ไม่พบผลการค้นหา
รายงานตัวเลขฉบับใหม่เปิดเผยว่า ต้องมีการมอบงบประมาณ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 74.6 ล้านล้านบาท) ต่อปีก่อนปี 2572 เพื่อช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถลดเลิกการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

รายงานจากคณะกรรมการร่วมของรัฐบาลสหราชอาณาจักรและอียิปต์ ที่ถูกนำมาแสดงให้การประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศ COP27 เปิดเผยว่า เงินจำนวนดังกล่าว จะช่วยให้ประเทศยากจนสามารถเปลี่ยนจากการใช้พลังงานฟอสซิล เพื่อมาลงทุนในด้านพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ และใช้ไปกับการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบสุดขั้ว 

ตัวเลขจากรายงาน ซึ่งครอบคลุมความต้องการของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมดของโลก ยกเว้นจีน เปิดเผยว่า งบช่วยเหลือดังกล่าวมีสูงกว่าการเงินด้านการจัดการสภาพอากาศเดิม ที่ยังไม่ได้มีการมอบเพื่อการช่วยเหลือแก่ประเทศยากจน

“ประมาณครึ่งหนึ่งของการจัดหาเงินทุนที่จำเป็นนั้น สามารถคาดหวังได้อย่างสมเหตุสมผลว่าจะมีมาจากแหล่งในระดับท้องถิ่น จากการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับการเงินสาธารณะในประเทศและตลาดทุนในประเทศ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากแหล่งเงินทุนในท้องถิ่นจำนวนมาก ที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับชาติสามารถระดมได้” รายงานกล่าวถึงการจัดหารงบประมาณด้านสภาพอากาศเพื่อประเทศกำลังพัฒนา อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า การเงินที่มอบมาจากภายนอก เช่นเดียวกับธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับพหุภาคีอื่นๆ จะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญด้วย

นิโคลาส สเติร์น นักเศรษฐศาสตร์สภาพอากาศ ผู้เขียนบทวิจารณ์ชิ้นสำคัญในเรื่องเศรษฐศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อปี 2549 ซึ่งเป็นผู้เขียนหลักในรายงานฉบับนี้ กล่าวว่า “ประเทศที่ร่ำรวยควรตระหนักว่า มันเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวที่สำคัญของพวกเขา เช่นเดียวกับเรื่องของความยุติธรรม เนื่องจากผลกระทบรุนแรงที่เกิดจากการปล่อยมลพิษในปัจจุบันและในอดีตในระดับสูง เพื่อลงทุนในการดำเนินการด้านสภาพอากาศในตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา”

“การเจริญเติบโตส่วนใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและการบริโภค ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในทศวรรษหน้า จะอยู่ในตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา และหากพวกเขาพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและการปล่อยมลพิษ โลกจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตราย สร้างความเสียหาย และทำลายชีวิตและการดำรงชีวิตหลายพันล้านคนในประเทศที่ร่ำรวยและยากจนได้” สเติร์นระบุ

จากรายงานระบุว่า การมอบเงินทุนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำในประเทศยากจน จะช่วยยกระดับคนหลายพันล้านคนให้พ้นจากความยากจน การสร้างงาน และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

เงินจำนวนดังกล่าวยังจำเป็น เพื่อช่วยให้ประเทศยากจนปรับตัวเข้ากับผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และการป้องกันต่างๆ เช่น เขื่อนกั้นน้ำทะเล และระบบเตือนภัยล่วงหน้า สำหรับผลกระทบที่รุนแรงที่สุดจากการพังทลายของสภาพอากาศ ซึ่งประเทศต่างๆ ไม่สามารถปรับตัวได้ หรือที่รายงานฉบับนี้เรียกผลดังกล่าวว่าเป็น ความสูญเสียและความเสียหาย

เงินจำนวนดังกล่าวยังจะสามารถช่วยเหลือผู้ที่มีความเสี่ยง ซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และช่วยรักษาโครงสร้างทางสังคม ตลอดจนบริการต่างๆ เช่น บริการด้านสาธารณสุขและการศึกษา ของประเทศต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายจากสภาพอากาศที่รุนแรงจากภัยพิบัติต่างๆ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง พายุ และคลื่นความร้อน ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเลวร้ายลง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสภาพอากาศที่แปรปรวน

ความสูญเสียและความเสียหาย ป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกให้ความสำคัญเป็นหลัก ในการอภิปรายกันในการประชุมสุดยอด COP27 ในเมืองชาร์ม เอล-ชีค ของอียิปต์ ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อช่วงวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (6 พ.ย.) และจะดำเนินต่อไปเป็นเวลาอีก 2 สัปดาห์

ประเทศยากจนได้รับคำสัญญาตั้งแต่ปี 2552 ว่าภายในปี 2563 พวกตนจะได้รับเงินช่วยเหลืออย่างน้อย 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3.7 ล้านล้านบาท) ต่อปี เพื่อช่วยให้พวกตนลดการปล่อยมลพิษและรับมือกับผลกระทบของสภาพอากาศที่รุนแรง แต่เป้าหมายดังกล่าวล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า และดูเหมือนว่าไม่น่าจะสำเร็จจนถึงปีหน้า

สเติร์นระบุว่า “ด้วยแรงกดดันต่องบประมาณสาธารณะในทุกประเทศ บทบาทของธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับพหุภาคี รวมถึงธนาคารโลก จะมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการเพิ่มขนาดของการเงินภายนอกสำหรับตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา และทำให้ต้นทุนของเงินทุนลดลงสำหรับนักลงทุน กระแสการเงินจากสถาบันเหล่านี้ควรเพิ่มขึ้น 3 เท่าจาก 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท) ต่อปีในวันนี้ เป็นประมาณ 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 6.7 ล้านล้านบาท) ต่อปีภายใน 5 ปีข้างหน้า สิ่งนี้ต้องการทิศทางที่ชัดเจน และการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นของประเทศ และความเป็นผู้นำที่แท้จริงของสถาบันเหล่านี้”

ทั้งนี้ ธนาคารโลกตกอยู่ภายใต้การวิพากษ์วิจารณ์ที่เพิ่มมากขึ้น ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากความล้มเหลวในการจัดหาเงินทุนที่เพียงพอ สำหรับการกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ดี ธนาคารโลกจะเข้าร่วมการอภิปรายที่ COP27 ด้วย


ที่มา:

https://www.theguardian.com/environment/2022/nov/08/developing-countries-climate-crisis-funding-2030-report-nicholas-stern?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR05FaKAZhjHlLECgHMcg36cctRWU3UM6AJiI4-Qw-HILqISZNjGlf39Rxc