ไม่พบผลการค้นหา
'ชัยธวัช' ไม่หวั่นความเห็น 'ส.ว.-นักวิชาการ' ชี้ปมหุ้นสื่อส่อทำ 'พิธา' ขาดคุณสมบัติ มองเรื่องสำคัญต้องเจรจาทำลายกำแพง ส.ว. ชี้ 'ทักษิณ' กลับบ้าน ก.ค. นี้ เป็นสิทธิส่วนตัว มองไม่เกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษกรรมที่ 'ก้าวไกล' ชงเข้าสภาฯ

วันที่ 5 มิ.ย. ที่พรรคก้าวไกล ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า วันนี้เดินทางมาร่วมประชุมภายในพรรค ซึ่งมีการประชุมทุกวันจันทร์ ไม่ได้มีอะไรพิเศษ เป็นวันที่แกนนำพรรคและคณะก้าวหน้าเข้ามาประชุมอยู่แล้ว 

ชัยธวัช กล่าวถึงกรณี สมชาย แสวงการ ส.ว. ระบุว่ากรณีหุ้นสื่อของ พิธา อาจขัดรัฐธรรมนูญถึง 4 มาตรา ทำให้ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดย ชัยธวัช ยืนยันว่า เรื่องคดีไอทีวียังมั่นใจเหมือนเดิมว่าจะสามารถชี้แจงและต่อสู้ได้ เหลือแค่รอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าจะประสานงานมาทาง พิธา และพรรคก้าวไกลเมื่อไหร่ ขณะที่ฝ่ายกฎหมายมองว่า ไม่เข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ ตามที่ สมชาย กล่าวอ้าง เพราะเป็นรายละเอียดที่เตรียมต่อสู้ทางคดีอยู่แล้ว 

เมื่อถามถึงกรณีที่ คมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่าหากศาลตัดสิทธิ์ พิธา จะทำให้การรับรอง ส.ส.ของ พิธา ขาดไปด้วย และอาจจะมีปัญหาในเรื่องของการส่งผู้สมัครครั้งที่แล้ว เพราะข้อบังคับของพรรคก้าวไกลเขียนไว้ว่า คนที่จะมีคุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรคต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งมีเรื่องของการถือหุ้นอยู่แล้ว กังวลเรื่องนี้หรือไม่ 

ชัยธวัช กล่าวว่า คงไม่ไปไกลถึงขนาดนั้น เพราะต้องพิจารณาก่อนว่า พิธา มีความผิดหรือไม่ ซึ่งยังยืนยันว่า พิธา ไม่ได้มีความผิด และยืนยันว่าข้อบังคับพรรคเขียนไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เมื่อถามต่อว่า หากมีปัญหาตรงจุดนั้น ตำแหน่งหัวหน้าพรรคของ พิธา ก็จะมีปัญหาตามไปด้วยหรือไม่ ชัยธวัช กล่าวว่า คิดว่าเป็นการตีความที่ไปไกลเกินไป 

"ตอนนี้เรื่องสำคัญที่สุดคือการทำความเข้าใจกับ ส.ว. เพราะอย่างไรก็ตาม เรื่องคดีถือหุ้นสื่อต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึ่ง ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นก่อนคือการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และจะพยายามประสานงานกับ ส.ว. ซี่งขณะนี้มีความคืบหน้าแล้ว ส่วนใหญ่ก็เหมือนเดิมอย่างที่เคยชี้แจงไปว่า เมื่อได้มีการพูดคุยกันแล้ว กำแพงที่มีอยู่ก็จะลดลง"

เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่า มีการเทขายหรือโอนหุ้นไปก่อนแล้ว จริงหรือไม่ ชัยธวัช กล่าวว่า ต้องดูรายละเอียด แต่จริงๆ แล้ว การตีความกฎหมาย บรรทัดฐาน และมาตรฐานการวินิจฉัย มีหลายกรณีที่สามารถเทียบเคียงได้ ไม่น่าจะมีอะไร

เมื่อถึงกรณี แพทองธาร ชินวัตร แคนเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยืนยันจะกลับประเทศไทยภายในเดือน ก.ค. นี้ ในส่วนของพรรคก้าวไกล มีความเห็นอย่างไร

ชัยธวัช ระบุว่า เป็นเรื่องส่วนตัวของ ทักษิณ ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งเข้าใจว่าหากกลับมา ก็มีกระบวนการทางกฎหมายรองรับอยู่ เป็นสิทธิ์ของทุกคนที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม 

ผู้สื่อข่าวถามว่า กฎหมายนิรโทษกรรมที่พรรคก้าวไกล จะเสนอเข้าที่ประชุมสภาฯ หากได้เป็นรัฐบาล ถ้า ทักษิณ กลับมาจะเข้าหลักเกณฑ์หรือไม่ ชัยธวัช กล่าวว่า น่าจะเป็นคนละส่วนกัน ข้อเสนอนิรโทษกรรมจะเกี่ยวข้องกับคนที่มีคดีทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมืองที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง แต่ไม่รวมถึงคดีอื่นๆ เช่น การทุจริต ความผิดต่อการทำร้าย ที่มีผลต่อชีวิตและร่างกายของประชาชน แต่เป้าหมายคือเพื่อลดความขัดแย้ง เข้าสู่การสร้างความสมานฉันท์

เมื่อถามกระแสข่าวการรับรอง ส.ส.ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อาจต้องมีการเลือกตั้งใหม่ทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อกว่า 20 คน มีความกังวลว่าจะกระทบกับสัดส่วนตัวเลข ส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาล เช่น พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย หรือไม่ โดยระบุว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้กังวล ในส่วนของพรรคอื่นไม่ได้มีการสอบถาม ซึ่งอาจจะมีการพูดคุยกันในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ ไม่ทราบว่ามี ส.ส.ของพรรคก้าวไกลตกหายหรือไม่ แต่เบื้องต้นคิดว่าไม่น่าจะมี 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากรายงานข่าวเป็นจริง กังวลว่าจะมีผลกระทบต่อฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ เช่น ทำให้ต้องหาเสียงเหนื่อยขึ้น หรือการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ชัยธวัช กล่าวว่า การโหวตเลือกนายกฯ กระทบแน่นอน ซึ่งตนคิดไว้ล่วงหน้าแล้ว หาก กกต.รับรอง ส.ส.ไม่ครบ ในวันโหวตนายกฯ ก็ต้องคิดฐานคะแนนของพรรคร่วมรัฐบาลชุดใหม่ให้น้อยลงกว่าเดิม 

แต่ในช่วงกลางเดือน มิ.ย. น่าจะมีข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น เมื่อถามย้ำว่า จะกระทบกับอำนาจต่อรองของพรรคก้าวไกล ด้วยหรือไม่ ชัยธวัช กล่าวว่า คงไม่มีผล พรรคก้าวไกลมั่นใจว่าว่าที่ ส.ส.ของพรรค ชนะการเลือกตั้งด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม จึงไม่ได้กังวลเรื่องนี้ แต่ในภาพรวมคงต้องเตรียมการไว้ หากจำนวน ส.ส.ซีกรัฐบาลมีจำนวนลดลงในวันโหวตเลือกนายกฯ 

เมื่อถามว่า จะทำให้งานหนักขึ้น โดยเฉพาะการไปคุยกับ ส.ว.หรือไม่ ชัยธวัช กล่าวว่า ถูกต้อง เพราะเลี่ยงไม่ได้ว่าการเลือกนายกฯ ต้องใช้เสียง ส.ว.มากขึ้น เป็นเรื่องที่ว่ากันไปตามระบบ เมื่อถามต่อว่า ถ้าปัจจัยนี้เข้ามาเกี่ยวข้อง จำเป็นที่จะต้องอาศัยเสียง ส.ส.จากพรรคที่ไม่ได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วยหรือไม่ 

ชัยธวัช กล่าวว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีที่เราจะออกจากความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา หาก ส.ส.จากพรรคที่ไม่ได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลยินดีที่จะโหวตให้กับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดนนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล เพื่อทำให้การเมืองไม่เดินไปสู่ทางตัน เพื่อรักษาระบบและเจตจำนงค์ของประชาชนไว้ แต่ทางพรรคก้าวไกลเองคงไม่เหมาะสมที่จะไปแสดงความคิดเห็น เป็นการตัดสินใจของแต่ละพรรค หรือของ ส.ส.แต่ละบุคคล 

เมื่อถามย้ำว่า จะไม่มีการเจรจากับทาง ส.ส.เพิ่มเลยใช่หรือไม่ ชัยธวัช กล่าวว่า ณ วันนี้ยังไม่มี แต่คิดว่า ก็มีความเป็นไปได้ อาจจะไม่ได้เป็นในนามพรรค แต่เป็นรายบุคคล