คณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์เรื่อง จุดยืนคณะกรรมการนิสิตฯ ต่อการทำงานของสื่อมวลชน โดยระบุว่า จากสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน ที่ปรากฏการชุมนุมทางการเมืองเพื่อยื่นข้อเรียกร้อง 3 ประการต่อคณะรัฐบาล อันได้แก่การเรียกร้องให้หยุดคุกคามผู้เห็นต่างทางการเมือง ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 และยุบสภาผู้แทนราษฎร จนนำไปสู่การออกหมายเรียก หมายจับ ตลอดจนการติดตามแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม รวมไปถึงการคุกคามผู้แสดงออกทางการเมือง ดังที่เป็นกรณีวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมปัจจุบัน
คณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความกังวลต่อการตอบโต้ของรัฐบาลต่อประชาชนและแกนนำที่เข้าร่วมการชุมนุม เนื่องจากการชุมนุมสาธารณะนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอันพึงจะมีของพลเมืองในการปกครองระบอบประชาธิปไตย และเป็นกลไกที่จะสามารถเปิดโอกาสให้ผู้มีความเห็นต่างจากรัฐบาลที่บริหารราชการแผ่นดิน ได้แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปในฐานะประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย รัฐบาลในฐานะที่เป็นผู้รับมอบอำนาจจากประชาชนผ่านระบบสภาผู้แทนราษฎรจึงจำเป็นที่จะต้องเคารพความคิดเห็นทุกด้านและสิทธิเสรีภาพเหล่านี้ไว้ มิใช่การมองผู้ที่แสดงออกทางการเมืองเป็นปัญหา จนนำไปสู่การปิดกั้น คุกคาม และปราบปรามผู้ชุมนุมเหมือนที่เคยเป็นมา
มากไปกว่านั้น คณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังมีความกังวลต่อการทำงานของสื่อมวลชนในปัจจุบัน ท่ามกลางการเกิดการชุมนุมและมีผู้เห็นต่างทางการเมืองถูกคุกคามจากรัฐที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยคณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเสนอให้รัฐบาล นักสื่อสารมวลชนทุกแขนงและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการดังนี้
1. รัฐบาลต้องหยุดคุกคามสื่อมวลชน โดยเปิดให้สื่อมวลชนทุกแขนงได้นำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ลดการบังคับใช้กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อซึ่งก็คือเสรีภาพของประชาชน เพื่อให้การนำเสนอข่าวสารเป็นไปอย่างอิสระ ตามครรลองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
2. สื่อมวลชนต้องดำเนินการนำเสนอข้อมูลข่าวสารตามหลักจริยธรรมสื่อ คือการนำเสนอข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ไม่เข้าข้างฝ่ายใดหรือตกอยู่ในอิทธิพล การแทรกแซงใด ๆ ทางการเมือง กลุ่มทุน และกลุ่มกดดันทางสังคม ตลอดจนรายงานสถานการณ์อย่างเป็นภววิสัย ให้มีแหล่งข่าวรอบด้าน สมดุล นำเสนอข้อมูลที่ถูดต้องและผ่านการตรวจสอบอย่างชัดเจนแล้ว ปราศจากอคติรวมไปถึงไม่สอดแทรกความคิดเห็นลงไปในการรายงานข่าว
3. ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำกับดูแลและดำเนินการปฏิรูปสื่อโดยปราศจากการครอบงำ รวมไปถึงตรวจสอบการรายงานข่าวของสื่อมวลชนให้ไม่มีข่าวปลอม (Fake News) หรือประทุษวาจา (Hate Speech) เกิดขึ้นในเนื้อหา เพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงจุดยืนในการผลักดันข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล นักสื่อสารมวลชนทุกแขนงและองค์กรที่เกี่ยวข้องดัง 3 ประการข้างต้น ให้เกิดขึ้นจริงเพื่อสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ สื่อมวลชนได้ทำหน้าที่ตามหลักจริยธรรมและนำเสนอข้อมูลอย่างไม่ถูกปิดกั้น ตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :