วันที่ 8 ส.ค. ที่พรรคพลังประชารัฐ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีที่ พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทยจับมือตั้งรัฐบาลว่า พรรคพลังประชารัฐยังคงดูท่าทีอยู่นิ่งๆ ตามแนวทางของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ส่วนจะมีโอกาสเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่นั้น ก็อยู่ที่พรรคเพื่อไทยติดต่อมา แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อมา และยังไม่ทราบว่า มีพรรคอื่นๆ อีกหรือไม่ แต่เชื่อว่า พรรคเพื่อไทยคงได้ประสานเบื้องต้นไปแล้วบ้าง
ธรรมนัส ยังกล่าวอีกว่า จำนวนเสียงของพรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย รวมกันได้ 212 เสียงนั้น ไม่อาจใช้คำว่า เป็นการวัดพลังเพื่องัดข้อขอตำแหน่งรัฐมนตรีกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะไม่เคยได้ยินในทำนองนั้น รวมถึงพรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย ไม่ได้มีสัญญาใจร่วมรัฐบาลต่อกัน เพราะเป็นเรื่องของเอกภาพของแต่ละพรรค ส่วนการร่วมรัฐบาลนั้นจะแยกตัวออกไปสนับสนุน หรือจะไปกันทั้งพรรคนั้น ยืนยันว่า พรรคพลังประชารัฐเป็นสถาบันทางการเมืองมีจุดยืนชัดเจนตามที่เคยประกาศไว้ทุกอย่าง
ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยประกาศว่าไม่มีทั้งสองลุงแน่นอน จึงตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีพรรคพลังประชารัฐบางส่วนไปร่วมด้วย ธรรมนัส กล่าวว่า พรรคเราจะทำอะไรต้องมีมติของคณะกรรมการบริหารพรรค และสส. เป็นเอกฉันท์ ในการกำหนดทิศทาง ไม่ใช่ว่า กลุ่มไหนคิดจะไปก็ไป แต่มองว่า “เรื่องลุง” ไม่ใช่สาระสำคัญ สาระสำคัญสำหรับพรรคพลังประชารัฐเป็นเรื่องของบ้านเมืองจะฝ่าวิกฤตไปอย่างไร โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องจัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด และเชื่อว่า สส. ทุกคนมีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกัน
“ในเวลานี้พรรคเพื่อไทยประกาศตั้งรัฐบาลสมานฉันท์ หากว่า ฟังไม่ผิด จึงเป็นที่ชัดเจนว่า เป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยจะต้องหาทางออกในเรื่องนี้อย่างไร และในฐานะที่พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคเสียงข้างน้อยก็ควรจะอยู่นิ่งๆ ตามมารยาท” ธรรมนัส กล่าว
ธรรมนัส ยืนยันอีกว่า โดยมารยาทแล้ว พล.อ.ประวิตร ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะเป็นพรรคเสียงข้างน้อย และหาก เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ไม่สามารถไปต่อได้ เพราะ สว. มีท่าทีไม่สนับสนุนอย่างเป็นเอกภาพ ก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะพรรคเพื่อไทยมีแคนดิเดตนายกฯ ถึง 3 คน รวมถึงย้ำว่า กรณีที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เลื่อนกลับไทยนั้น ไม่เกี่ยวกับการดีลพรรคพลังประชารัฐไม่ลงตัว มองว่า เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่อาจก้าวล่วง
ธรรมนัส กล่าวอีกว่า พรรคในขั้วรัฐบาลเดิม อาทิ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่มีการพูดคุยกันเรื่องจัดตั้งรัฐบาล เพราะเป็นเอกภาพของแต่ละพรรค เว้นแต่การประชุมสภาฯ ที่มีการบรรจุสาระสำคัญก็จะพูดคุยกันบ้าง