้แก่ ตัวรบกวน-การแบ่งเผ่าพันธุ์ทางการเมือง-ทฤษฎีสมคบคิด ทำให้ยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยสภาพ 'ความไม่รู้'

สิ่งที่ยากพอๆ กับการตอบคำถามว่าเมื่อไหร่ประชาธิปไตยไทยจะเต็มใบเสียที คือการตีความว่าแท้จริงแล้ว 'ignorance' (อิกนอแรนซ์) ศัพท์ภาษาอังกฤษที่มีรากมาจากภาษาฝรั่งเศสดั้งเดิมและภาษาละตินมีความหมายครอบคลุมคุณลักษณะใดบ้าง ทั้งนี้ 'ignorance' ที่เข้าใจโดยทั่วไปคือ 'ความไม่รู้' 

ในบทความล่าสุดของ 'ทิม ฮาร์ฟอร์ด' นักเศรษฐศาสตร์ผู้แต่งหนังสือเรื่อง The Undercover Economist ที่ตีพิมพ์บนหนังสือพิมพ์เดอะไฟแนนซ์เชียลไทมส์ เขาระบุ 3 องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ยุคปัจจุบันกลายเป็นห้วงเวลาแห่งการเติบโตอย่างสุดโต่งของ 'ความไม่รู้' โดยอ้างอิงข้อศึกษาของ 'โรเบิร์ต พร็อกเตอร์' ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้เชี่ยวชาญในศาตร์การศึกษาความไม่รู้ (Agnotology) ทั้งยังเคยออกมาเตือนตั้งแต่ปี 2559 ว่า "เรากำลังมีชีวิตอยู่ในยุคทองของความไม่รู้"

เอเอฟพี - ignorance
  • ภาพแสดงข้อความว่า "การไม่รู้คือความผาสุก"

ศิลปะแห่งความฟุ้งซ่าน 

องค์ประกอบสนับสนุนประการแรกที่ทำให้มนุษย์เกิดความไม่รู้คือภาวะที่จิตใจว้าวุ่นไม่อยู่กับเนื้อกับตัว (distraction) แม้งานศึกษาจำนวนไม่น้อยจะออกมาชี้แจงว่าสมองของมนุษย์ถูกออกแบบมาให้ 'ใจลอย' (mind wandering) ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ทว่านักวิจัยไม่สามารถปฏิเสธว่าสภาพแวดล้อมดิจิทัลมีผลรบกวนให้มนุษย์เสียสมาธิเช่นเดียวกัน 

บทความในเว็บไซต์โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดระบุว่า สมาร์ตโฟนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้คือปัจจัยหนึ่งในการยับยั้งสมาธิจดจ่อของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฟีเจอร์แจ้งเตือน (notification) ต่างๆ แม้จะไม่ได้หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเช็กการแจ้งเตือนนั้น แต่สมองมนุษย์ถูกรบกวนตั้งแต่วินาทีที่ได้ยินเสียงหรือรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนแล้ว 

วิจัยเมื่อปี 2561 ของบริษัทเทคโนโลยีอซูเรียน พบว่า ชาวอเมริกันเช็กโทรศัพท์ราว 80 ครั้ง/วัน ขณะที่สถิติสูงสุดที่ผู้ใช้งานเช็กโทรศัพท์ตัวเองสูงถึง 300 ครั้ง/วัน  

ไม่เพียงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะเป็นชนวนสำคัญในการรบกวนสมาธิมนุษย์ เนื้อหาและข้อมูลต่างๆ ที่ถาโถมอยู่ในสังคมออนไลน์ยังมีผลรบกวนการรับสารที่มีประโยชน์ของผู้คนเช่นเดียวกัน 

ทิม ชี้ว่า สิ่งที่ผู้คนทั่วไปมองว่าเป็นการ 'เสพข่าว' และเสียเวลาให้กับกิจกรรมดังกล่าวเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน แท้จริงแล้วเป็นเพียงข้อมูลก่อกวนที่ไม่ทำให้เกิดการเรียนรู้อันมีประโยชน์และช่วยตอบคำถามสำคัญที่อาจส่งผลต่อคุณภาพการใช้ชีวิต อาทิ ผลงานของรัฐบาลปัจจุบันในการบริหารประเทศมีประสิทธิภาพมากพอหรือเหมาะสมกับการลงคะแนนเลือกในการเลือกตั้งครั้งถัดไปหรือไม่ 

ซ้ำร้าย ยูวัล โนอาห์ แฮรารี (Yuval Noah Harari) นักเขียนชาวยิวผู้แต่งหนังสือชื่อดังอย่าง เซเปียนส์, โฮโมดีอุส และ 21 บทเรียนสำหรับศตวรรษที่ 21 ยังเคยกล่าวในงาน Talks at Google ปี 2561 ซึ่งมีใจความตอนหนึ่งระบุว่า รูปแบบการทำธุรกิจสื่อปัจจุบันกำลังสร้างความเสี่ยงให้กับประชาชน เนื่องจากเม็ดเงินหลักมาจากการได้ 'ปฏิสัมพันธ์' หรือ engagement ซึ่งไม่ได้แปรผันตาม 'คุณภาพข่าว' หรือหมายความว่า ข่าวที่เรียกความสนใจของผู้คนไม่ใช่ข่าวที่มีคุณภาพดี


เผ่าพันธุ์การเมือง 

องค์ประกอบที่สองซึ่งมีผลต่อการหว่านเม็ดพันธุ์แห่งความไม่รู้ในสังคมคือภาวะแบ่งฝักแบ่งฝ่ายซึ่งทิมใช้คำว่า 'การเลือกเผ่าพันธุ์ทางการเมือง' หรือ political tribalism 

ย้อนกลับไปช่วงปี 2561 นิตยสาร The Atlantic นำเสนอประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการตอบคำถามว่า 'ประชาธิปไตยกำลังตายจริงหรือไม่' โดยมีการวิเคราะห์ถึงภาวะการเลือกเผ่าพันธุ์ทางการเมืองเช่นเดียวกัน 

จอร์จ ฟลอยด์ - รอยเตอร์ส
  • ภาพจากการประท้วงภายใต้ประเด็น Black Lives Matter (ชีวิตคนดำมีค่า)

ในตอนหนึ่งของบทความระบุว่า ผู้คนมักมองว่าเมื่อเลือกใช้คำว่า 'เผ่าพันธุ์' ต้องเชื่อมโยงกับประเด็นทางเชื้อชาติ ศาสนา หรือชาติพันธุ์เป็นหลัก อย่างไรก็ดีความจงรักภักดีทางการเมืองที่แบ่งฝ่ายอย่างชัดเจนนับเป็นการเลือกเผ่าพันธุ์ทางการอย่างหนึ่งเช่นกัน ทั้งยังเสริมว่า ภาวะเช่นนี้คืออันตรายร้ายแรงที่อยู่คู่กับประชาธิปไตยมาตั้งแต่อดีต 

บทความอ้างอิงงานเขียนของ จอห์น อดัมส์ บิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกาและประธานาธิบดีคนที่ 2 ของประเทศ เคยเขียนไว้ว่า ปีศาจทางการเมืองที่ร้ายแรงที่สุดภายใต้ระบอบประชาะปไตยคือการถือกำเนินของ "2 พรรคการเมืองยิ่งใหญ่" ที่ถูกปกครองด้วยผู้นำของแต่ละฝั่งและตั้งท่าต่อต้านดันอย่างชัดเจน 

นอกจากนี้ บทความของหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2387 หรือ 144 ปีที่แล้วที่พูดถึง 'พลังอำนาจของความไม่รู้' ยังเป็นตัวสะท้อนอย่างชัดเจนว่าประเด็นความไม่รู้นี้อยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่อดีต

เมื่อกลับมาที่งานเขียนของทิม เขาชี้ว่า ภาวะแบ่งเผ่าพันธุ์เช่นนี้ไม่เพียงมีอิทธิพลต่อแนวความคิดทางการเมือง แต่ยังลามไปถึงแนวความคิดต่อ 'ความจริง' เช่นเดียวกัน อาทิ กรณีคำถามว่ามนุษย์เป็นตัวการสำคัญให้เกิดภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงใช่หรือไม่ ซึ่งตามหลักฐานทางวิยาศาสตร์แล้ว คำตอบของคำถามดังกล่าวไม่ควรจะกลายเป็นเครื่องชี้วัดจุดยืนทางการเมืองแต่ปัจจุบันกลับเป็นเช่นนั้น 

ทิมระบุว่า ขณะที่การรบกวนสมาธิทำให้ผู้คนหลงไปจากเนื้อหาที่สำคัญจริงๆ การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองทำให้หลายคนเลือกปฏิเสธการยอมรับต่อหลักฐานความจริงใดๆ ที่จะทำให้พรรคพวกตัวเอง 'ดูไม่ดี'

รอยเตอร์ส - ข่าวปลอม

เมื่อผสานรวม 2 องค์ประกอบข้างต้น พร้อมเพิ่ม 'ผงชูรส' อย่าง 'ทฤษฎีสมคบคิด' เราจะได้องค์ประกอบสุดท้ายที่กระตุ้นให้ปัจจุบันกลายเป็นยุคสมัยแห่งความไม่รู้

สิ่งที่เหล่านักทฤษฎีสมคบคิดสร้างขึ้นมาท้ายที่สุดแล้วอาจกลายเป็น 'ข่าวปลอม' หรือ 'ข่าวเท็จ' ซึ่งยิ่งไปบั่นทอนการได้รับสารหรือข้อมูลที่มีคุณค่าและถูกต้องของผู้คน เพื่อช่วยในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ สอดคล้องกับบทความของ 'วอยซ์' ที่พบความเชื่อมโยงในการใช้ 'หน่วยข่าวปลอม' เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับรัฐบาลที่ต้องการรักษาอำนาจของตัวเอง

ในช่วงท้ายของบทความนี้ ทิมชี้ว่า การจะแก้ปัญหา 'ความไม่รู้' ไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่เรื่องใหม่ เขาแนะนำว่าแทนที่จะเอา 'ความจริง' ขึ้นมาเป็นตัวชี้เป็นชี้ตาย ให้เริ่มจากกระบวนการที่ละมุนละม่อมลงมาอย่างการหันกลับมาดูจุดอ่อนของตัวเองแทน เพราะ "เราทุกคนถูกรบกวนสมาธิ เราทุกคนแบ่งเผ่าพันธุ์เช่นเดียวกัน หากไม่ใช่ประเด็นการเมืองก็เป็นประเด็นทางสังคม เราทุกคนจึงเสี่ยงไม่ต่างกันที่จะปฏิเสธข้อเท็จจริง" 

อ้างอิง; FT(1), FT(2), BBC. NYT, The Atlantic, Wired

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;